คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9197/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) กำหนดว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ประกอบการค้าที่จะเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบให้มีกำหนดอายุความ 2 ปี แต่กรณีระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามความในท้าย (1) ซึ่งหมายถึงกิจการระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นพ่อค้าไม้กับจำเลยซึ่งเป็นผู้นำไม้ที่ซื้อมาจากโจทก์ไปรับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าด้วยกัน สิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยดังกล่าวจึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (1) หากแต่อยู่ในบังคับอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ปี 2540 จำเลยซื้อไม้และสินค้าที่ประกอบจากไม้จากโจทก์รวม 13 ครั้ง เป็นเงิน 668,888 บาท โดยจำเลยชำระเงิน 100,000 บาท แก่โจทก์ในวันที่ 16 ธันวาคม ปีเดียวกัน และอีก 200,000 บาท ในวันที่ 17 เมษายน 2541 คงต้องชำระเงิน 368,888 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยเพิกเฉยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 เมษายน 2541 จนถึงวันฟ้อง 54,180 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 423,068 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราเดียวกันจากต้นเงิน 368,888 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยชำระค่าสินค้าหรือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ แต่บริษัทริมธารแก้ว จำกัด เคยมอบหมายให้จำเลยนำเช็คฉบับละ 100,000 บาท และ 200,000 บาท ไปชำระหนี้แก่โจทก์ในนามของบริษัทดังกล่าว โจทก์อ้างว่าจำเลยซื้อสินค้าตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน 2540 จนถึงวันที่ 30 ตุลาคม ปีเดียวกัน แต่มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดเวลา 2 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเคยประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างและเคยซื้อไม้แปรรูป วงกบประตูหน้าต่างจากโจทก์ ต่อมาภายหลังจำเลยไปทำงานเป็นผู้ควบคุมพนักงานก่อสร้างของบริษัทริมธารแก้ว จำกัด ที่จังหวัดนครราชสีมาและเป็นผู้แนะนำให้บริษัทดังกล่าวสั่งซื้อวงกบประตูหน้าต่างจากโจทก์ไปใช้ในโครงการวอเตอร์วีล พาร์ค วันที่ 9 มีนาคม 2542 โจทก์ให้ทนายความทวงถามให้บริษัทดังกล่าวชำระหนี้ที่มอบให้ตัวแทนสั่งซื้อวงกบประตูหน้าต่าง และบานประตูหน้าต่าง 1,149,694.89 บาท ตามเอกสารหมาย ล.1 และที่มอบให้จำเลยเป็นตัวแทนสั่งซื้อสินค้าประเภทเดียวกันอีก 473,164.59 บาท ตามเอกสารหมาย ล.6
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าสินค้าตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายทวีชัยผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นพยานเบิกความประกอบสำเนาใบส่งของชั่วคราว 16 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.2 ว่า จำเลยซื้อวงกบประตูหน้าต่างไม้แปรรูป เสากลึงรวมทั้งอุปกรณ์จำพวกบานพับไปจากโจทก์รวมเป็นเงิน 668,888 บาท ในช่วงวันที่ 22 เมษายน 2540 จนถึงวันที่ 27 ตุลาคม ปีเดียวกัน วันที่ 16 ตุลาคม 2540 จำเลยลงลายมือชื่อรับว่าเป็นหนี้ค่าสินค้าเหล่านั้นอยู่แก่โจทก์ 689,280 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม ปีเดียวกัน จำเลยนำเงินสด 100,000 บาท มาชำระหนี้แก่โจทก์ นอกจากนั้นยังชำระหนี้ด้วยเช็คของธนาคารไทยทนุ จำกัด (มหาชน) สาขาปทุมวัน อีก 200,000 บาท ในวันที่ 17 เมษายน 2541 ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 จำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ก่อนไปทำงานที่บริษัทริมธารแก้ว จำกัด จำเลยเคยรับเหมาก่อสร้างโดยซื้อวงกบประตูหน้าต่างรวมทั้งไม้แปรรูปจากโจทก์ด้วยเงินสด ไม่มีหนี้ค้างชำระ ต่อมาจึงแนะนำให้บริษัทดังกล่าวสั่งซื้อสินค้าจำพวกเดียวกันจากโจทก์เพื่อปลูกสร้างบ้านทั้ง 56 หลัง ในโครงการวอเตอร์วีล พาร์ค จำเลยมิใช่คู่สัญญากับโจทก์ตามฟ้อง เพียงแต่บริษัทดังกล่าวเคยมอบหมายให้จำเลยนำเช็คตามเอกสารหมาย ล.10 ไปชำระหนี้ 100,000 บาท แก่โจทก์แทน เช่นเดียวกับเช็คหมาย จ.3 ซึ่งเป็นการชำระหนี้ระหว่างบริษัทดังกล่าวกับโจทก์ มิใช่หนี้ของจำเลย จำเลยยอมลงชื่อในเอกสารหมาย จ.5 เพราะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์อ้างว่า เป็นการแจ้งยอดหนี้ค้างชำระแก่บริษัทดังกล่าว เห็นว่า แม้โจทก์และจำเลยจะนำสืบพยานบุคคลปากต่อปากยันกัน แต่เมื่อจำเลยตอบคำถามค้านรับข้อเท็จจริงว่า เอกสารหมาย ล.3 ซึ่งเป็นสำเนาภาพถ่ายของเอกสารหมาย จ.5 มีรายการตัวเลขที่ถูกต้อง เพียงแต่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มิได้กำชับให้จำเลยประทับตราวันที่ 16 ตุลาคม 2540 ไว้เช่นเดียวกับเอกสารหมาย จ.5 คำเบิกความของจำเลยจึงเจือสมคำพยานโจทก์ แม้รายการในเอกสารหมาย จ.5 (ล.3) จะไม่ตรงกับสำเนาใบส่งของชั่วคราวทั้ง 16 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.2 แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์และจำเลยทำนองเดียวกันว่าบางฉบับเป็นรายการสินค้าที่จำเลยสั่งซื้อในภายหลัง เมื่อศาลตรวจสอบแล้วฉบับที่ระบุวันที่ไว้ในเอกสารหมาย จ.5 ก็คำนวณยอกหนี้ได้ 627,808 บาท ตรงกันจึงไม่มีข้อพิรุธ ข้ออ้างของจำเลยที่ว่ายอมลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.5 เพราะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์บอกว่า เป็นการแจ้งยอดหนี้ที่ค้างชำระแก่บริษัทริมธารแก้ว จำกัด นั้น ไม่น่าเชื่อถือ เพราะข้อความในเอกสารระบุชัดเจนว่าเป็นหนี้ที่จำเลยค้างชำระอยู่แก่โจทก์ นอกจากนั้นจำเลยยังเบิกความยืนยันว่า ตนเป็นผู้เขียนตัวเลข 41,080 และโยงลูกศรจากรายการลำดับที่ 7 ลงด้านล่างของเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งเป็นสำเนาภาพถ่ายของเอกสารหมาย จ.5 เพราะโจทก์คิดเงินขาดไป ส่วนมุมล่างด้านขวาเป็นลายมือผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่เขียนว่ารับเช็ค 200,000 บาท และลงลายมือชื่อกำกับไว้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยใช้เวลาตรวจสอบรายละเอียดในเอกสารดังกล่าวแล้ว จึงยอมแก้ไขรายการที่โจทก์คิดเงินขาดไป 41,080 บาท ลงเป็นรายการหนี้ลำดับที่ 7 ด้วยลายมือตนเอง ซึ่งเมื่อรวมกับยอดหนี้เดิมในเอกสารหมาย ล.3 จำนวน 627,808 บาท แล้วเป็นเงิน 668,888 บาท ตรงตามฟ้องโจทก์ นอกจากนั้นยังทักท้วงให้ฝ่ายโจทก์ระบุการรับชำระหนี้ด้วยเช็ค 200,000 บาท ของจำเลยไว้ด้วย เป็นเครื่องยืนยันว่าจำเลยเป็นลูกหนี้รายนี้ เพราะหากเป็นหนี้ของบริษัทริมธารแก้ว จำกัด จำเลยซึ่งเป็นเพียงผู้ควบคุมการก่อสร้างคงไม่สามารถรับรู้และทักท้วงรายการหนี้สินค้างชำระได้เป็นแน่ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยยังคงเป็นหนี้ค่าสินค้าอยู่แก่โจทก์อีก 368,888 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ซึ่งโจทก์ขอคิดตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2541 ที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์และพิพากษายกฟ้องไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ไว้เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2540 ตามเอกสารหมาย จ.5 อายุความเรียกร้องสิทธิในมูลหนี้ระหว่างโจทก์จำเลยย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ แต่ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2540 ตามมาตรา 193/15 แม้มาตรา 193/34 (1) จะกำหนดว่าสิทธิเรียกร้องของผู้ประกอบการค้าที่จะเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบให้มีกำหนดอายุความ 2 ปี แต่กรณีระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามความในท้าย (1) ซึ่งหมายถึงกิจกรรมระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นพ่อค้าไม้กับจำเลย ซึ่งเป็นผู้นำไม้นั้นไปรับเหมาก่อสร้างซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าด้วยกันสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีต่อจำเลยดังกล่าวจึงไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (1) หากแต่อยู่ในบังคับอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 16 ตุลาคม 2545 เมื่อโจทก์ได้ฟ้องคดีในวันที่ 12 เมษายน 2543 จึงไม่ขาดอายุความ”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 368,888 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 เมษายน 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยที่คำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 54,180 บาท ตามที่โจทก์ขอ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท

Share