แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์มิได้ฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมกัน คือ ส. และจำเลยทั้งสองเป็นจำเลยในคดีก็ตาม แต่ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเพื่อประสงค์ให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่บรรดาทายาท ซึ่งหากศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงย่อมตกทอดแก่โจทก์ ม. และ ส. ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับมรดกแทนที่โดยสิทธิตามกฎหมาย เพื่อนำมาแบ่งปันกัน หามีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่นซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีแต่ประการใดไม่ ทั้ง ม. ได้ถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดกแล้ว และก่อนฟ้องคดี ส. ก็ได้ถึงแก่ความตายแล้วเช่นกัน โดย ส. ไม่ได้แต่งงาน ไม่มีบุตร และโจทก์ไม่ได้ยื่นขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงนับเป็นเหตุที่ทำให้โจทก์ไม่สามารถฟ้อง ส. หรือทายาทของ ส. คนใดที่อาจได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาเข้ามาเป็นจำเลยในคดีได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าว โดยไม่จำต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมกันเข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วยแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 8487 และโฉนดเลขที่ 8498 ตำบลห้วยร่วม อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ และให้โจทก์ใช้สิทธิไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังยุติว่า นายเพชรและนางอินทร์ มีบุตร 3 คน คือ โจทก์ นายสมจิตร และนายสุวิทย์ ตามบัญชีเครือญาติ หลังจากนายเพชรและ นางอินทร์ถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งนายสุวิทย์เป็นผู้จัดการมรดกของบุคคลทั้งสองเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2545 ตามสำเนาคำสั่ง ที่ดินโฉนดเลขที่ 8487 และ 8498 ตำบลห้วยร่วม อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นทรัพย์มรดก และติดจำนองอยู่กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) วันที่ 9 กันยายน 2545 นายสุวิทย์ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมาเป็นของตนในฐานะผู้จัดการมรดก แล้วจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวมาเป็นของตนในฐานะทายาทโดยธรรมและไถ่ถอนจำนองจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จากนั้นจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่จำเลยที่ 1 วันที่ 17 กันยายน 2547 นายสุวิทย์ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจากจำเลยที่ 1 แล้วจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยทั้งสอง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินพิพาทก็เพื่อให้ที่ดินดังกล่าวกลับคืนสู่กองมรดก จึงไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลภายนอกคดี และเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินจากผู้ที่ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 แม้จำเลยทั้งสองจะรับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนแล้วก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่า แม้โจทก์มิได้ฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมกัน คือนายสุวิทย์และจำเลยทั้งสอง คงฟ้องแต่จำเลยทั้งสองเป็นจำเลยในคดีนี้ก็ตาม แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ นายสมจิตร และนายสุวิทย์ เป็นบุตรของนายเพชรและนางอินทร์ หลังจากบุคคลทั้งสองถึงแก่ความตาย ศาลมีคำสั่งตั้งนายสุวิทย์เป็นผู้จัดการมรดกของบุคคลทั้งสอง ต่อมานายสุวิทย์ได้จดทะเบียนจำนองทรัพย์มรดกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่จำเลยที่ 1และขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสอง โดยร่วมกันสมคบคิดเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกซึ่งโจทก์ไม่ยินยอมและกระทำลับหลังโจทก์โดยไม่สุจริต ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าว ถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเพื่อประสงค์ให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนั้นกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่บรรดาทายาท ซึ่งหากศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงย่อมตกทอดแก่โจทก์ นายสมจิตร และนายสุวิทย์ ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมหรือผู้รับมรดกแทนที่โดยสิทธิตามกฎหมายเพื่อนำมาแบ่งปันกัน หามีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลอื่นซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีแต่ประการใดไม่ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏตามคำฟ้องและบัญชีเครือญาติ ว่านอกจากนายสมจิตรจะถึงแก่ความตายไปก่อนเจ้ามรดกแล้ว ก่อนฟ้องคดีนายสุวิทย์ก็ได้ถึงแก่ความตายแล้วเช่นกัน ทั้งยังได้ความจากโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า นายสุวิทย์ไม่ได้แต่งงาน ไม่มีบุตร และโจทก์ไม่ได้ยื่นขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุวิทย์ ดังนี้ จึงนับเป็นเหตุที่ทำให้โจทก์ไม่สามารถฟ้องนายสุวิทย์หรือทายาทของนายสุวิทย์คนใดที่อาจได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาเข้ามาเป็นจำเลยในคดีได้ อาศัยเหตุดังวินิจฉัย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวโดยไม่จำต้องฟ้องคู่กรณีทั้งสองฝ่ายที่ทำนิติกรรมกันเข้ามาเป็นคู่ความในคดีด้วยแต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่า โจทก์มิได้ฟ้องนายสุวิทย์เข้ามาเป็นคู่ความในคดี จึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ เพราะจะมีผลกระทบไปถึงนายสุวิทย์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น