แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 239 และ 240 มีเจตนารมณ์เพื่อจะจัดระเบียบและกำกับดูแลตลาดทุน ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อันเป็นมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม ความผิดทั้งสองฐานนี้จึงเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่จะดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด เอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเปิดบัญชีเพื่อการซื้อขายหลักทรัพย์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ไม่อาจเป็นโจทก์ร่วมได้ ก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกา จึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วม
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ได้ค่าตอบแทนจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายตามมูลค่าหลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดอาวุโส มีหน้าที่ดูแลให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่ผู้ลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหน้าที่การตลาดจึงเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้ลงทุนและใกล้ชิดข้อมูลของหลักทรัพย์ ต้องติดต่อและให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้ลงทุน คำปรึกษาและคำแนะนำดังกล่าวย่อมมีอิทธิพลต่อผู้ลงทุนที่จะตัดสินใจซื้อขายหรือไม่ซื้อขายหลักทรัพย์ใดในปริมาณเท่าใด ยิ่งผู้ลงทุนตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์มากย่อมทำให้มีมูลค่าการซื้อขายมาก ส่งผลให้จำเลยที่ 1 ได้ค่าตอบแทนมาก การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 จึงมีผลโดยตรงต่อกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงถือเป็นผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินกิจการของบริษัทหลักทรัพย์ตามบทบัญญัติมาตรา 239 การที่จำเลยที่ 2 พูดผ่านเครื่องขยายเสียงในสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1 ว่า ให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 ซื้อหุ้นเอฟและหุ้นอาร์เนื่องจาก ส. จะมาไล่ราคาให้สูงขึ้น ส่วนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการสำนักงานบริการด้านหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ก็เดินไปเดินมาทักทายแนะนำลูกค้าให้ซื้อหุ้นทั้งสองตัวดังกล่าวในลักษณะสนับสนุนคำพูดของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดฐานแพร่ข่าวเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใดๆ อันอาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่า หลักทรัพย์ใดจะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง ตามมาตรา 239
การที่บุคคลใดจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 239, 296 จะต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นเป็นบริษัทหลักทรัพย์ หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินกิจการของบริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือผู้มีส่วนได้เสียในหลักทรัพย์ และบุคคลนั้นต้องแพร่ข่าวเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด ๆ อันอาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์ใดจะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง และข้อเท็จจริงนั้นต้องมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้แจ้งไว้กับตลาดหลักทรัพย์แล้วด้วย ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของคำว่า “แพร่ข่าว” ไว้ หมายความว่า “กระจายข่าวออกไป” ซึ่งมีความหมายทำนองว่า เป็นการทำให้บุคคลโดยทั่วไปในวงกว้างที่ต่างๆ ได้ทราบข่าวนั้นในเวลาเดียวกัน การที่จำเลยที่ 2 พูดกับผู้เสียหายที่ 1 ต่อหน้าจำเลยที่ 3 ที่สำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1 ว่า วันนี้ให้ซื้อหุ้นเอฟและหุ้นอาร์ เนื่องจาก ส. จะมาไล่ราคาหุ้นทั้งสองตัวนี้ที่สำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 ราคาหุ้นก็จะสูงขึ้น แล้วให้เทขายหุ้นทั้งหมดในวันต่อมา โดยมีจำเลยที่ 3 พูดสนับสนุนให้ซื้อ ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าวมิใช่เป็นการกระจายข่าวออกไป ซึ่งจะทำให้บุคคลโดยทั่วไปในวงกว้างที่ต่างๆ ได้ทราบข่าวในเวลาเดียวกัน อันเป็นความหมายของการแพร่ข่าวที่เป็นองค์ประกอบความผิดในมาตรา 239
การที่จำเลยที่ 2 แพร่ข่าวดังกล่าวอย่างเปิดเผยด้วยเครื่องขยายเสียง โดยมีเจตนาที่จะให้ลูกค้าทุกคนที่อยู่ในสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1 และในงานเลี้ยงที่โรงแรมซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดในวันต่อมา ได้รับฟังการแพร่ข่าวอย่างชัดเจนทั่วถึง โดยมีกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ไปร่วมงานด้วย ถือว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำในนามของจำเลยที่ 1 เพราะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำตามหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ทั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมตกได้แก่จำเลยที่ 1 โดยตรง คดีจึงฟังว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 239, 240, 296
