คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4961/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เดิมผู้ร้องเคยสมรสกับจำเลยที่ 3 ต่อมาเมื่อปี 2535 ผู้ร้องหย่ากับจำเลยที่ 3 และได้ตกลงสัญญาในการหย่าให้ที่ดินพิพาทตกแก่ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาโดยจำเลยที่ 3 ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง โจทก์ให้การต่อสู้คดี โดยมิได้ให้การปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของผู้ร้อง ถือได้ว่าโจทก์ยอมรับว่าผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนหย่ากันและได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 ว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นของผู้ร้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 84 (3) เช่นนี้ เมื่อผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนสมรสกันในปี 2527 ต่อมาปี 2534 ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทแม้จะใส่ชื่อผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเพียงคนเดียวก็ตาม ที่ดินพิพาทก็เป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (2) ซึ่งเมื่อทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันและทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 ว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นของผู้ร้อง สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 ผู้ร้องมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเพียงคนเดียวอยู่แล้ว แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสิทธิของผู้ร้องนับแต่เวลาจดทะเบียนหย่า และเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องมีอยู่ก่อนสมรสกับจำเลยที่ 3 ใหม่ ในปี 2549 จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (1) ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 โจทก์จึงยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ไม่ได้ ผู้ร้องมีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ชำระ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 982 ตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยอ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 3 เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 3,000 บาท
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนสมรสกันครั้งแรกเมื่อปี 2527 มีบุตรด้วยกัน 2 คน ต่อมาวันที่ 6 มีนาคม 2534 ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 982 ตำบลรอบเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด โดยจดทะเบียนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้รับโอนเพียงผู้เดียว ตามสำเนาโฉนดที่ดินและสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน ครั้นวันที่ 30 กันยายน 2535 ผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนหย่ากัน ตามสำเนาใบสำคัญการหย่า และวันที่ 14 มีนาคม 2549 ผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนสมรสกันอีกครั้ง ตามสำเนาใบสำคัญการสมรส คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องข้อแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 หรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เดิมผู้ร้องเคยสมรสกับจำเลยที่ 3 ต่อมาเมื่อปี 2535 ผู้ร้องหย่ากับจำเลยที่ 3 และได้ตกลงสัญญาในการหย่าให้ที่ดินพิพาทตกแก่ผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมาโดยจำเลยที่ 3 ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้อง โจทก์ให้การต่อสู้คดี โดยมิได้ให้การปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของผู้ร้อง ถือได้ว่าโจทก์ยอมรับว่าผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนหย่ากันและได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 ว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นของผู้ร้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ประกอบมาตรา 84 (3) เช่นนี้ เมื่อผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนสมรสกันในปี 2527 ต่อมาปี 2534 ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทแม้จะใส่ชื่อผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเพียงคนเดียวก็ตาม ที่ดินพิพาทก็เป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (2) ซึ่งเมื่อทั้งสองจดทะเบียนหย่ากันและทำบันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 3 ว่าให้ที่ดินพิพาทตกเป็นของผู้ร้อง สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 ผู้ร้องมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเพียงคนเดียวอยู่แล้ว แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นสิทธิของผู้ร้องนับแต่เวลาจดทะเบียนหย่า และเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องมีอยู่ก่อนสมรสกับจำเลยที่ 3 ใหม่ ในปี 2549 จึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (1) ที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 โจทก์จึงยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ไม่ได้ ผู้ร้องมีสิทธิขอให้ปล่อยที่ดินพิพาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของผู้ร้องต่อไปเพราะไม่เป็นสาระและไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ปล่อยทรัพย์พิพาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share