คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 754-755/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อ พ.ศ. 2461 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาโปรดเกล้าฯพระราชทานวังเพชรบูรณ์แก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ซึ่งเมื่อทิวงคตในปี พ.ศ. 2466 นั้น มิได้ทรงทำพินัยกรรมไว้ รัชกาลที่ 6 ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการไปตามความเห็นของคณะกรรมการ ซึ่งได้กราบบังคมทูลถวายรายงานเกี่ยวกับวังเพชรบูรณ์ว่าที่วังเป็นของหลวงอยู่ในพระมหากรุณาธิคุณที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานแก่ผู้ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นสมควรจะดำรงตระกูลต่อไป โดยมอบให้พระคลังข้างที่เป็นผู้ดูแลรักษาไว้จนกระทั่งบัดนี้ ดังนี้พระราชหัตถเลขาทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราช จึงมีผลเด็ดขาดเป็นกฎหมายเมื่อมิได้มีพระบรมราชโองการของพระองค์ท่านเอง หรืออำนาจเด็ดขาดอื่นใดยกเลิกเพิกถอน พระบรมราชโองการดังกล่าวจึงยังคงมีผลอยู่ (ตามนัยฎีกาที่ 681/2481) คือมีผลบังคับทำให้วังเพชรบูรณ์ตกเป็นของหลวง และอยู่ในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ผู้ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นสมควรจะดำรงตระกูลต่อไป
ตัวการซึ่งอยู่ในต่างประเทศ ได้มีจดหมายถึงตัวแทนซึ่งได้รับมอบอำนาจทั่วไปให้จัดการดูแลผลประโยชน์ในทรัพย์สินของตัวการในประเทศไทยมีข้อความเกี่ยวกับเรื่องวังเพชรบูรณ์ว่า “ฯลฯ ที่ดินผืนนั้น(คือที่ตั้งวังเพชรบูรณ์) มีทางที่จะได้ประโยชน์อยู่มาก ถ้าเราไม่สายเกินไปตามที่หม่อมฉันได้เคยบอกพี่เล็ก (คือตัวแทน) ไว้แล้วหม่อมฉันเต็มใจ จะแบ่งผลที่ได้ครึ่งต่อครึ่งกับพี่เล็กจากส่วนของหม่อมฉัน หม่อมฉันพร้อมที่จะจ่ายจำนวนสูงถึงร้อยละสี่สิบของผลที่ได้ก่อนหักรายจ่ายให้แก่แหล่งต่างๆที่สามารถทำให้โครงการของเราเป็นไปได้ (หรือเป็นผลสำเร็จได้)เมื่อจ่ายแล้วคงเหลือร้อยละหกสิบสำหรับแบ่งสรรกันระหว่างท่านแม่ พี่หญิงและตัวหม่อมฉันเององค์ละร้อยละยี่สิบ ร้อยละยี่สิบส่วนของหม่อมฉันจะต้องแบ่งกันอีกคนละครึ่งกับพี่เล็ก ฯลฯ โปรดคิดเรื่องนี้ต่อไปและเราอาจจะปรึกษากันโดยละเอียดได้เมื่อเราพบกันครั้งต่อไป” ดังนี้ เป็นคำสั่งของตัวการให้ตัวแทนดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งวังเพชรบูรณ์ และตัวการต้องได้วังเพชรบูรณ์มาเป็นของตนแล้วจึงจะจ่ายเงินร้อยละสี่สิบของ” ผลที่ได้” ซึ่งหมายถึงการได้วังเพชรบูรณ์มาเป็นของตัวการแล้วนั่นเอง
ตัวแทนที่ดีต้องระวังรักษาผลประโยชน์ของตัวการโดยสมควรแก่หน้าที่เมื่อพฤติการณ์มีเหตุผลส่อแสดงว่า การที่ตัวแทนตกลงจะจ่ายเงินค่าตอบแทนให้บุคคลภายนอกด้วยการสมยอมกันทำหลักฐานย้อนหลังระหว่างกันไว้เพื่อให้มีผลผูกมัดตัวการโดยไม่สุจริต ข้อตกลงนั้นไม่มีผลผูกพันตัวการ
เมื่อตัวการมีข้อเสนอแก่ตัวแทนว่าจะจ่ายค่าตอบแทนให้ต่อเมื่อได้วังเพชรบูรณ์มาเป็นของตัวการแล้ว การที่ตัวแทนไปตกลงให้ค่าตอบแทนแก่บุคคลภายนอกซึ่งต่างก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ตัวการยังไม่ได้วังเพชรบูรณ์มาเป็นของตนนั้นเป็นการกระทำที่นอกเหนือขอบอำนาจของตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823
ใบมอบอำนาจทั่วไปให้ตัวแทนจัดการทรัพย์สินของตัวการที่มีอยู่แล้วไม่เกี่ยวกับมรดกที่จะได้รับภายหลัง และไม่เกี่ยวกับวังเพชรบูรณ์นั้น แม้ใบมอบอำนาจนั้นจะระบุว่าตัวการยอมให้สัตยาบันแก่การที่ตัวแทนกระทำไปก็ตาม เมื่อตัวการมอบอำนาจใหม่ให้ดำเนินการเรื่องวังเพชรบูรณ์แล้ว จะนำเอาข้อความที่ตัวการยอมให้สัตยาบันในใบมอบอำนาจทั่วไปมาใช้ผูกพันเป็นการให้สัตยาบันแก่กิจการที่ตัวแทนกระทำไปเกี่ยวกับเรื่องวังเพชรบูรณ์โดยเฉพาะไม่ได้