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายกิมชุน ผู้เสียหายที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 239, 296 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 5 กระทง จำคุกคนละ 5 ปี (ที่ถูก ข้อหาอื่นให้ยก) ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์ โจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 กระทำผิด 3 กระทง รวมจำคุก 3 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 กระทงอื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยที่ 2 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 และผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด จดทะเบียนที่สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครและได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 พระราชบัญญัติประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่การตลาดอาวุโส ส่วนการตลาด 4 ฝ่ายการตลาดในประเทศ และจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการสำนักงานบริการด้านหลักทรัพย์ศรีราชาของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2534 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิใช่กรรมการหรือผู้แทนของจำเลยที่ 1 โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 11 และที่ 13 เปิดบัญชีกับจำเลยที่ 1 สาขาศรีราชาเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์หรือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
สำหรับความผิดร่วมกันฐานแพร่ข่าวอันเป็นความเท็จให้เลื่องลือจนอาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์ใดจะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลงตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 240 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในข้อหาดังกล่าว ความผิดฐานนี้เป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า ผู้เสียหายที่ 1 มีอำนาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์คดีนี้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 239 และ 240 มีเจตนารมณ์เพื่อจัดระเบียบและกำกับดูแลตลาดทุน ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ อันเป็นมาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม ความผิดทั้งสองฐานนี้จึงเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่จะดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด เอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ผู้เสียหายที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในคดีนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้เสียหายที่ 1 เข้าร่วมเป็นโจทก์จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ไม่อาจเป็นโจทก์ร่วมได้ ก็ไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกา จึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ร่วม
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 239, 296 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 สำหรับข้อหาในกระทงที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวม 3 กระทง ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจหรือมีตำแหน่งบริหารของจำเลยที่ 1 และไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในหลักทรัพย์ จึงไม่ใช่บุคคลที่ต้องรับผิดตามมาตรา 239 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 นั้น ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ได้ค่าตอบแทนจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายที่คิดตามมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดอาวุโส มีหน้าที่ดูแลให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาแก่ผู้ลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าหน้าที่การตลาดจึงเป็นผู้ใกล้ชิดกับผู้ลงทุนและใกล้ชิดข้อมูลของหลักทรัพย์ ต้องติดต่อและให้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจแก่ผู้ลงทุนคำปรึกษาและคำแนะนำดังกล่าวย่อมมีอิทธิพลต่อผู้ลงทุนที่จะตัดสินใจซื้อขายหรือไม่ซื้อขายหลักทรัพย์ใดในปริมาณเท่าใด ยิ่งผู้ลงทุนตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์มากย่อมทำให้มีมูลค่าการซื้อขายมาก ส่งผลให้จำเลยที่ 1 ได้ค่าตอบแทนมาก การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 จึงมีผลโดยตรงต่อกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงถือเป็นผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินกิจการของบริษัทหลักทรัพย์ตามบทบัญญัติมาตรา 239 ที่จะต้องปฏิบัติงานโดยยึดมั่นในจรรยาบรรณ คำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้า ไม่ให้คำแนะนำหรือข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการลงทุน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 239, 296 สำหรับความผิดกระทงที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวม 3 กระทงแล้ว
ฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดกระทงที่ 4 ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2535 และกระทงที่ 5 ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่บุคคลใดจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 239, 296 จะต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นเป็นบริษัทหลักทรัพย์ หรือผู้ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินกิจการของบริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ หรือผู้มีส่วนได้เสียในหลักทรัพย์ และบุคคลนั้นต้องแพร่ข่าวเกี่ยวกับข้อเท็จจริงใด ๆ อันอาจทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าหลักทรัพย์ใดจะมีราคาสูงขึ้นหรือลดลง และข้อเท็จจริงนั้นต้องมิใช่ข้อเท็จจริงที่ได้แจ้งไว้กับตลาดหลักทรัพย์แล้วด้วย ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายของคำว่า “แพร่ข่าว” ไว้ หมายความว่า “กระจายข่าวออกไป” ซึ่งมีความหมายทำนองว่า เป็นการทำให้บุคคลโดยทั่วไปในวงกว้างที่ต่าง ๆ ได้ทราบข่าวนั้นในเวลาเดียวกัน การแพร่ข่าวตามมาตรา 239 ดังกล่าว จึงมิใช่เป็นเพียงการบอกกล่าวข้อความเท่านั้น คดีนี้โจทก์ฎีกาว่า ในวันที่ 10 และ 13 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 2 ได้พูดโทรศัพท์จากกรุงเทพมหานครมาที่สำนักงานสาขาศรีราชาของจำเลยที่ 1 โดยผ่านเครื่องขยายเสียงของสำนักงานเพื่อให้ลูกค้าของจำเลยที่ 1 ที่อยู่ในสำนักงาน สาขาศรีราชา ได้ยินโดยจำเลยที่ 2 พูดทำนองว่า หลักทรัพย์ที่ปรากฏในคำฟ้องจะมีราคาสูงขึ้น อันเป็นความผิดตามฟ้องแล้ว โจทก์มีโจทก์ร่วมเบิกความเป็นพยานเมื่อวันที่ 1 และ 12 กันยายน วันที่ 11 และ 21 พฤศจิกายน 2537 ว่า โจทก์ร่วมเปิดบัญชีกับจำเลยที่ 1 อีก 2 บัญชีในนามของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ร่วม โดยผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 มอบหมายให้โจทก์ร่วมซื้อขายหลักทรัพย์แทน แต่จำเลยที่ 2 รับปากกับโจทก์ร่วมว่าจะช่วยดูแลบัญชีของผู้เสียหายที่ 2 ให้แทน จำเลยที่ 2 มีอำนาจซื้อขายหลักทรัพย์ได้เลย สำนักงานสาขาศรีราชามีห้องค้าหลักทรัพย์อยู่ตั้งแต่ชั้น 2 ถึงชั้น 4 ในการซื้อขายหลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมจะไปซื้อขายที่ห้อง วี.ไอ.พี. ชั้น 4 ภายในห้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ลำโพงขยายเสียงติดตั้งอยู่สำหรับเวลามีคนให้ข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นต่างๆ การวิเคราะห์หุ้นจะวิเคราะห์หุ้นทั่วไปทุกตัว ไม่เจาะจงหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง โดยเสียงจากลำโพงที่มีอยู่ทุกชั้นจะได้ยินถึงชั้นล่าง โจทก์ร่วมจะเข้าไปที่สำนักงานสาขาศรีราชาอย่างสม่ำเสมอ ทุกครั้งที่ซื้อขายหุ้นก็จะอาศัยข้อมูลของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และข้อมูลที่ปรากฏในคอมพิวเตอร์ โจทก์ร่วมเคยได้ยินชื่อของจำเลยที่ 2 มาก่อนว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้วิเคราะห์หลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่สำนักงานใหญ่ และมีการถ่ายทอดเสียงของจำเลยที่ 2 มาที่ห้องค้าหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่สาขาศรีราชาให้ลูกค้าฟังด้วย ต่อมาจำเลยที่ 3 ได้พาโจทก์ร่วมไปเยี่ยมจำเลยที่ 2 ที่นอนป่วยที่โรงพยาบาลและแนะนำให้โจทก์ร่วมรู้จักเพื่อให้โจทก์ร่วมเล่นหุ้นได้กำไรมากขึ้น และโจทก์ร่วมได้ขอขยายวงเงินซื้อขายหลักทรัพย์ 3 บัญชี เป็นบัญชีละ 10,000,000 บาท ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2535 เวลาประมาณ 10 นาฬิกา โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 ได้ปรึกษากันว่าราคาหุ้นของบริษัทเฟิสท์ซิตี้ อินเวสเม้นท์ (มหาชน) (หุ้นเอฟ ซี ไอ หรือหุ้นฟ้าใส) และบริษัทรัตนการเคหะ จำกัด (หุ้นอาร์ อาร์) ที่โจทก์ร่วมกับพวกซื้อไว้มีราคาลดลงทุกวัน ต่างเกรงว่าจะถูกหลอก จึงตกลงกันว่าให้โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 2 โจทก์ร่วมกับพวกจึงพากันไปที่ห้อง วี.ไอ.พี. ที่ชั้น 4 ของสำนักงานสาขาศรีราชา และโทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ที่บริษัทจำเลยที่ 1 สำนักงานใหญ่ กรุงเทพมหานคร โดยผู้เสียหายที่ 8 เป็นคนพูดโทรศัพท์กับจำเลยที่ 2 ขณะพูดกันมีการนำเสียงพูดของคนทั้งสองผ่านเครื่องขยายเสียงในสำนักงานสาขา ทำให้โจทก์ร่วมกับพวกได้ยินการสนทนาด้วย ผู้เสียหายที่ 8 ได้ถามจำเลยที่ 2 ว่า ทำไมหุ้นจึงลดลงมาก จำเลยที่ 2 ก็บอกว่าไม่ต้องตกใจ เสี่ยสองหรือนายสอง กำลังเก็บของอยู่ ไม่ต้องขาย ราคานี้ยังซื้อเข้ามาได้ โจทก์ร่วมเข้าใจว่านายสองกำลังไล่ซื้อหุ้นทั้งสองตัวอยู่และราคาหุ้นจะขึ้นตามที่จำเลยที่ 2 บอก จำเลยที่ 2 ไม่ได้พูดว่านายสองจะมาปั่นหุ้น แต่โจทก์ร่วมเข้าใจว่าคำว่ามาไล่หุ้นก็คือมาปั่นหุ้น หมายถึงมาทำราคาหุ้นให้สูงขึ้น โจทก์ร่วมคิดว่าถ้านายสองซื้อหุ้นทั้งสองตัว ราคาหุ้นจะสูงขึ้น เพราะนายสองซื้อหุ้นตัวไหนก็จะมีราคาสูงขึ้น