แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บริษัทโจทก์ที่ 5 เป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุนด้านทรัพย์สินและการเงินในกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 เท่านั้น โดยโจทก์ที่ 5 มิได้เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ประกอบกับการกระทำของจำเลยทั้งห้าตามคำฟ้องมีผลกระทบโดยตรงต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ต้องถูกปรับออกจากการเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้พาดพิงไปถึงโจทก์ที่ 5 อันจะถือว่าโจทก์ที่ 5 ได้รับความเสียหายโดยตรง สิทธิของโจทก์ที่ 5 มิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งห้า โจทก์ที่ 5 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมและไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 5
จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นผู้มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการทำรายงานการประชุมของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ได้จัดให้มีการทำบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นขึ้นตามหน้าที่ของตนและลงลายมือชื่อตนเองเป็นประธานที่ประชุม มิได้ทำในนามของบุคคลอื่น จึงเป็นเอกสารที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 แม้ข้อความในเอกสารจะไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีการประชุมดังกล่าว ก็เป็นการทำเอกสารอันเป็นความเท็จเท่านั้น ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการปลอมเอกสาร การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามมาตรา 264, 268
ย่อยาว
โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า โจทก์ที่ 5 และจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือและได้รับการสนับสนุนด้านทรัพย์สินจากโจทก์ที่ 5 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 ดำเนินคดีแทน จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2538 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันปลอมบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ครั้งที่ 1/2538 ซึ่งมีข้อความว่า วาระที่ 4 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกจากกรรมการ ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์รับรอง อันเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยที่ 1 ไม่เคยมีหนังสือเรียกประชุมผู้ถือหุ้นและไม่ได้จัดให้มีการประชุม จากนั้นจำเลยที่ 2 ถ่ายสำเนาบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าว โดยลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องเพื่อนำไปใช้ประกอบคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกจากกรรมการ วันที่ 23 พฤษภาคม 2538 เวลากลางวัน นายเกรียงไกร งานทวีและจำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 และฐานะส่วนตัวร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ในคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดและรายงานการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการของจำเลยที่ 1 ยื่นต่อนายยงยุทธ เกษตรสุนทร นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท ทำให้นายยงยุทธหลงเชื่อรับจดทะเบียนให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ออกจากกรรมการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเอกสารมหาชน อันเป็นการใช้เอกสารปลอม แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานทำให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เสียหาย
ระหว่างวันที่ 12 ถึงวันที่ 18 มีนาคม 2539 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกร่วมกันปลอมคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดและรายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งมีข้อความว่า โจทก์ที่ 3 และกรรมการอีก 2 คน ของจำเลยที่ 1 ออกจากตำแหน่ง โดยแต่งตั้งจำเลยที่ 4 และบุคคลอื่นเป็นกรรมการใหม่ และให้สำนักงานของจำเลยที่ 1 มี 2 แห่ง อันเป็นความเท็จ ต่อมาวันที่ 12 มีนาคม 2539 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 และฐานะส่วนตัวร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ในคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับรองว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทโดยเป็นตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2539 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2539 และครั้งที่ 2/2539 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2539 อันเป็นความเท็จความจริงไม่เคยมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าว โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดและรายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมต่อนายยงยุทธนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดภูเก็ต ทำให้นายยงยุทธหลงเชื่อรับจดทะเบียนให้โจทก์ที่ 3 ออกจากกรรมการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเอกสารมหาชน อันเป็นการใช้เอกสารปลอม แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน ทำให้โจทก์ที่ 3 เสียหาย
ระหว่างวันที่ 16 ถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวกร่วมกันปลอมสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 โดยอ้างการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2539 ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2539 ซึ่งมีข้อความว่า มีผู้ถือหุ้น 7 คน คือจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และบุคคลอื่น โดยไม่มีโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้น อันเป็นความเท็จ ความจริงโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นด้วยจากผู้ถือหุ้น 7 คน วันที่ 28 พฤษภาคม 2539 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 และที่ 4 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 และฐานะส่วนตัวร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ในสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ที่ทำปลอมดังกล่าวอ้างส่งต่อนายไกวัลย์ ปิยมโนธร นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดภูเก็ต โดยให้คำรับรองว่าเป็นรายการที่ถูกต้องตรงกับสมุดจดทะเบียนผู้ถือหุ้นทำให้นายไกวัลย์หลงเชื่อรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นและจำนวนหุ้น ซึ่งเป็นเอกสารมหาชน อันเป็นการใช้เอกสารปลอมแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน ทำให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 เสียหาย
ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม ถึงวันที่ 11 มิถุนายน 2540 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันปลอมบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2540 ซึ่งมีข้อความว่า โจทก์ที่ 4 กรรมการต้องออกตามวาระและแต่งตั้งจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการแทน อันเป็นความเท็จ ความจริงไม่มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นดังกล่าว จากนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับพวก ร่วมกันถ่ายสำเนารายงานการประชุมดังกล่าวโดยจำเลยที่ 2 และที่ 4 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 และฐานะส่วนตัวลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 รับรองสำเนาถูกต้องเพื่อนำไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการของจำเลยที่ 1 เมื่อประมาณวันที่ 28 พฤษภาคม 2540 เวลากลางวัน จำเลยที่ 2 และที่ 4 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 และฐานะส่วนตัวร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ในคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดและรายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมยื่นต่อนายวีระชัย ตันติวัฒนวัลลภ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัท ทำให้นายวีระชัยหลงเชื่อรับจดทะเบียนให้โจทก์ที่ 4 ออกจากกรรมการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็ฯเอกสารมหาชน อันเป็นการใช้เอกสารปลอม แจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน ทำให้โจทก์ที่ 4 เสียหาย
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในกิจการของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ร่วมกันทำหรือยินยอมให้กระทำการปลอมเอกสารด้วยการลงข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว เพื่อลวงให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ขาดประโยชน์การบริหารงานในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจ และประโยชน์อันพึงได้ของผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 137, 264, 267, 268 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามทางไต่สวนได้ความว่า โจทก์ที่ 5 และจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน ก่อนวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์ที่ 5 เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องหรือไม่ ได้ความตามคำฟ้องและคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ว่า โจทก์ที่ 5 เป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุนด้านทรัพย์สินและการเงินในกิจการของจำเลยที่ 1 เท่านั้น โดยโจทก์ที่ 5 มิได้เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ปรากฎว่าโจทก์ที่ 5 ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำความผิดตามคำฟ้องแต่อย่างใด ประกอบกับการกระทำของจำเลยทั้งห้าตามคำฟ้องมีผลกระทบโดยตรงต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ต้องถูกปรับออกจากการเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้พาดพิงไปถึงโจทก์ที่ 5 อันจะถือว่าโจทก์ที่ 5 ได้รับความเสียหายโดยตรง สิทธิของโจทก์ที่ 5 หากจะพึงมีพึงได้อย่างไรในฐานะผู้ให้การสนับสนุนด้านทรัพย์สินและการเงินก็คงมีอยู่ตามเดิม มิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งห้า โจทก์ที่ 5 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องและไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 5 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ว่า คดีมีมูลว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับความผิดข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268 นั้น ได้ความตามคำฟ้องและคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 2 ทำบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2538 ของจำเลยที่ 1 ระบุว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ลาออกจากตำแหน่งกรรมการและแต่งตั้งกรรมการใหม่แทน โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฐานะประธานที่ประชุมและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยลาออกจากการเป็นกรรมการและจำเลยที่ 1 ไม่เคยจัดประชุมตามรายงานการประชุมดังกล่าว วันที่ 12 มีนาคม 2539 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมกรรมการของจำเลยที่ 1 ระบุว่า โจทก์ที่ 3 ออกจากการเป็นกรรมการและแต่งตั้งกรรมการใหม่แทน โดยอ้างมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2539 และครั้งที่ 2/2539 ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงไม่เคยมีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นทั้งสองครั้งดังกล่าว วันที่ 28 พฤษภาคม 2539 จำเลยที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ใหม่ไม่มีชื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ถือหุ้นในบัญชีของรายชื่อผู้ถือหุ้นใหม่ โดยอ้างรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2539 ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงในวันดังกล่าวไม่มีการประชุมผู้ถือหุ้น โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่เคยจำหนายจ่ายโอนหุ้นให้แก่บุคคลอื่น และวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 จำเลยที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันทำรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2540 ระบุว่าโจทก์ที่ 4 ลาออกจากกรรมการของจำเลยที่ 1 และมีการแต่งตั้งกรรมการใหม่แทนโดยจำเลยที่ 2 เป็นประธานที่ประชุมและจำเลยที่ 5 เป็นผู้บันทึกรายงานการประชุม ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงในวันดังกล่าวไม่มีการประชุมผู้ถือหุ้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางไต่สวนของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นผู้มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการทำรายงานการประชุมของจำเลยที่ 1 การประชุมของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ได้จัดให้มีการทำบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2538 ครั้งที่ 1/2539 และครั้งที่ 1/2540 และรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2539 และครั้งที่ 2/2539 ขึ้นตามหน้าที่ของตนและลงลายมือชื่อตนเองเป็นประธานที่ประชุม มิได้ทำในนามของบุคคลอื่น ดังนั้น รายงานการประชุมดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 แม้ข้อความในเอกสารไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีการประชุมดังกล่าวก็ตาม ก็เป็นการทำเอกสารอันเป็นความเท็จเท่านั้น ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการปลอมเอกสาร การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดข้อหาร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 268 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องในข้อหาดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนความผิดข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 และข้อหาทำหรือยินยอมให้ทำเอกสารด้วยการลงข้อความอันเป็นเท็จเพื่อลวงให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องขาดประโยชน์อันควรได้ตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 นั้น……คดีของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 จึงมีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 และความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องสำหรับความผิดในส่วนนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ส่วนนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267 และพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 ไว้ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8.