แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลย แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอัลมอนด์ระหว่างวันที่ 10 ถึงวันที่ 11 เมษายน 2550 จำเลยประกาศให้เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีและระหว่างวันที่ 12 ถึงวันที่ 16 เมษายน 2550 จำเลยประกาศให้เป็นวันหยุดตามประเพณีเฉพาะส่วนลูกจ้างที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ดังนั้น ช่วงระยะเวลาดังกล่าวโจทก์ทั้งสามมีสิทธิหยุดงาน ส่วนวันที่ 9 เมษายน 2550 โจทก์ทั้งสามมาทำงาน แต่ก่อนบันทึกบัตรเข้าทำงาน ผู้จัดการโรงงานถามโจทก์ทั้งสามว่าจะรับข้อเสนอเรื่องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของจำเลยหรือไม่ ถ้ายอมรับข้อเสนอต้องไปลงชื่อเข้าทำงานในแบบฟอร์มที่หัวหน้า มิฉะนั้นให้ออกไปนอกโรงงาน โจทก์ทั้งสามไม่ยอมรับข้อเสนอจึงออกไปอยู่นอกโรงงาน การที่โจทก์ทั้งสามไม่ได้ทำงานในวันนี้ย่อมไม่ใช่ความผิดของโจทก์ทั้งสามดังนั้น ช่วงระหว่างวันที่ 9 ถึงวันที่ 16 เมษายน 2550 ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามละทิ้งหน้าที่ สำหรับระหว่างวันที่ 17 เมษายน 2550 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2550 ซึ่งโจทก์ทั้งสามหยุดงานด้วยนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยเปิดทำงานตามปกติสำหรับลูกจ้างที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2550 แต่โจทก์ทั้งสามไม่เข้าทำงานกลับไปร่วมชุมนุมกับสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ที่หน้าโรงงาน โดยโจทก์ทั้งสามไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องด้วยเลย ย่อมถือได้ว่า โจทก์ทั้งสามละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่สหภาพแรงงานฯ ระบุชื่อโจทก์ทั้งสามในบัญชีรายชื่อสมาชิกสหภาพแรงงานฯ กลับเข้าทำงานในวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 ตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ให้จำเลยรับลูกจ้างที่ปิดงานกลับเข้าทำงาน ซึ่งหมายถึงเฉพาะลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ เท่านั้น อันเป็นคู่กรณีที่เกิดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้กับจำเลย ย่อมไม่ทำให้โจทก์ทั้งสามที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ได้สิทธิตามคำสั่งดังกล่าวไปด้วย และไม่มีผลลบล้างให้โจทก์ทั้งสามไม่มีความผิดละทิ้งหน้าที่ในวันที่ 17 เมษายน 2550 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2550 โดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่อย่างใด
เมื่อโจทก์ทั้งสามละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 583 และถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยมีเหตุอันสมควร จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวโดยให้เรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้บังคับจำเลยโจทก์ทั้งสามกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และการจ้างเดิม จ่ายเงินให้แก่โจทก์ทั้งสามดังนี้ ค่าชดเชยคนละ 138,000 บาท 66,820 บาท 61,100 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าคนละ 13,800 บาท 6,682 บาท 6,111 บาท ค่าเสียหายกรณีเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมคนละ 151,800 บาท 80,184 บาท 61,100 บาท พร้อมกับดอกเบี้ยในค่าชดเชยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในสินจ้างแทนการบอกล่วงหน้าและค่าเสียหายอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสามตามลำดับ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้กับโจทก์ที่ 1 ดังนี้ ค่าชดเชย 138,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 13,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 151,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์ที่ 2 ค่าชดเชย 66,820 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 6,682 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 80,184 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และโจทก์ที่ 3 ค่าชดเชย 61,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 6,110 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 61,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดอกเบี้ยทุกรายการนับตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าได้ชำระเสร็จคำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างของจำเลย ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานอัลมอนด์ ระหว่างวันที่ 9 เมษายน 2550 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2550 จำเลยปิดงานเพราะเกิดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไมได้สืบเนื่องมาจากสหภาพแรงงานอัลมอนด์ซึ่งมีสมาชิกประมาณ 200 คน เป็นฝ่ายยื่นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อจำเลย และโจทก์ทั้งสามเข้าร่วมชุมนุมกับสมาชิกสหภาพแรงงานที่หน้าโรงงานโดยไม่ได้เข้าทำงานตามหน้าที่จึงถูกจำเลยเลิกจ้าง โจทก์ทั้งสามไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเรียกร้องค่าจ้าง พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งที่ 22/2550 ใจความว่าวันที่ 9 ถึง 16 เมษายน 2550 เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดตามประเพณี โจทก์ทั้งสามไม่ได้ละทิ้งหน้าที่ ส่วนระหว่างวันที่ 17 เมษายน 2550 ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2550 โจทก์ทั้งสามยังคงร่วมชุมนุมกับสหภาพแรงงานฯ ที่หน้าโรงงาน ไม่ยอมเข้าทำงานตามประกาศของจำเลยเป็นการละทิ้งหน้าที่โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในส่วนนี้ โจทก์ทั้งสามและจำเลยไม่นำคดีไปที่ศาลแรงงานเพื่อเพิกถอนคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวจึงถึงที่สุดข้อเท็จจริงตามคำสั่งมีผลผูกพันโจทก์ทั้งสามและจำเลย ปัญหาว่าในช่วงต้นตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 16 เมษายน 2550 โจทก์ทั้งสามหยุดงานชอบหรือไม่ข้อเท็จจริงได้ความว่าช่วงระหว่างวันที่ 10 ถึงวันที่ 11 เมษายน 2550 จำเลยประกาศให้เป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปี และระหว่างวันที่ 12 ถึงวันที่ 16 เมษายน 2550 จำเลยประกาศให้เป็นวันหยุดตามประเพณีเฉพาะส่วนลูกจ้างที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ดังนั้น ระยะเวลาดังกล่าวโจทก์ทั้งสามมีสิทธิหยุดงาน ส่วนในวันที่ 9 เมษายน 2550 โจทก์ทั้งสามมาทำงาน แต่ก่อนบันทึกบัตรเข้าทำงาน ผู้จัดการโรงงานถามโจทก์ทั้งสามว่าจะรับข้อเสนอเรื่องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างของจำเลยหรือไม่ ถ้ายอมรับข้อเสนอต้องไปลงชื่อเข้าทำงานในแบบฟอร์มที่หัวหน้างาน มิฉะนั้นให้ออกไปนอกโรงงานโจทก์ทั้งสามไม่ยอมรับข้อเสนอจึงออกไปอยู่นอกโรงงาน การที่โจทก์ทั้งสามไม่ได้ทำงานในวันนี้ย่อมไม่ใช่ความผิดของโจทก์ทั้งสาม ดังนั้นระหว่างวันที่ 9 ถึงวันที่ 16 เมษายน 2550 ถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามละทิ้งหน้าที่ สำหรับช่วงระหว่างวันที่ 17 เมษายน 2550 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2550 ซึ่งโจทก์ทั้งสามหยุดงานด้วยนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยเปิดทำงานตามปกติสำหรับลูกจ้างที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2550 แต่โจทก์ทั้งสามไม่เข้าทำงาน กลับไปร่วมชุมนุมกับสมาชิกสหภาพแรงงานฯ ที่หน้าโรงงาน โดยโจทก์ทั้งสามไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องด้วยเลย ย่อมถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่สหภาพแรงงานฯ ระบุชื่อโจทก์ทั้งสามในบัญชีรายชื่อสมาชิกสหภาพแรงงานฯ กลับเข้าทำงานในวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 ตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานที่ให้จำเลยรับลูกจ้างที่ถูกปิดงานกลับเข้าทำงาน ซึ่งหมายถึงเฉพาะลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ เท่านั้น อันเป็นคู่กรณีที่เกิดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้กับจำเลย ย่อมไม่ทำให้โจทก์ทั้งสามที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯได้สิทธิตามคำสั่งดังกล่าวไปด้วย และไม่มีผลลบล้างให้โจทก์ทั้งสามไม่มีความผิดละทิ้งหน้าที่ในวันที่ 17 เมษายน 2550 ถึงวันที่ 12 พฤษภาคม 2450 โดยไม่มีเหตุอันสมควรแต่อย่างใดอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
เมื่อโจทก์ทั้งสามละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (5) ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามมาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และถือว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยมีเหตุอันสมควร จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ที่ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินทั้งสามประเภทดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสาม ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสาม