คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 207/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 (ประกาศฉบับปัจจุบัน) ที่ออกโดยอาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 6 และมาตรา 10 ข้อ 2 กำหนดว่า ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ 3 กำหนดว่า ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ลงวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2541 ซึ่งประกาศฉบับเดิมปี 2541 ที่ถูกยกเลิก ไม่ได้จำกัดวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างจะเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดไว้ ขณะที่ประกาศฉบับปัจจุบันนี้ ข้อ 10 กำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน โดยการค้ำประกันด้วยบุคคล วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ เช่นนี้ เป็นการจำกัดขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันในความเสียหายจากการทำงานให้แตกต่างไปจากหลักทั่วไปในเรื่องเสรีภาพในการทำสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับ ข้อ 12 กรณีที่มีการเรียกหรือรับหลักประกันเกินที่กำหนดไว้มาก่อนวันที่ประกาศฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับนั้น ให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันไม่เกินมูลค่าของหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับปัจจุบันด้วย นายจ้างที่เรียกหรือรับหลักประกันที่ฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ต้องรับผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 144 บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน นายจ้างและลูกจ้างไม่อาจตกลงนอกเหนือจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายและประกาศดังกล่าวกำหนด
เมื่อประกาศฉบับปัจจุบันลงราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ย่อมมีผลใช้บังคับนับแต่วันดังกล่าว โดยในส่วนความรับผิดของผู้ค้ำประกันจะต้องพิจารณาว่าหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดต่อนายจ้างเกิดมีขึ้นในวันใด หากหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเกิดมีขึ้นก่อนวันที่ 4 กรกฎาคม 2551อันเป็นวันที่ประกาศฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับ ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเต็มตามสัญญาค้ำประกัน ส่วนกรณีหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเกิดขึ้นตั้งแต่หรือหลังจากวันดังกล่าว ความรับผิดของผู้ค้ำประกันจะถูกจำกัดไว้ไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยของลูกจ้างที่ได้รับ อย่างไรก็ตามหากข้อเท็จจริงไม่ชัดแจ้งว่าหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเป็นการแน่นอน กรณีนี้จำต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายพิเศษนี้ โดยให้ผู้ค้ำประกันรับผิดไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับเท่านั้น
แม้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันความรับผิดในการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ไว้ก่อนวันที่ประกาศฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับ แต่เมื่อไม่สามารถระบุได้ว่าการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งพนักงานขายทำให้สินค้าแต่ละรายการสูญหายไปเกิดขึ้นในช่วงก่อนหรือขณะที่ประกาศฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้ อันเป็นผลให้ไม่ทราบว่าหนี้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมนั้น เกิดมีขึ้นในช่วงขณะประกาศฉบับใดมีผลบังคับใช้ การตีความใช้กฎหมายจำต้องกระทำไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเต็มตามสัญญาค้ำประกัน โดยต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับ ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 อันเป็นประกาศฉบับปัจจุบันที่มีผลใช้บังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 467,971.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 460,870 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามขาดนัด
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 200,268.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 7 มิถุนายน 2553) ต้องไม่เกิน 7,101.75 บาท โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดในต้นเงินรวมกันไม่เกิน 14,420 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีคงมีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดเต็มจำนวนตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ เห็นว่า การเรียกหรือรับหลักประกันในการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างนั้น นายจ้างจะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง กล่าวคือ นายจ้างจะเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่น หรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้างได้ หากลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้นลูกจ้างจะต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ ทั้งนี้ ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับหลักประกันจากลูกจ้าง ตลอดจนประเภทของหลักประกัน จำนวนมูลค่าของหลักประกันและวิธีการเก็บรักษา ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 6 และมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ออกประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ประกาศไว้ ณ วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2551 ข้อ 2 กำหนดว่า ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ข้อ 3 กำหนดว่า ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ลงวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2541 ซึ่งประกาศฉบับเดิมปี 2541 ไม่ได้จำกัดวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างจะเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดไว้ ขณะที่ประกาศฉบับปัจจุบันปี 2551 นี้ ข้อ 10 กำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน โดยการค้ำประกันด้วยบุคคล วงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ เป็นการจำกัดขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันในความเสียหายจากการทำงานให้แตกต่างไปจากหลักทั่วไปในเรื่องเสรีภาพในการทำสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และข้อ 12 กำหนดให้นายจ้างที่เรียกหรือรับหลักประกันเกินจากที่กำหนดไว้ก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ดำเนินการให้มีหลักประกันไม่เกินจำนวนมูลค่าของหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ด้วย นายจ้างที่เรียกหรือรับหลักประกันฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดต้องรับผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 144 บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน นายจ้างและลูกจ้างไม่อาจตกลงนอกเหนือจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายและประกาศดังกล่าวกำหนด ดังนั้น เพื่อบังคับใช้ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ให้สอดคล้องตรงตามเจตนารมณ์ที่มาแห่งบทบัญญัติกฎหมาย ประกอบกับประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อประกาศฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ย่อมมีผลใช้บังคับนับแต่วันดังกล่าว โดยในส่วนความรับผิดของผู้ค้ำประกันนั้นจะต้องพิจารณาว่าความเสียหายอันก่อให้เกิดหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดต่อนายจ้างเกิดมีขึ้นในวันใด หากหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเกิดมีขึ้นก่อนวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 อันเป็นวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดเต็มจำนวนตามสัญญาค้ำประกัน แต่หากหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเกิดขึ้นตั้งแต่หรือหลังจากวันดังกล่าว ความรับผิดของผู้ค้ำประกันจะถูกจำกัดไว้ไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ อย่างไรก็ตามหากข้อเท็จจริงไม่ชัดแจ้งว่าหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเป็นการแน่นอน กรณีจำต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นผู้ได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายพิเศษนี้ โดยให้ผู้ค้ำประกันรับผิดไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับเท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันความรับผิดจากการทำงานของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมไว้ต่อโจทก์ในวันที่ 17 สิงหาคม 2547 ก่อนวันที่ประกาศฉบับปัจจุบันปี 2551 มีผลบังคับใช้ และระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานในตำแหน่งพนักงานขายสินค้า มีหน้าที่รับชำระค่าสินค้าและเก็บรักษาเงินค่าสินค้าเพื่อส่งมอบแก่โจทก์ อันเป็นงานที่มีลักษณะหรือสภาพที่โจทก์เรียกหรือรับหลักประกันความเสียหายในการทำงานได้ จำเลยที่ 1 เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2547 ถูกเลิกจ้างมีผลในวันที่ 5 ตุลาคม 2551 และหลังจากโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์เพิ่งตรวจสอบพบว่าสินค้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 สูญหายไป 29 รายการ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงาน อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน แต่โจทก์ก็ไม่สามารถระบุได้ว่าการที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่แล้วทำให้สินค้าแต่ละรายการสูญหายไปนั้นเกิดขึ้นในช่วงก่อนหรือขณะที่ประกาศฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้ อันเป็นผลให้ไม่ทราบว่าหนี้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมนั้นเกิดมีขึ้นในช่วงขณะประกาศฉบับใดมีผลบังคับใช้ การตีความใช้กฎหมายจำต้องเป็นไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ค้ำประกัน ดังนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดเต็มจำนวนตามสัญญาค้ำประกัน โดยต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินหกสิบเท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share