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันและเพื่อความสะดวกในการพิจารณา ให้เรียกโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4271/2505 (ของศาลแพ่ง) และจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4294/2505 (ของศาลแพ่ง) ว่าโจทก์ ให้เรียกจำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4271/2505 และโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4294/2505ว่าจำเลยที่ 1 และให้เรียกจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4271/2505 และจำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4294/2505 ว่าจำเลยที่ 2

คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4271/2505 โจทก์ฟ้องและแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องว่าจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์จำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนทั่วไปเพื่อครอบครองดูแลรักษาและจัดการผลประโยชน์ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทยส่วนจำเลยที่ 2 เคยได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้จัดการดูแลผลประโยชน์ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่8 เมษายน 2492 ตลอดมาจนกระทั่งจำเลยที่ 1 เพิกถอนอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2505 ปรากฏตามสำเนาใบมอบอำนาจท้ายฟ้อง จำเลยที่ 1 ใช้นามในภาษาอังกฤษว่า “นิคกี้” (Nicky) กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ทรงเป็นพระโอรสผู้สืบตระกูลของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชกรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัยอันเกิดจากนางระวิ พระบิดาของจำเลยที่ 1 ทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2466 มิได้ทรงทำพินัยกรรมไว้พระมรดกของพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่จึงอยู่ในพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานซึ่งขณะนั้นอยู่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระบรมราชโองการให้พระมรดกของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมชุนเพชรบูรณ์อยู่ในความควบคุมดูแลของสำนักงานพระคลังข้างที่ ต่อมาประมาณ 26 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งพระมรดกของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์นอกจากวังเพชรบูรณ์พระราชทานแก่จำเลยที่ 1 และทายาทอื่น จำเลยที่ 1 ได้ทรงมอบส่วนแบ่งพระมรดกที่ได้รับดังกล่าวให้แก่พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงสุทธศิริโสภาพระเชษฐภคินีเป็นผู้ครอบครองดูแลแทน โดยมิได้มอบให้จำเลยที่ 2 ซึ่งในขณะนั้นครอบครองดูแลทรัพย์สินแทนจำเลยที่ 1 การที่ไม่โปรดเกล้าฯ พระราชทานวังเพชรบูรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 เชื่อแน่ว่าหมดหวังที่จะได้รับพระราชทานวังเพชรบูรณ์ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2502 ได้มีประกาศสำนักงานพระราชวังว่าบรรดาสิ่งของทองเงินนากเครื่องเพชรพลอยที่ตกทอดมาจากกองพระราชมรดกสมเด็จพระพันปีหลวงมาเป็นของส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์ ราคาประมาณ 5 ล้านบาท ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นกองทุนและให้เรียกว่า กองทุนพระบรมราชานุเคราะห์ เพื่อเกื้อกูลพระบรมวงศานุวงศ์ ตามแต่จะทรงพระราชดำริเห็นสมควร ซึ่งความจริงจำเลยที่ 1 ควรจะได้รับพระราชทาน เพราะสมเด็จพระพันปีหลวงทรงเป็นพระอัยยิกาของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 แน่ใจยิ่งขึ้นว่าจำเลยที่ 1 หมดสิทธิในวังเพชรบูรณ์แต่ก็ยังคงอยากได้ เพราะวังเพชรบูรณ์เคยเป็นที่ประทับของพระบิดามาก่อน และเป็นที่มีประโยชน์มาก จำเลยที่ 1 จึงติดต่อกับบุคคลต่าง ๆ ให้ช่วยเหลือ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในวังเพชรบูรณ์ แต่ไม่มีใครช่วยให้สำเร็จได้ จำเลยที่ 1 จึงปรึกษาหารือและขอให้จำเลยที่ 2 หาทางที่จะขอพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเคยขอร้องให้จำเลยที่ 2 นำไปพบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ช่วยเหลือ แต่จำเลยที่ 2 ทัดทานไว้ ครั้นเมื่อต้นปี 2505 จำเลยที่ 1 จึงได้มอบให้จำเลยที่ 2 จัดการหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเรื่องนี้แทน โดยยอมเสียค่าตอบแทนแก่ผู้ที่จะช่วยเหลือให้แผนการที่จะขอพระราชทานสิทธิในวังเพชรบูรณ์มีทางเป็นไปได้เป็นเงินร้อยละสี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์จำเลยที่ 2 ตกลงและได้ติดต่อกับบุคคลหลายคน แต่ยังไม่เป็นผล จำเลยที่ 2 จึงมอบให้โจทก์กระทำการสืบหาข้อเท็จจริงและหลักฐานดังกล่าวโดยจำเลยที่ 2 ได้แสดงหลักฐานให้โจทก์ทราบว่า จำเลยที่ 1 ยินดีให้ค่าตอบแทนร้อยละสี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์ โจทก์ทราบดีว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้มีอำนาจเต็มที่จะดำเนินกิจการแทนจำเลยที่ 1 ได้เพราะทำงานอยู่ร่วมกัน ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2505 โจทก์สืบหาข้อเท็จจริงและหลักฐานได้ตามที่จำเลยที่ 1 ต้องการ คือพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าพระราชทานที่ดินวังเพชรบูรณ์ให้เป็นสิทธิแก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์พระบิดาของจำเลยที่ 1 และผลของการประชุมเรื่องพระมรดกรายนี้ที่สำนักงานพระคลังข้างที่เมื่อ พ.ศ. 2478 และตามความเห็นของคณะกรรมการจัดการมรดกที่ได้โปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้นก็ได้ทูลเกล้าถวายความเห็นไว้ว่า วังเพชรบูรณ์นี้ควรจะต้องเป็นของจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทสืบตระกูล ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่เคยทราบมาก่อน โจทก์จึงได้ชี้แจงข้อเท็จจริงที่สืบหามาได้พร้อมทั้งหลักฐานให้จำเลยที่ 2 ทราบ และขอเรียกค่าจ้างตอบแทนเป็นการเหมาเพียงร้อยละยี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์ เมื่อปลายเดือนเมษายน จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 พิจารณาเห็นว่า ข้อเท็จจริงและหลักฐานที่โจทก์จัดหามาได้นั้นเป็นประโยชน์และสนับสนุนให้จำเลยที่ 1 เกิดความมั่นใจที่จะขอพระราชทานสิทธิในวังเพชรบูรณ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งโจทก์ได้เสนอค่าจ้างตอบแทนเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่จำเลยที่ 1 ตั้งไว้และเป็นไปตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงยินยอมตกลงจะจ่ายค่าจ้างตอบแทนให้โจทก์ร้อยละยี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์ โจทก์จึงได้มอบหลักฐานต่าง ๆ ให้แก่จำเลยที่ 2 ครั้นวันที่ 30 เมษายน 2505 จำเลยที่ 1 ได้เสด็จมาประเทศไทย จำเลยที่ 2 ได้แจ้งเรื่องที่โจทก์สืบได้ข้อเท็จจริงและหลักฐาน พร้อมทั้งขอค่าจ้างตอบแทนร้อยละยี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 เห็นชอบด้วยตามที่จำเลยที่ 2 ตกลงกับโจทก์ ส่วนเงินที่จะจ่ายให้โจทก์นั้น จำเลยที่ 1 มีไม่พอจำเลยที่ 1 ได้ให้สัญญาว่าจะจัดหาเงินจากต่างประเทศมาจ่ายให้โจทก์จนครบตามที่ตกลงกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2505 จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนทั่วไปของจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญารับจะจ่ายเงินค่าจ้างตอบแทนร้อยละยี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์ ดังปรากฏตามสำเนาสัญญาท้ายฟ้องหมาย 3 เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบข้อเท็จจริงและหลักฐานตามที่โจทก์จัดหามาให้ จึงเป็นผลทำให้จำเลยที่ 1 มั่นใจและกล้าไปขอเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระราชทานวังเพชรบูรณ์ข้อเท็จจริงและหาหลักฐานที่โจทก์ไปสืบหามาจึงเป็นผลทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสั่งจะพระราชทาน

