คำวินิจฉัยที่ 9/2552

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙/๒๕๕๒

วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๒

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒)

ศาลแรงงานกลาง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแรงงานกลางโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ นายเสรี ขวัญเมือง ที่ ๑ กับพวกรวม ๒๐๕ คน โจทก์ ยื่นฟ้ององค์การฟอกหนัง ที่ ๑ กระทรวงกลาโหม ที่ ๒ จำเลย ต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๙๖๗ – ๙๑๗๑/๒๕๕๐ ความว่า โจทก์ทั้งสองร้อยห้าเป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ จำเลยที่ ๑ โดยความเห็นชอบของจำเลยที่ ๒ ออกประกาศเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองร้อยห้า โดยโจทก์ทั้งสองร้อยห้าไม่ได้กระทำความผิดและไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองร้อยห้าได้ การเลิกจ้างไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยทั้งสองค้างจ่ายค่าจ้าง สวัสดิการ โบนัสและสิทธิประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองร้อยห้าพึงได้รับตามสัญญาจ้างตามข้อตกลงสภาพการจ้างและตามกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองร้อยห้าได้รับความเสียหายเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสองร้อยห้าตามที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานบัญญัติไว้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ทั้งสองร้อยห้านับแต่ปี ๒๕๔๕ ถึงปี ๒๕๕๐ รวม ๕ ปี และให้จ่ายเงินพิจารณาผลการปฏิบัติงานการเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี ๒๕๕๐ จำนวน ๑ ขั้น และค่าเสียหาย จากการไม่ได้รับการปรับเงินขึ้นร้อยละ ๔ ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อให้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้นในงวดเดือนตุลาคม ๒๕๕๐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์ทั้งสองร้อยห้าเสร็จสิ้น และให้รับโจทก์ทั้งสองร้อยห้ากลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างที่ได้รับขณะเลิกจ้าง
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองร้อยห้าเกิดจากการยุบเลิกจำเลยที่ ๑ ตามพระราชกฤษฎีกายุบเลิกองค์การฟอกหนัง พ.ศ. ๒๕๕๐ จำเลยที่ ๑ จึงบอกเลิกจ้างพนักงานทุกคนรวมถึงโจทก์ทั้งสองร้อยห้าด้วย สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การฟอกหนังและพนักงานจำเลยที่ ๑ ร่วมกันฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเป็นคดีหมายเลขดำที่ ฟ. ๒๕/๒๕๕๐ ขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกายุบเลิกองค์การฟอกหนัง พ.ศ. ๒๕๕๐ คดีอยู่ระหว่างพิจารณามูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ของโจทก์ทั้งสองร้อยห้าเกิดจากพระราชกฤษฎีกายุบเลิกองค์การฟอกหนัง พ.ศ. ๒๕๕๐ ตามมติคณะรัฐมนตรีที่โจทก์ทั้งสองร้อยห้า และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจโต้แย้งคัดค้านว่ามิชอบด้วยกฎหมายทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญและความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า พระราชกฤษฎีกายุบเลิกองค์การฟอกหนังชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองร้อยห้าเป็นการคัดค้านโต้แย้งการใช้อำนาจรัฐว่าเป็นไปตามหลักความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งสองร้อยห้า ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนัง พ.ศ. ๒๔๙๘ เพื่อประกอบกิจการประเภทหนังสัตว์อันเป็นประโยชน์ต่อทางราชการทหารและประชาชนในการเศรษฐกิจและการครองชีพตลอดจนอำนวยการในด้านอุตสาหกรรมประเภทนี้ให้ทางราชการและประชาชนได้มีพอใช้ทั้งในยามปกติและยามสงคราม โดยใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ อันมีวัตถุประสงค์เพื่อความมั่นคงทางด้านราชการทหารและอำนวยการเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนเป็นสำคัญ จำเลยที่ ๑ จึงเป็นองค์การของรัฐและเป็นหน่วยงานทางปกครอง โจทก์ทั้งสองร้อยห้าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่โจทก์ทั้งสองร้อยห้าตกลงเข้าทำงานกับจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการประเภทหนังสัตว์อันเป็นประโยชน์ต่อทางราชการทหารและประชาชนและเพื่อประโยชน์ในการเศรษฐกิจและในการครองชีพ โดยใช้เงินทุนจากงบประมาณแผ่นดิน จึงเป็นการให้บริการสาธารณะประเภทหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ ๑ นายจ้างที่มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐกับโจทก์ทั้งสองร้อยห้า ซึ่งเป็นลูกจ้างมีขึ้นเพื่อให้ลูกจ้างเข้าดำเนินงานหรือเข้าร่วมดำเนินงานบริการสาธารณะอันเป็นความสัมพันธ์ตามกฎหมายมหาชน