คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2370/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยลงโทษปรับสถานเดียว คดีของจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เงินที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 นำเช็คแลกเงินสดทั้งสองฉบับเป็นเงินที่โจทก์มีอำนาจใช้สอยได้ บิดาโจทก์มอบให้โจทก์ไว้โดยเสน่หาเป็นเงินสดส่วนตัวของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คแล้วจำเลยฎีกาว่าการรับแลกเช็คคดีนี้เป็นการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2โดยเอาเช็คจำเลยที่ 1 เป็นประกันโดยมิชอบ โจทก์รับแลกเช็คแทนบิดามารดาโจทก์ และจำเลยที่ 2 ร่วมกับนายทองเจือ ปลอมเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามตามกฎหมาย เช็คพิพาทเป็นเช็คของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการในขณะนั้นลงชื่อโดยถูกต้องแต่ลายมือชื่อที่ลงร่วมด้วยไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 นำเช็คพิพาทมาแลกเงินสดจากโจทก์ การสั่งจ่ายเช็คของห้างจำเลยที่ 1นี้เป็นเรื่องระหว่างธนาคารตามเช็คกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคล การกระทำของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้กระทำแทน เมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยเหตุผลว่าไม่มีเงินในบัญชีพึงให้ใช้เงินตามเช็คกรณีก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องส่วนลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นลายมือชื่อปลอม ไม่เหมือนกับตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคารนั้น ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ใดปลอมขึ้น แต่ก็ย่อมเห็นเจตนาได้ว่าเป็นการปลอมขึ้นเพื่อให้เหมือนตัวอย่าง ลายมือชื่อที่จำเลยที่ 3 ให้ไว้แก่ธนาคารและตามข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับธนาคารซึ่งโจทก์เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ร่วมรู้เห็นด้วย ดังนี้ แม้ลายมือชื่อจำเลยที่ 3 จะเป็นลายมือชื่อปลอมก็มีผลเพียงทำให้คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำผิดไม่มีผลให้การกระทำในส่วนของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ที่เป็นความผิดตามฟ้องแล้วเปลี่ยนแปลงไป.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 และผู้มีชื่อได้นำเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาลำนารายณ์ มาแลกเงินสดไปจากโจทก์เช็คดังกล่าวเป็นเช็คฉบับลงวันที่ 3 ธันวาคม 2528 จำนวนเงิน 230,580บาท ฉบับหนึ่ง และเป็นเช็คฉบับลงวันที่ 21 ธันวาคม 2528 จำนวนเงิน80,000 บาท อีกฉบับหนึ่ง เช็คทั้งสองฉบับออกในนามห้างจำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันลงลายมือชื่อสั่งจ่าย ต่อมาเมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์นำเข้าบัญชีของโจทก์ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า ยังไม่มีการตกลงกับธนาคาร ทั้งสองฉบับ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการร่วมกันออกเช็คโดยเจตนาที่จะมิให้มีการใช้เงินตามเช็ค ออกเช็คโดยขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชี และหรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 หลบหนี ศาลออกหมายจับและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทเป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 ด้วยจำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรม ซึ่งแม้โจทก์จะอ้างมาตรา 91 มาด้วยก็ตามแต่โจทก์บรรยายฟ้องรวมกันมาเป็นกรรมเดียว จึงลงโทษจำเลยที่ 1 เพียงกรรมเดียวโดยให้วางโทษสำหรับความผิดตามเช็คฉบับแรก พิพากษาว่า จำเลยที่ 1มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2497 มาตรา 3 ให้ปรับห้างจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 30,000 บาทยกฟ้องจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างโดยลงโทษปรับจำเลยที่ 1 สถานเดียว จำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218ในปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาข้อแรกคือ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เงินที่จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 นำเช็คแลกเงินสดทั้งสองฉบับเป็นเงินที่โจทก์มีอำนาจใช้สอยได้ บิดาโจทก์ได้มอบให้โจทก์ไว้โดยเสน่หา เป็นเงินสดส่วนตัวของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็ค การที่จำเลยฎีกาว่าการรับแลกเช็คคดีนี้เป็นการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 โดยเอาเช็คจำเลยที่ 1 เป็นประกันโดยมิชอบ โจทก์รับแลกเช็คแทนบิดามารดาโจทก์ และจำเลยที่ 2 ร่วมกับนายทองเจือปลอมเช็คพิพาทให้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามด้วยบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ต่อไปมีว่า เช็คพิพาทเอกสารหมายจ.3 และ จ.4 เป็นเช็คของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 ลงนามโดยถูกต้องแต่ลายมือชื่อที่ลงร่วมด้วยไม่ใช่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาลำนารายณ์ ฉบับแรกลงวันที่3 ธันวาคม 2528 จำนวนเงิน 230,580 บาท ฉบับที่สองลงวันที่ 21ธันวาคม 2528 จำนวนเงิน 80,000 บาท จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 นำมาแลกเงินสดจากโจทก์ ต่อมาเมื่อเช็คพิพาททั้งสองฉบับถึงกำหนดใช้เงินธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีไม่พอจ่ายเมื่อวันที่3 และ 23 ธันวาคม 2528 ตามลำดับ เช็คพิพาทเป็นเช็คของจำเลยที่ 1มีจำเลยที่ 2 ลงนามโดยถูกต้อง การสั่งจ่ายเช็คของห้างจำเลยที่ 1เป็นเรื่องระหว่างธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาลำนารายณ์ จังหวัดลพบุรีที่จะจ่ายเงินให้ตามเช็คของห้างจำเลยที่ 1 โดยตรงเห็นว่า เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นเช็คของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 นำมาแลกเงินสดจากโจทก์ ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การกระทำของจำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้แสดงออกซึ่งการกระทำแทนข้อเท็จจริงปรากฏว่าเช็คเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 นั้น ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เนื่องจากมีเงินในบัญชีไม่พอจ่ายตามเช็ค แสดงว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 เจตนาออกเช็คพิพาทโดยขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คได้ตามฟ้อง กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 มีเจตนาร่วมกันกระทำผิดตามฟ้อง ส่วนการที่ลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 เป็นลายมือชื่อปลอม ไม่เหมือนกับตัวอย่างที่ให้ไว้แก่ธนาคารนั้นข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ใดปลอมขึ้น แต่ก็ย่อมเห็นเจตนาได้ว่าเป็นการปลอมขึ้นเพื่อให้เหมือนกับตัวอย่างลายมือชื่อที่จำเลยที่ 3ให้ไว้แก่ธนาคาร และตามข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับธนาคารซึ่งโจทก์เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ร่วมรู้เห็นด้วย ดังนี้ แม้ลายมือชื่อของจำเลยที่ 3 จะเป็นลายมือชื่อปลอมก็มีผลเพียงทำให้คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำผิด ไม่มีผลให้การกระทำในส่วนของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ที่เป็นความผิดตามฟ้องแล้วเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน.

Share