ที่ดินวังเพชรบูรณ์คือที่ดินโฉนดเลขที่ 3008 ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร เนื้อที่ 117 ไร่ 27 วา คิดราคาเฉพาะที่ดินตารางวาละ 3,500 บาท จะเป็นราคา 164,034,500 บาท สิ่งปลูกสร้างมีอยู่แล้วและที่กำลังปลูกสร้างรวมราคา 11,660,000 บาท จึงรวมเป็นราคาวังเพชรบูรณ์ทั้งหมดเป็นเงิน 175,694,500 บาท เงินค่าตอบแทนที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยที่ 1 ตามที่ตกลงกันร้อยละยี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์ จึงเป็นเงิน 35,138,900 บาท จำเลยที่ 2 ได้สั่งจ่ายให้โจทก์ไปแล้ว 4,181,678 บาท จำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระอีก 30,957,222 บาท โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 1 และ ที่ 2 ชำระให้โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ให้เรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายให้บางส่วนก่อน ส่วนที่เหลือจะจ่ายให้ภายหลังเมื่อได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์วังเพชรบูรณ์ให้จำเลยที่ 1 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธการจ่ายเงินดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่ตกลงกัน และเมื่อจำเลยที่ 2 ยืนยันให้จ่ายค่าจ้างตอบแทนให้โจทก์จำเลยที่ 1 ไม่พอใจได้เพิกถอนหนังสือมอบอำนาจจำเลยที่ 2 จึงขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันและแทนกันใช้เงิน 30,957,222บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์

ศาลชั้นต้นตรวจฟ้องแล้วมีคำสั่งให้ยกฟ้องคดีที่เกี่ยวกับหม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน จำเลยที่ 3

จำเลยที่ 2 ให้การรับว่าฟ้องของโจทก์เป็นความจริงทั้งหมดแต่ขอปฏิเสธว่าจำเลยที่ 2 กระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัว ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การและขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า จำเลยที่ 2เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องหมาย 2 และโจทก์เป็นสมุหบัญชีอยู่ในสำนักงานจัดการผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 โดยการแต่งตั้งของจำเลยที่ 2

