แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑/๒๕๕๐
วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)
ศาลจังหวัดอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๘ นายสรศักดิ์ ตั้งทวีสิน หรือตั้งบัณฑิต โจทก์ ได้ยื่นฟ้อง บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๒๓๔/๒๕๔๘ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๐ และ๔๗๕๑ ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไว้กับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อค้ำประกันหนี้เงินกู้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงเลื่อยจักรสรศักดิ์ ต่อมาธนาคารฯ ได้ฟ้องบังคับชำระหนี้ ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานี คดีหมายเลขแดงที่ ๑๙๘๐/๒๕๔๕ หนี้ดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพโอนให้จำเลยที่ ๑ บริหารโดยไม่ได้กระทำโดยคณะกรรมการของฝ่ายผู้โอนและผู้รับโอน ต่อมาศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมตามคำร้องของจำเลยที่ ๑ จากนั้นจำเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไปเป็นของจำเลยที่ ๑ โดยไม่มีหนังสือบอกกล่าวให้ลูกหนี้และโจทก์ชำระหนี้ภายในเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้รับหนังสือบอกกล่าว ทั้งไม่ได้ระบุว่าหากไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด จำเลยที่ ๑ จะบังคับชำระหนี้ในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ การจำหน่ายสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน จำเลยที่ ๑ ต้องดำเนินการโดยวิธีขายทอดตลาด แต่ถ้าจำเลยที่ ๑ เห็นว่าการจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์กับจำเลยที่ ๑ และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ได้แสดงเหตุผลว่าการจำหน่ายสินทรัพย์โดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาดจะเป็นประโยชน์ต่อจำเลยที่ ๑ และลูกหนี้กว่าการขายทอดตลาดอย่างไรบ้าง ซึ่งขัดต่อพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ เมื่อจำเลยที่ ๑ ขอสวมสิทธิแล้วจะต้องใช้สิทธิบังคับจำนองในคดีเดิม ไม่มีสิทธิบังคับจำนองตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่จำเลยทั้งสามได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๐ และเลขที่ ๔๗๕๑ ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างไปเป็นของจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนเพิกถอนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวให้เสร็จภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๑ รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของโจทก์มาโดยชอบด้วยกฎหมาย และได้ดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันดังกล่าว โดยการนำออกขายทอดตลาดเป็นไปโดยชอบด้วยพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ การรับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์หลักประกันดังกล่าวมาเป็นของจำเลยที่ ๑ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์หลักประกันดังกล่าวของจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๓ ให้แก่จำเลยที่ ๑ ตามคำขอรับโอนกรรมสิทธิ์หลักประกันของจำเลยที่ ๑ ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ประมวลกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวงกำหนด ขอให้ยกฟ้อง จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสาม จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินตามฟ้องไปเป็นของจำเลยที่ ๑ โดยไม่ชอบด้วยพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ ขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ดังกล่าวนั้น เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๑ มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๕ ถือเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่จำเลยที่ ๑ ขอสวมสิทธิเป็นโจทก์แล้วจดทะเบียนโอนทรัพย์สินตามฟ้องเป็นของจำเลยที่ ๑ เป็นนิติกรรมที่มิได้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้เอกสิทธิแก่จำเลยที่ ๑ เป็นพิเศษให้มีสถานะเหนือกว่าเอกชนโดยทั่วไปในการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เพราะจำเลยที่ ๑ สามารถจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันโดยวิธีอื่นนอกเหนือจากการขายทอดตลาดได้ โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองกระทำโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) ศาลปกครองนครราชสีมาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า การที่จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ร่วมกันจดทะเบียนนิติกรรมโอนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๒๕๐ และเลขที่ ๔๗๕๑ ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ ๑ ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่จำเลยทั้งสามกระทำการร่วมกันในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวไปเป็นของจำเลยที่ ๑ แม้ว่าจำเลยทั้งสามจะเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ตาม แต่การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินทั้งสองแปลงที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนด ทั้งนี้ เพื่อให้มีข้อมูลที่บุคคลทั่วไปสามารถตรวจสอบถึงความถูกต้องและเชื่อถือได้ของข้อเท็จจริงที่มีอยู่ การดำเนินการเพื่อจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของจำเลยทั้งสามเป็นการกระทำที่ไม่ได้มีการใช้อำนาจทางปกครอง กรณีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย ตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ศาลปกครองจะกำหนดคำบังคับให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน กรณีจึงเป็นเรื่องพิพาทอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๕๐ และ๔๗๕๑ ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อค้ำประกันหนี้เงินกู้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงเลื่อยจักรสรศักดิ์ ธนาคารฯ ฟ้องบังคับชำระหนี้ ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานี คดีหมายเลขแดงที่ ๑๙๘๐/๒๕๔๕ หนี้ดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โอนให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย จำเลยที่ ๑ บริหารโดยไม่ได้กระทำโดยคณะกรรมการของฝ่ายผู้โอนและผู้รับโอน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมตามคำร้อง จากนั้นจำเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ไปเป็นของจำเลยที่ ๑ โดยขัดต่อพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ เมื่อจำเลยที่ ๑ ขอสวมสิทธิแล้วจะต้องใช้สิทธิบังคับจำนองในคดีเดิมไม่มีสิทธิบังคับจำนองตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ฯ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่จำเลยทั้งสามได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปเป็นของจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนเพิกถอนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวให้เสร็จภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาส่วนจำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ ๑ รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของโจทก์มาโดยชอบด้วยกฎหมายและได้ดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันดังกล่าวโดยการนำออกขายทอดตลาดเป็นไปโดยชอบด้วยพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ฯ การรับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์หลักประกันดังกล่าวมาเป็นของจำเลยที่ ๑ เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์หลักประกันดังกล่าวของจำเลยที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๓ ให้แก่จำเลยที่ ๑ ตามคำขอรับโอนกรรมสิทธิ์หลักประกันของจำเลยที่ ๑ ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ประมวลกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวงกำหนด ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย จำเลยที่ ๑ จัดตั้งขึ้นตามมาตรา ๕ แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นนิติบุคคลมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น จำเลยที่ ๑ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ ปรับโครงสร้างหนี้ และปรับโครงสร้างกิจการ โดยการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์รวมตลอดทั้งสิทธิอื่นใดเหนือทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันการชำระหนี้สำหรับสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนั้น หรือโดยการใช้มาตรการอื่นใดเพื่อประโยชน์แก่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ อันเป็นการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์แห่งชาติขึ้น เพื่อให้เป็นหน่วยงานของรัฐที่จะทำหน้าที่แก้ไขปัญหาการค้างชำระหนี้ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนให้เป็นไปอย่างรวดเร็วด้วยการรับโอนสินทรัพย์ที่จัดเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาจากสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อนำมาบริหารจัดการตามวิธีการที่กำหนดไว้ และในการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนั้น มาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ บัญญัติว่า “ไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองมาใช้บังคับแก่การดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยตามพระราชกำหนดนี้…” ทั้งพระราชกำหนดฉบับนี้ก็กำหนดให้การดำเนินการเกี่ยวกับการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ถือเป็นกระบวนการส่วนหนึ่งของการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพด้วย ดังที่บัญญัติไว้ในหมวด ๔ ส่วนที่ ๓ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ ๑ รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรายนี้มาจากสถาบันการเงิน แล้วดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพดังกล่าวโดยการนำออกขายทอดตลาดแต่ไม่มีผู้ใดประมูลเข้าสู้ราคา จำเลยที่ ๑ จึงพิจารณารับโอนกรรมสิทธิ์หลักประกันดังกล่าวไว้เอง อันเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๑ ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๔ ส่วนที่ ๓ ของพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ เมื่อเกิดข้อพิพาทอันสืบเนื่องมาจากการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพดังกล่าวขึ้น ย่อมไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดฉบับเดียวกันนี้ ทั้งการที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์หลักประกันของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๑ นั้น ก็เป็นการดำเนินการอันสืบเนื่องมาจากการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง นายสรศักดิ์ ตั้งทวีสิน หรือตั้งบัณฑิต โจทก์ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สาขาวารินชำราบ ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปัญญา ถนอมรอด (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายปัญญา ถนอมรอด) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
??
??
??
??
๖