ไม่ใช่ความสัมพันธ์ในฐานะลูกจ้างกับนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในกฎหมายแพ่งทั่วไป ข้อตกลงจ้างทำงานระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่เป็นสัญญาจ้างแรงงาน อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานทางปกครองกับลูกจ้างในสังกัดที่มีขึ้นเพื่อร่วมกันในการจัดทำบริการสาธารณะ ข้อตกลงจ้างดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ กรณีพิพาทคดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทสืบเนื่องมาจากสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน นอกจากนี้ยังได้ความตามคำร้องขอโอนคดีของจำเลยทั้งสองว่า มูลเหตุคดีนี้เกิดจากการที่มีพระราชกฤษฎีกายุบเลิกองค์การฟอกหนังตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งโจทก์ทั้งสองร้อยห้าและสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การฟอกหนังยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ยกเลิกเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เนื่องจากการออกพระราชกฤษฎีกาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้จำเลยที่ ๑ กลับมาเป็นเช่นเดิมก่อนถูกยุบเลิก รวมทั้งให้จำเลยที่ ๑ รับโจทก์ทั้งสองร้อยห้าและพนักงานจำเลยที่ ๑ ทั้งหมดเข้าทำงานในตำแหน่งเดิมก่อนถูกเลิกจ้าง ดังนั้นคดีนี้จึงมีความเกี่ยวพันและเกี่ยวเนื่องกับคดีหมายเลขดำที่ ฟ. ๒๕/๒๕๕๐ ของศาลปกครองสูงสุดด้วย และเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เนื่องจากคดีนี้เป็นผลกระทบที่เกิดจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนัง พ.ศ. ๒๔๙๘ โดยอาศัยอำนาจตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๔๙๕ และมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการประเภทหนังสัตว์ อันเป็นประโยชน์ต่อทางราชการทหารและประชาชนและเพื่อประโยชน์ในการเศรษฐกิจและการครองชีพ ตลอดจนอำนวยการในด้านอุตสาหกรรมประเภทหนังสัตว์ให้ทางราชการและประชาชนได้มีพอใช้ทั้งในยามปกติและยามสงคราม โดยใช้เงินทุนจากงบประมาณของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ และเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ อันทำให้จำเลยที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีจำเลยที่ ๒ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ควบคุมโดยทั่วไปซึ่งกิจการของจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนัง พ.ศ. ๒๔๙๘ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้อตกลงจ้างทำงานระหว่างโจทก์ทั้งสองร้อยห้ากับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการประเภทหนังสัตว์อันเป็นประโยชน์ต่อทางราชการทหารและประชาชนและเพื่อประโยชน์ในการเศรษฐกิจและการครองชีพตลอดจนอำนวยการในด้านอุตสาหกรรมประเภทหนังสัตว์ให้ทางราชการและประชาชนได้มีพอใช้ทั้งในยามปกติและยามสงครามนั้น แม้จะมีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ ๑ นายจ้างซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองกับโจทก์ทั้งสองร้อยห้ารวมถึงลูกจ้างคนอื่น ๆ ที่มิได้ยื่นฟ้องคดี มิใช่ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจเหนือลูกจ้างที่เป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐอันเป็นความสัมพันธ์ทางกฎหมายมหาชนแต่อย่างใด โดยโจทก์มีอำนาจเจรจาต่อรองเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การระงับข้อพิพาทแรงงาน การนัดหยุดงาน การปิดงาน การงดจ้าง อันเห็นได้จากการจัดตั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การฟอกหนังตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ตั้งแต่วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๓ อันเป็นความสัมพันธ์ในฐานะลูกจ้างกับนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในกฎหมายแพ่งทั่วไป ซึ่งคู่สัญญามีฐานะเท่าเทียมกัน ข้อตกลงจ้างดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นสัญญาจ้างแรงงาน ตามมาตรา ๕๗๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อมีข้อพิพาทกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองร้อยห้าโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ค้างจ่ายค่าจ้างนับตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ ถึงปี ๒๕๕๐ ค้างจ่ายเงินพิจารณาผลการปฏิบัติงานการเลื่อนขั้นประจำปี ๒๕๕๐ จำนวน ๑ ขั้น รวมถึงค่าเสียหายกรณีไม่ได้ปรับเงินขึ้นร้อยละ ๔ ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อให้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้นซึ่งจำเลยทั้งสองต้องจ่ายให้แก่โจทก์ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๐ นั้น ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ตามมาตรา ๘ (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. ๒๕๒๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า โจทก์ทั้งสองร้อยห้าเป็นลูกจ้างของจำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ จำเลยที่ ๑ โดยความเห็นชอบของจำเลยที่ ๒ ออกประกาศเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองร้อยห้า ทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิดและไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะเลิกจ้าง ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยทั้งสองค้างจ่ายค่าจ้าง สวัสดิการ โบนัสและสิทธิประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองร้อยห้าพึงได้รับตามสัญญาจ้าง ตามข้อตกลงสภาพการจ้างและตามกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองร้อยห้าได้รับความเสียหายเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ทั้งสองร้อยห้าตามที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานบัญญัติไว้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ทั้งสองร้อยห้านับแต่ปี ๒๕๔๕ ถึงปี ๒๕๕๐ รวม ๕ ปี และให้จ่ายเงินพิจารณาผลการปฏิบัติงานการเลื่อนขั้นเงินเดือนประจำปี ๒๕๕๐ จำนวน ๑ ขั้น และค่าเสียหายจากการไม่ได้รับการปรับเงินขึ้นร้อยละ ๔ ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อให้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่สูงขึ้นในงวดเดือนตุลาคม ๒๕๕๐ พร้อมดอกเบี้ย และให้รับโจทก์ทั้งสองร้อยห้ากลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่และอัตราค่าจ้างที่ได้รับขณะเลิกจ้าง คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งสองร้อยห้ากับจำเลยที่ ๑ เป็นสัญญาจ้างแรงงานหรือเป็นสัญญาทางปกครอง เห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนัง พ.ศ. ๒๔๙๘ จึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีจำเลยที่ ๒ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ควบคุมโดยทั่วไปซึ่งกิจการของจำเลยที่ ๑ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนัง พ.ศ. ๒๔๙๘ แม้โจทก์ทั้งสองร้อยห้าจะเป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การฟอกหนัง พ.ศ. ๒๔๙๘ คือเพื่อประกอบอุตสาหกรรมประเภทหนังสัตว์ อันเป็นประโยชน์ต่อทางราชการทหารและประชาชนและเพื่อประโยชน์ในการเศรษฐกิจและการครองชีพ ตลอดจนอำนวยการในด้านอุตสาหกรรมประเภทหนังสัตว์ให้ทางราชการและประชาชนได้มีพอใช้ทั้งในยามปกติและยามสงคราม อันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะก็ตาม แต่โดยที่บทบัญญัติมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดบทนิยามคำว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง และคำว่า “นายจ้าง” หมายความว่า รัฐวิสาหกิจซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนรัฐวิสาหกิจด้วย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองร้อยห้ามีอำนาจเจรจาต่อรองเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การระงับข้อพิพาทแรงงาน การนัดหยุดงาน การปิดงาน การงดจ้างและมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การฟอกหนังขึ้นด้วย ดังนั้น นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งสองร้อยห้ากับจำเลยที่ ๑ จึงอยู่ในฐานะลูกจ้างกับนายจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๓ ภายใต้ข้อบังคับและระเบียบที่กำหนดความสัมพันธ์หรือสภาพการจ้างระหว่างกัน นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งสองร้อยห้ากับจำเลยที่ ๑ จึงมิใช่ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจเหนือลูกจ้างที่เป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเพื่อให้เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐอันเป็นความสัมพันธ์ทางกฎหมายมหาชน แต่เป็นความสัมพันธ์ในฐานะลูกจ้างกับนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานในกฎหมายแพ่งทั่วไป เมื่อโจทก์ทั้งสองร้อยห้าอ้างว่า จำเลยที่ ๑ โดยความเห็นชอบของจำเลยที่ ๒ ออกประกาศจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองร้อยห้าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จำเลยทั้งสองค้างจ่ายค่าจ้าง ค้างจ่ายเงินพิจารณาผลการปฏิบัติงานการเลื่อนขั้นประจำปี รวมถึงค่าเสียหายกรณีไม่ได้ปรับเงินขึ้นร้อยละ ๔ ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อให้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ตามมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายเสรี ขวัญเมือง ที่ ๑ กับพวกรวม ๒๐๕ คน โจทก์ องค์การฟอกหนัง ที่ ๑ กระทรวงกลาโหม ที่ ๒ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน
??

??

??

??

Share