ทรัพย์มรดกที่เป็นสิ่งของเงินทองนากและเครื่องเพชรพลอยที่ตกทอดมาจากกองมรดกของสมเด็จพระพันปีหลวง มาเป็นของส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์นั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ผู้ที่ทรงเห็นสมควร จำเลยที่ 1 ก็ได้รับพระราชทานด้วย ส่วนที่เหลือประมาณ 5 ล้านบาท ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นกองทุนพระบรมราชานุเคราะห์สำหรับใช้จ่ายเกื้อกูลพระบรมวงศานุวงศ์ จำเลยที่ 2 ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานทรัพย์ดังกล่าวส่งไปให้จำเลยที่ 1 ที่ต่างประเทศเพื่อให้จำเลยที่ 1 ลงพระนามจำเลยที่ 1 ไม่ยอมลงพระนาม และได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าเท่าที่ได้รับพระราชทานส่วนแบ่งมาแล้วก็เป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าฯ อยู่แล้ว

จำเลยที่ 1 ไม่เคยติดต่อกับบุคคลใด ๆ ให้ช่วยเหลือเพื่อให้ได้มาซึ่งวังเพชรบูรณ์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยขอร้องจำเลยที่ 2 ให้นำไปพบจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อขอให้ช่วยเหลือ เพราะจำเลยที่ 1 เชื่อว่าการที่จะได้รับพระราชทานวังเพชรบูรณ์หรือไม่เป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2504จำเลยได้มาประเทศไทย ได้นึกถึงวังเพชรบูรณ์ แต่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าวังเพชรบูรณ์จะตกมาเป็นของจำเลยที่ 1 หรือไม่ จึงได้ปรึกษากับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 บอกว่า วังเพชรบูรณ์ตกเป็นของหลวงเสียแล้ว หากจะได้วังคืนจะต้องวิ่งเต้นเป็นพิเศษถึงผู้ใหญ่ในวงราชการ แต่ต้องเสียค่าวิ่งเต้นร้อยละสี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังมิได้ตกลงประการใด เมื่อต้น พ.ศ. 2505 จำเลยที่ 1 จึงได้เขียนจดหมายส่วนตัวถึงจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์ขอให้สำรวจหาลู่ทางที่จะให้ได้มาซึ่งวังเพชรบูรณ์ แต่จำเลยที่ 2 มิได้รายงานผลให้จำเลยที่ 1 ทราบ จนเมื่อปลายเดือนเมษายน 2505 จำเลยที่ 2 ได้นำสำเนาลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ตามสำเนาท้ายคำให้การหมาย 1 หนังสือมอบอำนาจหมาย 2 และหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานวังเพชรบูรณ์ให้จำเลยที่ 1 ลงพระนาม แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ลงพระนาม เพียงแต่ขอรับเอกสารทั้ง 3 ฉบับ ดังกล่าวไปพิจารณาก่อน จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าการที่จะถวายหนังสือกราบบังคมทูลนั้นควรจะได้มีการทาบทามเสียก่อน จำเลยที่ 1 จึงได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นการส่วนพระองค์ และกราบบังคมทูลเรื่องวังเพชรบูรณ์ จึงได้ทราบว่าเป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะพระราชทานให้หรือไม่ให้ จนกระทั่งบัดนี้จำเลยที่ 1 ก็ยังมิได้รับพระราชทานวังเพชรบูรณ์แต่อย่างใด

การที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าได้มอบให้โจทก์ทำการช่วยเหลือเพื่อให้ได้วังเพชรบูรณ์นั้น จำเลยที่ 1 ไม่เคยทราบและไม่เคยตกลงยินยอมแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 2 กับโจทก์เป็นเพียงข้ออ้างตามแผนการที่จะยักยอกฉ้อโกงเงินของจำเลยที่ 1 ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงเห็นชอบในการที่จำเลยที่ 2 ยอมจ่ายเงินค่าจ้างตอบแทนแก่โจทก์ร้อยละยี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจที่จะกระทำได้

จดหมายของจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2505 ที่มีถึงจำเลยที่ 2 ไม่ใช่หนังสือตั้งจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนไปจัดการให้ได้มาซึ่งวังเพชรบูรณ์หรือสิทธิในวังเพชรบูรณ์แต่อย่างใด ถ้าจะถือว่าเป็นหนังสือตั้งตัวแทน จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วง ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 2 มอบให้โจทก์ช่วยเหลือเพื่อให้จำเลยที่ 1 ได้มาซึ่งสิทธิในวังเพชรบูรณ์ จึงเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจที่จะกระทำได้จดหมายของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ที่จะให้ค่าตอบแทนร้อยละสี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์ ไม่ก่อให้เกิดสัญญาให้ค่าตอบแทนระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 จดหมายของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเพียงแต่ปรารภถึงวังเพชรบูรณ์ว่าถ้าได้กรรมสิทธิ์มาโดยเด็ดขาด จำเลยที่ 1 ยินดีจะจ่ายค่าตอบแทนให้ร้อยละสี่สิบของวังเพชรบูรณ์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยผูกพันตนที่จะจ่ายเงินเป็นจำนวนสิบ ๆ ล้านให้แก่ผู้ช่วยเหลือเพียงให้แผนการเป็นไปได้ดังโจทก์ฟ้อง การที่จำเลยที่ 2 ตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์เป็นเงินร้อยละยี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์นั้น เป็นแผนการที่จะฉ้อโกงจำเลยที่ 1 เพราะหลังจากจำเลยที่ 2 ถูกถอดถอนอำนาจแล้วจำเลยที่ 2 ก็ผัดเพี้ยนไม่ยอมส่งบัญชีเงินสดและทรัพย์สินงวดสุดท้ายให้แก่จำเลยที่ 1 อยู่ช้านาน เพื่อวางแผนฉ้อโกงจำเลยที่ 1 โดยหาทางทำบัญชีให้สมดุลย์กัน เมื่อไม่อาจหารายจ่ายที่แท้จริงมาลงบัญชีได้ จึงทำบัญชีเท็จแสดงหลักฐานหักเงินของจำเลยที่ 1 ไว้ 4,181,678 บาท 33 สตางค์ เป็นค่าจัดการของโจทก์เกี่ยวกับวังเพชรบูรณ์ส่วนหนึ่ง เพื่อให้กลมกลืนยิ่งขึ้น จำเลยที่ 2 จึงได้เชิดโจทก์ให้ฟ้องคดีนี้และฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย

ในการเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จำเลยที่ 1 มิได้อาศัยพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 เป็นกำลังใจแต่อย่างใด ที่เข้าเฝ้าก็โดยถือว่าเป็นพระราชวงศ์องค์หนึ่งเพื่อทูลขอพระราชทานคำแนะนำเรื่องงานที่จะทำในประเทศไทย กับปรึกษาเรื่องวังเพชรบูรณ์ เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า จำเลยที่ 1 ไปอยู่ต่างประเทศ ถือว่าไม่มีทายาทสืบตระกูลอยู่ในเมืองไทย ถ้าจำเลยที่ 1 กลับมาอยู่ในประเทศไทยและมีงานทำเป็นหลักแหล่งแล้ว แม้ไม่ขอก็จะให้

ในกรณีเรื่องนี้ ถ้าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์ อย่างน้อยจำเลยที่ 1 ก็จะต้องได้วังเพชรบูรณ์โดยเด็ดขาดเสียก่อนวังเพชรบูรณ์นี้ถึงแม้จะได้รับพระราชทานมาก็ต้องแบ่งให้ทายาทคนอื่นด้วย ฉะนั้น หากจำเลยจะต้องรับผิดก็เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 เท่านั้น

คำฟ้องที่โจทก์ยื่นคำร้องขอฟ้องเพิ่มเติมไม่เกี่ยวกับคดีเดิม ศาลไม่ควรอนุญาตให้แก้ฟ้อง และฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม

ราคาที่ดินวังเพชรบูรณ์และสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่แล้ว กับที่กำลังปลูกสร้าง โจทก์ตีราคาสูงเกินความจริง ขอให้ยกฟ้องโจทก์

คดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4294/2505 จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องเพิ่มเติม จำเลยที่ 2 กับโจทก์เป็นจำเลยว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2492 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลครอบครองและจัดการผลประโยชน์ทรัพย์สินในประเทศไทยของจำเลยที่ 1 ปรากฏตามสำเนาใบมอบอำนาจท้ายฟ้องหมาย 1 ในสำนักงานจัดการผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 มีเจ้าหน้าที่หลายคน โจทก์เป็นสมุหบัญชีโดยการแต่งตั้งของจำเลยที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2505 จำเลยที่ 1 เข้ามาประเทศไทย ทราบข่าวว่าการจัดการผลประโยชน์ของจำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต จำเลยที่ 1 ขอให้แสดงบัญชีทรัพย์และบัญชีรับจ่าย จำเลยที่ 2 ผัดผ่อนบิดพลิ้วไม่ยอมแสดงจำเลยที่ 1 จึงถอดถอนการมอบอำนาจ และแต่งตั้งให้หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน เป็นผู้จัดการดูแลผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2505 จำเลยที่ 2 ส่งมอบทรัพย์สินและบัญชีให้แต่บางส่วน จำเลยที่ 1 ได้ให้ทนายของจำเลยที่ 1 มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบเงินสด โฉนดที่ดินและบัญชีรับจ่าย จำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตาม จำเลยที่ 1 จึงได้จัดการร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน 2505 โจทก์ได้มีหนังสือถึงทนายจำเลยที่ 1 ชี้แจงว่าได้ส่งมอบทรัพย์สินส่วนใหญ่แล้ว คงเหลือบัญชีงวดสุดท้ายจะมอบแก่จำเลยที่ 1 เองเพราะเป็นเรื่องลับเฉพาะ เปิดเผยไม่ได้ กับโฉนดอีก 3 ฉบับ ซึ่งจำเลยที่ 2 ใช้สิทธิยึดหน่วงเพื่อเป็นประกันหนี้ ส่วนเงินสดได้จ่ายหมด ไม่มีเหลือจะคืนให้จำเลยที่ 1 ปรากฏตามเอกสารหมาย 2 และ 3 ท้ายฟ้อง ต่อมาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2505 จำเลยที่ 1 ไปที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินีเพื่อรับมอบบัญชีทรัพย์ตามที่นัดหมาย โจทก์นำบัญชีงวดสุดท้าย บัญชีค่าใช้สอยส่วนตัวจำเลยที่ 1และบัญชีทรัพย์สินที่จำเลยที่ 2 ยึดหน่วงไว้รวม 3 ฉบับ ให้จำเลยที่ 1ปรากฏตามเอกสารหมาย 4-5 และ 6 ปรากฏว่ามีรายการจ่ายเงิน4,181,678 บาท 33 สตางค์ ให้โจทก์เป็นค่าตอบแทนส่วนหนึ่งเกี่ยวกับวังเพชรบูรณ์ โจทก์เป็นผู้เซ็นชื่อรับรอง จำเลยที่ 1 จึงรู้แน่ชัดว่าจำเลยที่ 2 และโจทก์ได้สมคบกันยักยอกฉ้อโกงทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงได้แจ้งความขอให้ดำเนินคดี

เรื่องวังเพชรบูรณ์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยติดต่อมอบให้โจทก์จัดการให้ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 เพียงแต่ขอร้องจำเลยที่ 2 สำรวจลู่ทางเท่านั้น จำเลยที่ 2 ไม่ทำตามคำขอของจำเลยที่ 1 เนื่องจากความโลภของจำเลยที่ 2 จึงสมคบกับโจทก์ทำบัญชีรับจ่ายเท็จส่งมอบให้ โดยระบุว่าได้จ่ายเงิน 4,181,678 บาท 33 สตางค์ ให้โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจอย่างใดที่เอาเงินของจำเลยที่ 1 ไปจ่ายให้โจทก์เป็นค่าตอบแทนเกี่ยวกับวังเพชรบูรณ์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนของโจทก์เพื่อดำเนินการให้ได้มาซึ่งวังเพชรบูรณ์ ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่ได้ตกลงสัญญาว่าจะให้ค่าตอบแทนใด ๆ แก่จำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินจำนวน 4,181,678 บาท 33 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2505 ถึงวันส่งบัญชีงวดสุดท้ายให้จำเลยที่ 1 ถึงวันฟ้องเป็นเวลาสองเดือน 5 วัน คิดเป็นเงิน 55,626 บาท 89 สตางค์ รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 4,238,305 บาท 22 สตางค์ และเนื่องจากจำเลยที่ 2 ยึดโฉนดที่ดินเลขที่ 4506-624 และ 4149 ไว้ ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิใด ๆ จะยึดไว้ จึงขอให้จำเลยที่ 2 และโจทก์คืนเงินกับค่าเสียหายรวม 4,238,305 บาท 22 สตางค์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 4,181,678 บาท 33 สตางค์ ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จให้จำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 ส่งมอบโฉนดที่ 4506-624 และ 4149 ให้จำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 ให้การและยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การว่าฟ้องของจำเลยที่ 1 เป็นความจริงทั้งหมด นอกนั้นเป็นเท็จในเดือนพฤษภาคม 2505 เมื่อจำเลยที่ 1 ขอทราบบัญชีการเงิน จำเลยที่ 2 และโจทก์ได้ชี้แจงและแสดงบัญชีต่าง ๆ จนเป็นที่พอใจ และยังจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 จำนวน 600,000 บาทตามที่เรียกร้อง ไม่เคยผัดผ่อนบิดพลิ้วเหตุที่จำเลยถอดถอนอำนาจ เนื่องจากจำเลยที่ 1 คิดจะฉ้อโกงโจทก์จะไม่จ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์ตามที่สัญญาไว้ การที่ส่งมอบทรัพย์สินและบัญชีงวดสุดท้ายไม่ทันกำหนดก็เพราะจำเลยที่ 1 บอกเลิกการมอบอำนาจกระทันหัน และเป็นบัญชีลับ ซึ่งจะต้องส่งมอบต่อจำเลยที่ 1 เอง ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็ตกลงเช่นนั้น แต่ก็ไม่ยอมรับมอบ กลับมอบอำนาจให้หม่อมราชวงศ์ถนัดศรีนำความเท็จไปแจ้งแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีว่าจำเลยที่ 2 ยักยอก เงิน 1,934,164 บาท 90 สตางค์ อันเป็นการกลบเกลื่อนกลโกงของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงฟ้องจำเลยที่ 1 และหม่อมราชวงศ์ถนัดศรีเป็นจำเลยต่อศาลแขวงพระนครใต้ในข้อหาแจ้งความเท็จ สำหรับเงินจำนวน4,181,678 บาท 33 สตางค์ นั้น จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าจ้างตอบแทนในการหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเกี่ยวกับวังเพชรบูรณ์ตามที่ตกลงกันเป็นจำนวนร้อยละยี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์แก่โจทก์ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 เพื่อประโยชน์และตามคำสั่งของจำเลยที่1 ซึ่งตกลงให้จ่ายได้ และโดยอาศัยอำนาจตามใบมอบอำนาจลงวันที่ 8 เมษายน 2492 ฉะนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะยึดหน่วงทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการและอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ครบถ้วนเพื่อมิให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัว ฉะนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องคืนเงินและโฉนดดังกล่าวข้างต้นให้จำเลยที่ 1 จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วน

มูลเหตุที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายค่าจ้างตอบแทนร้อยละยี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์แก่โจทก์สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 เป็นโอรสผู้สืบตระกูลของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์ ซึ่งทิวงคตเพื่อพ.ศ. 2466 โดยมิได้ทรงทำพินัยกรรมไว้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้ พระมรดกของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์อยู่ในความดูแลของพระคลังข้างที่ตลอดมาเป็นเวลา 26 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แบ่งมรดกของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 และทายาทอื่น ๆ นอกจากวังเพชรบูรณ์ จึงทำให้จำเลยที่ 1 เข้าพระทัยว่าตนหมดหวังไม่สมควรได้รับพระราชทานวังเพชรบูรณ์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสิ่งของทองเงินนากและเครื่องเพชรพลอยซึ่งเป็นพระราชมรดกของสมเด็จพระพันปีหลวงให้แก่บรรดาพระญาติที่สมควร แต่จำเลยที่ 1 มิได้รับพระราชทาน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นกองทุนพระบรมราชานุเคราะห์ จึงทำให้จำเลยที่ 1 แน่ใจยิ่งขึ้นว่าหมดหวังที่จะได้รับพระราชทานวังเพชรบูรณ์ครั้น พ.ศ. 2504 จำเลยที่ 1 ขอร้องให้จำเลยที่ 2 ช่วยและจะให้พาไปพบจอมพลสฤษดิ์ฯ นายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ช่วยให้ได้วังเพชรบูรณ์โดยจำเลยที่ 1 ยอมแบ่งวังให้ครึ่งหนึ่ง แต่จำเลยที่ 2 ไม่เห็นด้วย ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้มีลายพระหัตถ์ลงวันที่ 15 มีนาคม 2505 ถึงจำเลยที่ 2 ยืนยันมอบให้จัดการหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเกี่ยวกับวังเพชรบูรณ์ เพื่อที่จะให้แผนการที่จะขอพระราชทานมีทางทำได้ โดยจำเลยที่ 1 ยอมเสียค่าตอบแทนแก่ผู้ช่วยเหลือร้อยละ 40 ของราคาวังเพชรบูรณ์ ส่วนที่เหลือจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนของจำเลยที่ 1 จะแบ่งให้จำเลยที่ 2 ครึ่งหนึ่ง เหตุที่จำเลยที่ 1ขอเพียงร้อยละสิบก็เพราะเห็นว่าไม่มีหวังจะได้รับพระราชทาน หลังจากได้รับลายพระหัตถ์จากจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 ได้มอบให้โจทก์ไปสืบหาข้อเท็จจริงและหลักฐานโดยแจ้งให้ทราบว่าจำเลยที่ 1 จะจ่ายค่าตอบแทนให้ร้อยละสี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์ โจทก์ได้สืบหาข้อเท็จจริงและหลักฐานจึงไปได้สำเนาพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังเพชรบูรณ์ให้เป็นสิทธิของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนเพชรบูรณ์ โจทก์ขอเรียกค่าตอบแทนร้อยละยี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์ จำเลยที่ 2จึงตกลงจะจ่ายให้ตามที่โจทก์เรียกร้อง ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2505 จำเลยที่ 2 ได้นำหลักฐานเสนอจำเลยที่ 1 กับแจ้งข้อเรียกร้องเงินค่าจ้างร้อยละยี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์ จำเลยที่ 1 พอใจมาก และรับหลักฐานต่าง ๆ ไว้ พร้อมทั้งยอมจะจ่ายค่าจ้างตอบแทนให้โจทก์ตามที่เรียกร้อง โดยให้จ่ายจากเงินผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ถ้าไม่พอจะหาเงินจากต่างประเทศมาจ่ายให้จนครบ ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม2505 จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนทั่วไปของโจทก์จึงได้ทำสัญญารับจะจ่ายเงินค่าตอบแทนให้โจทก์ไว้เป็นหลักฐาน เมื่อจำเลยที่ 1 ได้หลักฐานดังกล่าวแล้วก็มั่นใจว่าจะได้รับพระราชทานวังเพชรบูรณ์จึงได้ขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าจะพระราชทานให้ในเมื่อโจทก์กลับมาอยู่ในประเทศไทย จึงนับว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมายครบถ้วนตามสัญญาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าจ้างตอบแทนตามที่ตกลงกัน การที่จำเลยที่ 2 สั่งจ่ายเงินให้โจทก์ไปจึงเป็นการจ่ายโดยชอบตามที่จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้ จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่และความรับผิดชอบใด ๆ ที่จะต้องคืนเงินให้จำเลยที่ 1 จึงขอให้ยกฟ้องของจำเลยที่ 1 เสีย

โจทก์ (จำเลยที่ 2) ให้การว่า ฟ้องของจำเลยที่ 1 ข้อ 1 เป็นความจริง นอกนั้นไม่จริง จำเลยที่ 1 ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดูแลจัดการผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ให้มีอำนาจทำกิจการทั้งหลายทั้งปวงที่เกี่ยวกับทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้มอบให้จำเลยที่ 2 จัดการหาข้อเท็จจริงและหลักฐานเกี่ยวกับวังเพชรบูรณ์โดยจำเลยที่ 1 จะจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ร้อยละสี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์ ในเดือนมีนาคม 2505 จำเลยที่ 2 ได้มอบให้โจทก์ดำเนินการหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน โจทก์ได้ขวนขวายหาข้อเท็จจริงและหลักฐานมามอบให้จำเลยที่ 2 และขอค่าตอบแทนเป็นเงินร้อยละยี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์ จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้ตกลงจะให้เงินค่าตอบแทนตามที่โจทก์เรียกร้องโจทก์ได้มอบหลักฐานให้จำเลยที่ 2 ไป วังเพชรบูรณ์มีเนื้อที่ 117 ไร่ 67 วา ราคาตารางวาละ 3,500 บาท เป็นราคาที่ดิน 164,034,500 บาท สิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่แล้วและจะสร้างต่อไปคิดเป็นราคา 11,660,000 บาท รวมเป็น 175,694,500 บาท เป็นค่าจ้างร้อยละยี่สิบเป็นเงิน 35,138,900 บาท จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 1 ได้สั่งจ่ายเงินให้โจทก์แล้ว 4,181,678 บาท 33 สตางค์ อันเป็นส่วนหนึ่งตามที่ตกลงกันไว้ จึงไม่มีอะไรจะต้องรับผิดชอบจึงขอให้ยกฟ้องของจำเลยที่ 1 เสีย