โจทก์ร่วมไม่รู้จักนายสองเป็นการส่วนตัว เพียงได้ยินแต่ชื่อ ก่อนเกิดเหตุมีการพูดคุยกันระหว่างผู้ซื้อหุ้นในห้องค้าหลักทรัพย์เกี่ยวกับเรื่องของนายสอง ทำให้มีการซื้อหุ้นตามนายสองด้วย ราคาหุ้นขึ้นลงขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ผลประกอบการและปริมาณการซื้อขาย ก่อนเกิดเหตุหากมีปริมาณการซื้อขายมากก็จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่านายสองซื้อหุ้นตัวนั้น และจำเลยที่ 2 เคยบอกว่านายสองจะมาซื้อหุ้นเอฟ ซี ไอ และหุ้นอาร์ อาร์ แต่ไม่ได้บอกว่าวันไหน โจทก์ร่วมรู้สึกสบายใจขึ้นมาบ้าง ในวันนั้นโจทก์ร่วมได้สั่งซื้อหุ้นเอฟ ซี ไอ เพิ่มเติมอีกจำนวน 10,000 หุ้น ผ่านบัญชีของโจทก์ร่วมที่ทำไว้กับบริษัทหลักทรัพย์อื่น ต่อมาในวันที่ 12 และ 13 พฤศจิกายน 2535 โจทก์ร่วมกับพวกที่เล่นหุ้นด้วยกันได้ไปที่สำนักงานสาขาศรีราชา ผู้เสียหายที่ 8 ได้โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ที่บริษัทจำเลยที่ 1 สำนักงานใหญ่และมีการนำเสียงพูดของคนทั้งสองผ่านเครื่องขยายเสียงในสำนักงาน โดยในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2535 โจทก์ร่วมเป็นคนพูดโทรศัพท์กับจำเลยที่ 2 เอง ส่วนในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 ผู้เสียหายที่ 8 เป็นคนพูดกับจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 2 ยังยืนยันว่าหุ้นเอฟ ซี ไอ และหุ้นอาร์ อาร์ จะมีราคาสูงขึ้น ให้เก็บหุ้นทั้งสองตัวเอาไว้ก่อน หลังจากนั้นราคาหุ้นทั้งสองตัวลดลงโดยตลอด จนหุ้นเอฟ ซี ไอ มีราคาต่ำสุดหุ้นละ 40 บาท และหุ้นอาร์ อาร์ มีราคาลดลงเหลือหุ้นละ 128 บาท จำเลยที่ 1 ได้บังคับขายหุ้นของโจทก์ร่วมเพื่อนำเงินมาชำระค่าหุ้น แต่โจทก์ร่วมยังคงค้างชำระเงินค่าหุ้นต่อจำเลยที่ 1 และโจทก์ร่วมยังได้เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2542 อีกว่า ในวันที่ 6, 7, 9, 10 และ 13 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 2 ได้พูดกับโจทก์ร่วมทุกครั้งว่าให้ซื้อหุ้นเอฟ ซี ไอ และหุ้นอาร์ อาร์ เพราะนายสองจะมาไล่ซื้อหุ้นดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีโจทก์ร่วมเบิกความเป็นพยานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ในกระทงที่ 4 และที่ 5 เพียงปากเดียว ไม่มีพยานบุคคลอื่นสนับสนุน โจทก์ร่วมเบิกความอ้างถึงว่า ผู้เสียหายที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 เป็นผู้ที่ได้รับทราบการแพร่ข่าวของจำเลยที่ 2 ในความผิดกระทงที่ 4 และที่ 5 ด้วย แต่กลับปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งสี่รวมทั้งพยานโจทก์ปากอื่นๆ ไม่ได้เบิกความถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ในทั้งสองกระทงนี้เลย ทั้งเมื่อพิจารณาคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 4 ที่ 7 ที่ 9 และที่ 12 กับคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 4 และที่ 7 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 10394/2536 ระหว่าง บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย จำกัด โจทก์ นายสุชัย จำเลย ของศาลชั้นต้นและคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 13 และที่ 11 ก็ไม่ได้ให้การและเบิกความถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ในทั้งสองกระทงนี้ด้วยแต่อย่างใด แม้โจทก์จะมีหนังสือแจ้งความร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมและผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 13 ที่ร้องทุกข์เกี่ยวกับการกระทำความผิดในคดีนี้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเป็นพยานสนับสนุนก็ตาม แต่ก็เป็นการแจ้งความเกี่ยวกับการกระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 6 ถึง 9 พฤศจิกายน 2535 อันเป็นความผิดในกระทงที่ 1 ถึงที่ 3 เท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงการกระทำความผิดในกระทงที่ 4 และที่ 5 ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2535 และ 13 พฤศจิกายน 2535 ด้วยเลย จากที่วินิจฉัยมาตามลำดับ พยานหลักฐานโจทก์จึงยังไม่อาจฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดในกระทงที่ 4 และที่ 5 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วยแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดกระทงที่ 4 และที่ 5 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้องทั้งห้ากระทงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 2 ได้พูดกับโจทก์ร่วมเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่นายสอง จะมาไล่ราคาหุ้นเอฟ ซี ไอ และหุ้นอาร์ อาร์ จำเลยที่ 3 ได้พูดสนับสนุนให้ซื้อหุ้นทั้งสองตัว ขณะจำเลยที่ 2 ได้พูดผ่านเครื่องขยายเสียง จำเลยที่ 3 ก็พูดกับบรรดาผู้เสียหายให้ซื้อหุ้นดังกล่าว และในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 แพร่ข่าวในงานเลี้ยงของจำเลยที่ 1 ให้ลูกค้าทราบด้วย ส่วนในวันที่ 10 และ 13 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการสาขาศรีราชาของจำเลยที่ 1 ได้ให้ลูกค้าพูดโทรศัพท์กับจำเลยที่ 2 และกระจายเสียงให้ลูกค้าคนอื่นๆ ที่อยู่ได้ทราบด้วย ทั้งที่นายสองมิใช่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการสาขาย่อมต้องทราบข้อมูลนี้ดี แต่ไม่พูดห้ามปรามลูกค้าว่านายสองไม่เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 และหุ้นทั้งสองตัวเป็นหุ้นไม่มีพื้นฐาน กลับสนับสนุนคำพูดของจำเลยที่ 2 ว่าน่าเชื่อถือ เห็นว่า ฎีกาของโจทก์มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดกระทงที่ 3 ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2535 ด้วย แม้โจทก์จะสรุปในตอนท้ายว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดตามฟ้องก็ตาม ถือได้ว่าฎีกาของโจทก์มิได้กล่าวถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 สำหรับความผิดกระทงที่ 3 ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2535 ไว้โดยชัดแจ้ง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คดีจึงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า จำเลยที่ 3 ไม่มีความผิดกระทงที่ 3 นอกจากนี้เมื่อคดีฟังว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้กระทำความผิดในกระทงที่ 4 และที่ 5 ในวันที่ 10 และ 13 พฤศจิกายน 2535 คดีจึงไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ในทั้งสองกระทงนี้ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับความผิดกระทงที่ 4 และที่ 5 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ส่วนความผิดของจำเลยที่ 3 ในกระทงที่ 1 และที่ 2 ในวันที่ 6 และ 7 พฤศจิกายน 2535 นั้น โจทก์มีโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายที่ 7 ที่ 8 ที่ 9 และที่ 10 เป็นพยาน โจทก์ร่วมเบิกความว่า ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 2 มาที่สำนักงานสาขาศรีราชาของจำเลยที่ 1 ได้พบกับโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 พูดกับโจทก์ร่วมต่อหน้าจำเลยที่ 3 ว่า ในวันนี้ให้ซื้อหุ้นเอฟ ซี ไอ และหุ้นอาร์ อาร์ เนื่องจากนายสองจะมาไล่ราคาหุ้นทั้งสองตัวนี้ที่สำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 ราคาหุ้นทั้งสองตัวก็จะสูงขึ้น แล้วให้เทขายหุ้นให้หมดในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2535 เพราะหลังจากวันที่ 12 พฤศจิกายน 2535 รัฐบาลก็จะจับนายสอง โจทก์ร่วมเคยได้ยินกิตติศัพท์ของนายสองว่าหากนายสองซื้อหุ้นตัวไหนแล้ว หุ้นตัวนั้นจะมีราคาสูงขึ้น จำเลยที่ 3 พูดสนับสนุนให้ซื้อหุ้นทั้งสองตัว และพูดอีกว่าเมื่อคืนนี้นายสองได้มาที่สำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 เห็นว่า ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมมิใช่เป็นการกระจายข่าวออกไป ซึ่งจะทำให้บุคคลโดยทั่วไปในวงกว้างที่ต่างๆ ได้ทราบข่าวนั้นในเวลาเดียวกัน อันเป็นความหมายของการแพร่ข่าวที่เป็นองค์ประกอบของความผิดในมาตรา 239 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 แต่เป็นเพียงการบอกกล่าวเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในส่วนนี้ไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว และโจทก์ร่วมเบิกความอีกว่า ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 เวลาหลังเที่ยง จำเลยที่ 3 ยังได้พูดผ่านเครื่องขยายเสียงให้ลูกค้าของจำเลยที่ 1 ที่อยู่ในสำนักงานสาขาศรีราชาได้ยินว่าจำเลยที่ 2 เป็นนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 พูดเป็นคนต่อมาว่าให้ลูกค้าซื้อหุ้นเอฟ ซี ไอ และหุ้นอาร์ อาร์ เพราะนายสองจะมาไล่หุ้นทั้งสองตัว หุ้นมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น ระหว่างนั้นจำเลยที่ 3 เดินไปเดินมาทักทายแนะนำลูกค้าว่าซื้อหรือยัง โจทก์ร่วมเข้าใจว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 เป็นการสนับสนุนคำพูดชักชวนของจำเลยที่ 2 ผู้เสียหายที่ 9 เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 9 เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 ผู้เสียหายที่ 9 ไปที่สำนักงานสาขาศรีราชา จำเลยที่ 2 ได้พูดผ่านไมโครโฟน แนะนำลูกค้าให้ซื้อหุ้นเอฟ ซี ไอ ราคาหุ้นจะสูงขึ้น เนื่องจากมีลูกค้ารายใหญ่หมายถึงนายสองกำลังไล่ราคาหุ้นตัวนี้ วันนั้นผู้เสียหายที่ 9 ตกลงซื้อ จำเลยที่ 3 ก็พูดแนะนำลูกค้าทั่วไปว่าหุ้นตัวนี้ซื้อได้ ราคาจะพุ่งขึ้นอีก เนื่องจากมีนายสองมาปั่นราคา หมายถึงเป็นการกระทำให้หุ้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และได้ความตามคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 9 ที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 ที่จำเลยที่ 2 พูดผ่านเครื่องขยายเสียงนั้น จำเลยที่ 3 ก็อยู่ในสำนักงานสาขาศรีราชาตลอดเวลา จำเลยที่ 3 ได้คุยกับลูกค้าในลักษณะสนับสนุนคำพูดของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 พูดกับผู้เสียหายที่ 9 ว่านายสองได้ไปเปิดบัญชีที่จำเลยที่ 1 ซื้อหุ้นเอฟ ซี ไอ ซึ่งในความหมายนั้นหมายความว่า นายสองจะมาไล่ราคา ให้ซื้อตาม ผู้เสียหายที่ 10 เบิกความว่า ผู้เสียหายที่ 10 มีอาชีพแพทย์ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 เวลาประมาณ 13 