คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์โดยมารดาโจทก์เป็นผู้ออกเงินกู้และมอบให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่มารดาโจทก์มีเจตนาช่วยออกเงินกู้แทนโจทก์ โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้จึงมีอำนาจฟ้องบังคับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้และฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันจำนวน 318,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 300,000 บาทนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จ จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1ไม่เคยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ และไม่เคยรับเงินกู้จากโจทก์ลายมือชื่อในสัญญากู้ท้ายฟ้องเป็นลายมือชื่อปลอม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 295,500 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากเงินต้นจำนวนดังกล่าว นับจากวันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2527 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 300,000 บาท อัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายคือร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ไปเรียบร้อยแล้วจากมารดาโจทก์กำหนดใช้เงินคืนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2527 โดยจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกันปรากฏตามหนังสือสัญญากู้และหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามเอกสารหมายจ.1 โดยมารดาโจทก์เป็นผู้ออกเงินกู้ และมอบเงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1รับไป ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ไว้ แม้เงินกู้ที่จำเลยที่ 1รับไป จะเป็นเงินของมารดาโจทก์และมารดาโจทก์เป็นผู้มอบเงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 รับไป ก็เป็นเรื่องที่มารดาโจทก์มีเจตนาช่วยออกเงินกู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นบุตร โจทก์ในฐานะเป็นผู้ให้กู้ จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ และฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกัน”
พิพากษายืน

Share