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าฟ้องของโจทก์ไม่เคลือบคลุมเอกสารหมาย จ.3 เป็นคำสั่งของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนทั่วไปดำเนินการเกี่ยวกับวังเพชรบูรณ์ จำเลยที่ 2 ได้ตกลงจ้างโจทก์ให้ไปสืบหาข้อเท็จจริงและหลักฐานตามคำสั่งและความประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยตกลงให้ค่าจ้างตอบแทนร้อยละยี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์ตามเอกสารหมาย จ.7 และเป็นการกระทำภายในขอบเขตอำนาจของตัวแทน จึงผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ และจำเลยที่ 1 ได้ให้สัตยาบันในข้อตกลงตามที่จำเลยที่ 1 ตกลงกับโจทก์ด้วย และเห็นว่าตามเอกสารหมาย จ.3 การจะจ่ายเงินค่าตอบแทนร้อยละยี่สิบของราคาวังเพชรบูรณ์ ไม่ต้องรอให้จำเลยที่ 1 ได้วังเพชรบูรณ์มาโดยเด็ดขาด เพียงแต่ได้ข้อเท็จจริงและหลักฐานพอที่จะให้เป็นไปได้จำเลยที่ 1 ก็ยอมจ่ายแล้ว ฉะนั้น จำเลยที่ 1 จะได้กรรมสิทธิ์ที่ดินวังเพชรบูรณืหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับโจทก์ เพราะโจทก์มีหน้าที่หาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวังเพชรบูรณ์เท่านั้น เมื่อโจทก์ไปสืบหาข้อเท็จจริงมาได้ตามความประสงค์ของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าตอบแทนให้โจทก์ตามที่ตกลงกัน วังเพชรบูรณ์มีเนื้อที่ 117 ไร่ 67 ตารางวา เห็นสมควรตีราคาเป็นเงิน 120,000,000 บาท เมื่อคิดค่าจ้างตอบแทนร้อยละยี่สิบ จึงเป็นเงิน 24,000,000 บาท โจทก์ได้รับไปแล้ว 4,181,678 บาท 33 สตางค์ จึงคงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องจ่ายให้โจทก์ 19,818,320 บาท 67 สตางค์ เมื่อจำเลยที่ 1 ต้องผูกพันและรับผิดชอบต่อโจทก์แล้วจำเลยที่ 2 ย่อมพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ และเมื่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิจะฟ้องเรียกเงิน 4,181,678 บาท 33 สตางค์คืนจากโจทก์และจำเลยที่ 2 และเห็นว่าจำเลยยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกโฉนดที่ดินทั้ง 3 ฉบับ คืนจากจำเลยที่ 2 จนกว่าจำเลยที่ 1 จะได้ชำระหนี้แก่โจทก์ไปครบถ้วน พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์เป็นเงิน 24,000,000 บาท แต่เมื่อหักเงินที่โจทก์รับไปแล้ว 4,181,678 บาท 33 สตางค์ แล้วคงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระให้โจทก์ 19,818,321 บาท 67 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในจำนวนดังกล่าวตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ ให้ยกฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4295/2505 ให้จำเลยที่ 1 เสียค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์และจำเลยที่ 2 ส่วนค่าทนายให้จำเลยที่ 1 ใช้แทนโจทก์ 200,000 บาท และใช้แทนจำเลยที่ 2 จำนวน 40,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย

อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีความเห็นแย้งว่า เอกสารหมาย จ.3เป็นคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการ ตัวการจะให้ค่าตอบแทนตามจำนวนที่ระบุไว้ใน เอกสารหมาย จ.3 ก็ต่อเมื่อทำให้ตัวการได้ที่ดินวังเพชรบูรณ์มา มิใช่เพียงแต่หาเอกสารหลักฐานมาให้โดยไม่ได้วังก็ต้องให้ค่าตอบแทน การที่ตัวแทนตกลงหรือรับรองต่อโจทก์ว่าตัวแทนยอมให้ค่าตอบแทนร้อยละยี่สิบของราคาวังเป็นการทำนอกเหนืออำนาจของตัวแทน จึงไม่ผูกพันตัวการ จำเลยที่ 1 มิได้ยอมรับหรือตกลงจะให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์ร้อยละยี่สิบของราคาวัง ในเรื่องค่าตอบแทนนี้จำเลยที่ 2 ให้โจทก์ไปทูลขอจำเลยที่ 1 โดยตรง จึงไม่ใช่เรื่องให้สัตยาบัน เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้ค่าจ้างตอบแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 5 ล้านบาท ควรให้ค่าจ้างต

Share