นาฬิกา ผู้เสียหายที่ 10 ไปที่สำนักงานสาขาศรีราชา เนื่องจากทราบจากพนักงานของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์หลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 มาจากสำนักงานใหญ่ ผู้เสียหายที่ 10 จึงไปที่สำนักงานสาขาศรีราชาเพื่อฟังจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 พูดโฆษณาชวนเชื่อผ่านเครื่องขยายเสียงว่า ให้ลูกค้าซื้อหุ้นเอฟ ซี ไอ และหุ้นอาร์ อาร์ เพราะนายสองจะมาซื้อหุ้นดังกล่าว นายสองจะมาไล่ราคาจากราคาหุ้นละ 150 บาท จะขึ้นไปเป็นหุ้นละ 200 บาท จำเลยที่ 3 ได้พูดสนับสนุนว่า จำเลยที่ 2 เป็นนักวิเคราะห์หุ้น คำพูดของจำเลยที่ 2 น่าเชื่อถือ ผู้เสียหายที่ 7 เบิกความว่า ผู้เสียหายที่ 7 รับราชการเป็นแพทย์ ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2535 ตอนเช้า จำเลยที่ 2 ได้พูดผ่านไมโครโฟนที่สำนักงานสาขาศรีราชาให้ลูกค้าของจำเลยที่ 1 ทราบว่าให้ลูกค้าเล่นหุ้นเอฟ ซี ไอ อย่าขาย เพราะราคาจะขึ้นถึงหุ้นละ 200 บาท ในคืนนั้นเป็นวันลอยกระทง จำเลยที่ 1 ได้จัดงานเลี้ยงประจำปีที่โรงแรมซิตี้ศรีราชา จำเลยที่ 2 ได้แนะนำหุ้นเอฟ ซี ไอ อีก และจำเลยที่ 2 ได้ตอบคำถามบนเวทีว่าให้ถือหุ้นดังกล่าวไว้ เพราะจะมีคนปั่นราคาหุ้นให้ถึง 200 บาท ต่อหุ้น ระหว่างจำเลยที่ 2 วิเคราะห์หุ้นนั้น จำเลยที่ 3 ที่ไปร่วมงานด้วย แต่ไม่เคยห้ามปราม และผู้เสียหายที่ 8 เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 8 เป็นแพทยประจำโรงพยาบาลสมเด็จ ณ ศรีราชา ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้จัดงานเลี้ยงประจำปีที่โรงแรมซิตี้ศรีราชา ผู้เสียหายที่ 8 และลูกค้าคนอื่นๆ รวมประมาณ 100 คน รวมทั้งจำเลยที่ 3 ไปร่วมงานด้วย จำเลยที่ 2 ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับหุ้นที่น่าซื้อว่าให้จับตาหุ้นเอฟ ซี ไอ เพราะมีข่าวดีจากวงในว่าให้ซื้อได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ลงจากเวที ผู้เสียหายที่ 8 กับพวกเข้าไปสอบถามว่าข่าวดีคืออะไร จำเลยที่ 2 ก็บอกว่าจะมีการทำราคาหุ้นดังกล่าวถึงหุ้นละ 200 บาท จำเลยที่ 2 บอกว่านายสองเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับจำเลยที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร และนายสองจะปั่นหุ้นให้สูงถึงหุ้นละ 200 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดในกระทงที่ 1 และที่ 2 เกิดขึ้นที่สำนักงานสาขาศรีราชาของจำเลยที่ 1 เฉพาะกระทงที่ 2 ยังเกิดเหตุเวลากลางคืนที่โรงแรมซิตี้ศรีราชาในงานเลี้ยงของจำเลยที่ 1 ด้วย ในฐานะที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการสาขา จำเลยที่ 3 มีอำนาจที่จะจัดการไม่ให้มีการถ่ายทอดเสียงของจำเลยที่ 2 ไปทั่วสำนักงานในวันที่ 6 และ 7 พฤศจิกายน 2535 ได้ แต่จำเลยที่ 3 ก็กลับไม่ได้ทำเช่นนั้น แม้ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2535 จะเป็นวันหยุดทำการของจำเลยที่ 1 แต่เมื่อผู้เสียหายที่ 7 เบิกความว่า ในวันดังกล่าวได้ไปฟังการพูดของจำเลยที่ 2 ที่สำนักงานสาขาศรีราชา แสดงว่าจำเลยที่ 3 ได้เปิดสำนักงานให้จำเลยที่ 2 พูดผ่านเครื่องขยายเสียงให้ลูกค้าฟังเป็นกรณีพิเศษ และการที่จำเลยที่ 1 จัดงานเลี้ยงในเวลากลางคืนของวันที่ 7 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาก็ต้องรับผิดชอบในเหตุที่เกิดขึ้นในงานด้วย เพราะเป็นการจัดงานในพื้นที่ที่สาขาศรีราชารับผิดชอบ เชื่อว่า จำเลยที่ 3 ย่อมทราบเป็นอย่างดีว่าจำเลยที่ 2 จะพูดอย่างใด รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับนายสองด้วย เนื่องจากจำเลยที่ 2 ได้พูดเรื่องดังกล่าวที่สำนักงานสาขาศรีราชาตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 มาแล้ว นอกจากนี้ขณะที่จำเลยที่ 2 พูดผ่านเครื่องขยายเสียง ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 เดินไปเดินมาทักทายแนะนำลูกค้าว่าซื้อหรือยัง หุ้นตัวนี้ซื้อได้ ราคาจะพุ่งขึ้นอีก เนื่องจากมีนายสองมาปั่นราคา การที่จำเลยที่ 3 พูดสนับสนุนว่าจำเลยที่ 2 เป็นนักวิเคราะห์หุ้น คำพูดของจำเลยที่ 2 น่าเชื่อถือก็ดี ตลอดจนการที่จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าหน้าที่ระดับผู้บริหารคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ก็ดี ล้วนเป็นพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 รู้เห็นเป็นใจ และมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำความผิดในวันที่ 6 และ 7 พฤศจิกายน 2535 พยานหลักฐานต่างๆ ที่วินิจฉัยตามลำดับประกอบกันโดยตลอดแล้ว ฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 2 กระทำผิดในความผิดกระทงที่ 1 และที่ 2 ในวันที่ 6 และ 7 พฤศจิกายน 2535 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
ฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดทั้งห้ากระทงตามฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำความผิดตามฟ้องที่สำนักงานสาขาศรีราชาของจำเลยที่ 1 โดยเปิดเผย เป็นการจัดการแสดงความเคลื่อนไหวของราคาและข้อมูลเกี่ยวกับหลักทรัพย์เพื่อให้บริการลูกค้า ซึ่งเป็นการดำเนินกิจการอย่างหนึ่ง ส่วนการกระทำความผิดในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2535 แม้เหตุเกิดขึ้นในงานเลี้ยงที่โรงแรมซิตี้ศรีราชา แต่เป็นงานเลี้ยงที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัด โดยปรากฏว่ามีกรรมการของจำเลยที่ 1 มาร่วมงานด้วย จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งการกระทำดังกล่าวจำเลยที่ 1 ก็ได้ประโยชน์จากการที่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 สั่งซื้อหลักทรัพย์ผ่านจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือว่าได้กระทำแทนจำเลยที่ 1 แล้ว เห็นว่า เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้กระทำความผิดในความผิดกระทงที่ 4 และที่ 5 ตามฟ้อง ถือว่าไม่มีกรรมการหรือพนักงานหรือเจ้าหน้าที่หรือผู้แทนของจำเลยที่ 1 คนใดกระทำความผิดในทั้งสองกระทงแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดในกระทงที่ 4 และที่ 5 แต่เมื่อคดีฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดในความผิดกระทงที่ 1 ถึงที่ 3 และจำเลยที่ 3 กระทำความผิดในความผิดกระทงที่ 1 และที่ 2 แล้ว คดีคงมีปัญหาในชั้นฎีกาเพียงว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในกระทงที่ 1 ถึงที่ 3 หรือไม่ ในปัญหานี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความผิดทั้งสามกระทงนี้เกิดขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าหน้าที่การตลาดอาวุโส ส่วนการตลาด 4 ฝ่ายการตลาดในประเทศของจำเลยที่ 1 ทั้งความผิดในวันที่ 6, 7 และ 9 พฤศจิกายน 2535 เกิดจากจำเลยที่ 2 พูดผ่านเครื่องขยายเสียงของสำนักงานสาขาศรีราชาให้ลูกค้าที่อยู่ในสำนักงานสาขาศรีราชาได้รับฟัง ถือว่าเหตุเกิดในสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1 โดยใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้สำนักงานของจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด ซึ่งจำเลยที่ 2 และที่ 3 แพร่ข่าวอย่างเปิดเผยด้วยเครื่องขยายเสียง โดยมีเจตนาที่จะให้ลูกค้าทุกคนที่อยู่ในสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 1 ได้รับฟังการแพร่ข่าวอย่างชัดเจนทั่วถึง มีการกระทำความผิดซ้ำหลายครั้งหลายวันอย่างต่อเนื่องแม้ในความผิดกระทงที่ 2 ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 2 พูดผ่านเครื่องขยายเสียงให้ลูกค้าของจำเลยที่ 1 ฟังในงานเลี้ยงที่โรงแรมซิตี้ศรีราชา มิได้เกิดขึ้นในสำนักงานของจำเลยที่ 1 ด้วยก็ตาม แต่เมื่องานเลี้ยงจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดขึ้น ถือว่าเหตุเกิดในงานเลี้ยงที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบ อีกทั้งยังปรากฏว่ากรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ไปร่วมงานด้วย แต่ก็ไม่ได้มีการห้ามปราม กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังกระทำผิดซ้ำอีกในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2535 ไม่น่าเชื่อว่ากรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จะไม่รู้เห็นถึงการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตลอดจนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ในความผิดกระทงที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ทั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมตกได้แก่จำเลยที่ 1 โดยตรง จึงต้องถือว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำในนามของจำเลยที่ 1 คดีจึงฟังว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 ในกระทงที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง เนื่องจากตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 296 ได้บัญญัติบทลงโทษของความผิดตามมาตรา 239 ไว้ว่า ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกินสองเท่าของผลประโยชน์ที่บุคคลนั้นๆ ได้รับไว้ หรือพึงจะได้รับเพราะการกระทำฝ่าฝืนดังกล่าว แต่ทั้งนี้ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล ศาลจึงลงโทษจำเลยที่ 1 ได้เพียงโทษปรับเท่านั้น คดีจึงจำเป็นต้องพิจารณาว่า ผลประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 ได้รับ หรือพึงจะได้รับเพราะการกระทำผิดทั้งสามกระทงมีเพียงใด ปัญหานี้โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าในวันที่ 6, 7 และ 9 พฤศจิกายน 2535 ที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด ลูกค้าของจำเลยที่ 1 สั่งซื้อและสั่งขายหุ้นอาร์ อาร์ ผ่านจำเลยที่ 1 มีจำนวนเท่าใด และผลประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 ได้รับไว้ หรือพึงจะได้รับเพราะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 มีเพียงใด ยังฟังไม่ได้ว่าผลประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 ได้รับไว้ หรือพึงจะได้รับในกรณีดังกล่าวมีจำนวนเพียงใดแน่ โจทก์คงมีแต่นายเสกสรร ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบ 2 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายที่ไม่เป็นธรรม เบิกความเป็นพยานว่า พยานได้ตรวจสอบข้อมูลการซื้อขายหุ้น เอฟ ซี ไอ ตามที่ลูกค้าของจำเลยที่ 1 สั่งซื้อและสั่งขายผ่านจำเลยที่ 1 สาขาศรีราชา ในระหว่างวันที่ 6 ถึง 13 พฤศจิกายน 2535 ปรากฏตามเอกสาร ความว่า ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้ทำรายการซื้อเป็นเงิน 7,520,000 บาท รายการขายเป็นเงิน 2,730,000 บาท รวมเป็นเงิน 10,250,000 บาท วันที่ 9 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้ทำรายการซื้อเป็นเงิน 19,440,000 บาท รายการขายเป็นเงิน 2,850,000 บาท รวมเป็นเงิน 22,290,000 บาท วันที่ 10 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้ทำรายการซื้อเป็นเงิน 18,130,000 บาท รายการขายเป็นเงิน 3,900,000 บาท รวมเป็นเงิน 22,030,000 บาท วันที่ 11 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้ทำรายการซื้อเป็นเงิน 8,290,000 บาท รายการขายเป็นเงิน 4,780,000 บาท รวมเป็นเงิน 13,070,000 บาท วันที่ 12 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้ทำรายการซื้อเป็นเงิน 15,090,000 บาท รายการขายเป็นเงิน 9,140,000 บาท รวมเป็นเงิน 24,230,000 บาท และวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้ทำรายการซื้อเป็นเงิน 5,840,000 บาท รายการขายเป็นเงิน 8,410,000 บาท รวมเป็นเงิน 14,250,000 บาท รวมมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหกวันเป็นเงินทั้งสิ้น 106,120,000 บาท และได้ความจากนายจีรวัฒน์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานของจำเลยที่ 1 ว่า ในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์นั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดให้บริษัทหลักทรัพย์มีสิทธิได้ผลตอบแทนจากการซื้อขายหลักทรัพย์แทนลูกค้า คิดเป็นค่าธรรมเนียมอัตราร้อยละ 0.5 ของยอดเงินซื้อขายหลักทรัพย์ ดังนั้นในการที่จำเลยที่ 1 ซื้อขายหลักทรัพย์เอฟ ซี ไอ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 จำนวนเงิน 10,250,000 บาท จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้ค่าธรรมเนียมหรือผลประโยชน์เป็นเงิน 51,250 บาท แต่โจทก์ก็ไม่สามารถนำสืบแยกให้ฟังได้ว่า ยอดมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์จำนวน 10,250,000 บาท และผลประโยชน์จำนวน 51,250 บาท เป็นผลจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 เป็นจำนวนเท่าใด และยอดมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์และผลประโยชน์ที่มิได้เป็นผลจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสาม กล่าวคือ ลูกค้าของจำเลยที่ 1 สาขาศรีราชา ได้ทำการซื้อขายหลักทรัพย์โดยมิได้เกิดจากการรับฟังการแพร่ข่าวของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นจำนวนเท่าใด เพราะกรณีเป็นไปได้ที่การซื้อขายหลักทรัพย์บางรายการลูกค้าอาจซื้อขายหลักทรัพย์โดยที่ไม่ได้ฟังการแพร่ข่าวของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในวันดังกล่าวก็ได้ เช่นเดียวกับยอดมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2535 จำนวนเงิน 22,290,000 บาท จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้ค่าธรรมเนียมหรือผลประโยชน์เป็นเงิน 111,450 บาท นั้น มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์และค่าธรรมเนียมหรือผลประโยชน์บางส่วนอาจเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามในวันที่ 6 หรือวันที่ 7 หรือวันที่ 9 พฤศจิกายน 2535 และบางส่วนลูกค้าทำการซื้อขายโดยไม่ได้ทราบการแพร่ข่าวของจำเลยทั้งสามก็ได้ แม้ว่ายอดมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2535 จะไม่มีปรากฏก็ตาม แต่ผลจากการกระทำผิดของจำเลยทั้งสามในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2535 อาจจะมีผลต่อการซื้อขายหลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ในวันที่ 9 ถึง 13 พฤศจิกายน 2535 ก็ได้ หาใช่ว่าการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามในวันใดแล้วจะต้องก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่จำเลยทั้งสามเฉพาะในวันที่กระทำความผิดเท่านั้นไม่ กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้ฟังได้อย่างชัดแจ้งว่า ผลประโยชน์ที่จำเลยที่ 1 ได้รับเพราะการกระทำความผิดในแต่ละกระทงมีเพียงใด แต่เชื่อว่าการกระทำความผิดในแต่ละกระทงย่อมก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตามเนื่องจากมาตรา 296 ได้กำหนดโทษปรับของการกระทำความผิดไว้ ให้ปรับเป็นเงินไม่น้อยกว่า 500,000 บาท ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรปรับจำเลยที่ 1 ทั้งสามกระทง กระทงละ 500,000 บาท ตามอัตราโทษขั้นต่ำดังกล่าว
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 239, 296 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษจำเลยที่ 1 รวม 3 กระทง ปรับกระทงละ 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,500,000 บาท ให้จำคุกจำเลยที่ 3 รวม 2 กระทง กระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้เสียหายที่ 1 กับยกอุทธรณ์และยกฎีกาโจทก์ร่วม โทษของจำเลยที่ 2 และนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2