แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมซึ่งกระทำลงในท้องที่ต่างๆ กัน โดยความผิดตามฟ้องข้อ (ก) (ข) และ (ค) กระทำในท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จส่วนความผิดตามฟ้องข้อ (ง) และ (จ) กระทำลงในท้องที่สถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองลำปาง พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (4) ร้อยตำรวจเอก บ. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จจึงมีอำนาจสอบสวน ส่วนที่ จ. ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปาง และเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางจับกุมจำเลยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2545 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าเป็นเรื่องของการร้องทุกข์และจับกุมจำเลยที่ได้กระทำชำเราผู้เสียหายเมื่อเดือนมกราคม 2545 โดยเหตุเกิดที่หมู่บ้าน ก. ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ดังนั้น แม้จะมีการจับกุมจำเลยได้ในท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางก่อน แต่ก็เป็นการจับกุมจำเลยสำหรับการกระทำผิดอาญาคนละกรรมกับคดีนี้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ก) เมื่อมีการจับกุมจำเลยในท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2545 ร้อยตำรวจเอก บ. พนักงานสอบสวนสถานตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จจึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การสอบสวนเป็นไปโดยชอบและพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
คดีนี้ เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1544/2546 ของศาลชั้นต้น แต่คดีดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 คงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ (ก) เมื่อวันใดไม่ปรากฏชัด เดือนพฤษภาคม 2545 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยกระทำชำเราเด็กหญิง ภ. ผู้เสียหาย อายุ 14 ปีเศษ โดยผู้เสียหายยินยอมจำเลยลงมือกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล เนื่องจากช่องคลอดของผู้เสียหายเล็กกว่าอวัยวะเพศของจำเลย อวัยวะเพศของจำเลยจึงไม่อาจล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหาย (ข) ภายหลังเกิดเหตุครั้งแรก 1 สัปดาห์ เดือนพฤษภาคม 2545 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยการสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ โดยผู้เสียหายยินยอม (ค) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2545 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยโดยไม่มีเหตุอันสมควรพรากผู้เสียหายไปเสียจากนาง จ. มารดาเพื่อการอนาจารแล้ว (ง) จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายโดยกอดและจับลูบคลำอวัยวะเพศของผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายยินยอม และ (จ) เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2545 เวลากลางวัน จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ โดยผู้เสียหายยินยอมเหตุตามฟ้องข้อ (ก) (ข) และ (ค) เกิดที่ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เหตุตามฟ้องข้อ (ง) และ (จ) เกิดที่ตำบลใดไม่ปรากฏชัด อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 277, 279, 317
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 (ที่ถูก 277 วรรคแรก), 279 วรรคแรก, 317 วรรคสาม, 80 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (ที่ถูกฐานกระทำอนาจารตามฟ้องข้อ (ง) กับฐานกระทำชำเราตามฟ้องข้อ (จ) เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานกระทำชำเราซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุไม่เกิน 20 ปีเห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานพยายามกระทำชำเราให้จำคุก 1 ปี 4 เดือน ฐานกระทำชำเรารวม 2 กระทงให้จำคุกกระทงละ 2 ปี ฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร ให้จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 8 ปี 4 เดือน คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนตลอดทั้งชั้นพิจารณาของศาลเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 5 ปี 6 เดือน 20 วัน คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องในสำนวนหลังด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่าเด็กหญิง ภ. ผู้เสียหายเป็นบุตรและอยู่ในอำนาจปกครองของนาง จ. มารดา โดยพักอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านเลขที่ 112/1 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอายุ 14 ปีเศษ กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผู้เสียหายคบหากับจำเลยในฐานะคนรัก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2545 จำเลยพยายามกระทำชำเราผู้เสียหายที่บ้านของผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอมต่อมาอีก 1 สัปดาห์ จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่บ้านของผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่โดยผู้เสียหายยินยอม เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2545 เวลาประมาณ 23 นาฬิกา จำเลยพรากผู้เสียหายไปเสียจากนาง จ. โดยจำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปรับผู้เสียหายที่บ้านแล้วพาไปที่หอพักบุญเกษมซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองลำปางและจำเลยกระทำอนาจารโดยกอดจูบผู้เสียหาย ในวันที่ 21 มิถุนายน 2545 จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่หอพักบุญเกษมโดยผู้เสียหายยินยอม นาง จ. ออกตามหาแต่ไม่พบ ต่อมาผู้เสียหายกลับบ้านและเล่าเรื่องให้ฟัง นาง จ. ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2545 ตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ และเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2545 ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จ ตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จจับกุมจำเลยเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2545 ตามบันทึกการจับกุม จำเลยฎีกาข้อแรกในปัญหาข้อกฎหมายว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางเป็นท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนและจับกุมจำเลยได้ก่อน จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนที่จะสรุปสำนวนการสอบสวนและทำความเห็นพร้อมกันสำนวนไปยังพนักงานอัยการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 และ 141 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จเพียงมีอำนาจสอบสวน แต่มิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนโดยชอบพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมซึ่งกระทำลงในท้องที่ต่างๆ กัน โดยความผิดตามฟ้องข้อ (ก) (ข) และ (ค) กระทำในท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จ ส่วนความผิดตามฟ้องข้อ (ง) และ (จ) กระทำลงในท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปาง พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (4) ร้อยตำรวจเอกบุญรัตน์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จจึงมีอำนาจสอบสวน ส่วนที่นาง จ. ได้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปาง ตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์และเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางจับกุมจำเลยเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2545 ตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหานั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่าเป็นเรื่องของการร้องทุกข์และจับกุมจำเลยที่ได้กระทำชำเราผู้เสียหายเมื่อเดือนมกราคม 2545 โดยเหตุเกิดที่หมู่บ้านการเคหะแห่งชาติลำปาง ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง ดังนั้น แม้จะมีการจับกุมจำเลยได้ในท้องที่สถนีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางก่อน แต่ก็เป็นการจับกุมจำเลยสำหรับการกระทำผิดอาญาคนละกรรมกับคดีนี้กรณีจึงถือไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคสอง (ก) เมื่อมีการจับกุมจำเลยในท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2545 รัอยตำรวจเอกบุญรัตน์พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเสด็จจึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การสอบสวนเป็นไปโดยชอบและพนังานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นส่วนข้อที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษในสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยอันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่อนุญาตให้ฎีกาตามคำร้องขอจำเลยแล้วนั้น แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยข้อนี้มาด้วยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน