คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4159/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานมีไม้สักแปรรูปเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (1) ส่วนความผิดฐานมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1) ความผิดทั้งสองฐานอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากกันได้ แม้จำเลยจะมีไม้ของกลางไว้ในครอบครองคราวเดียวกันก็ตาม การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดกฎหมายหลายบทไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 7, 48, 69, 73, 74, 74 จัตวา ริบของกลาง และจ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1), 73 วรรคสอง (1) ฐานมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุก 3 ปี มีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 5 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ริบของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้จ่ายเงินสินบนนำจับนั้น เนื่องจากศาลมิได้ลงโทษปรับจึงให้ยกคำขอส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุก 2 ปี มีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 3 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานมีไม้สักแปรรูปเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคสอง (1) ส่วนความผิดฐานมีไม้สักอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1) ความผิดทั้งสองฐานอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแยกต่างหากจากกันได้แม้จำเลยจะมีไม้ของกลางไว้ในครอบครองคราวเดียวกันก็ตาม การกระทำความผิดของจำเลยตามที่ปรากฏในคำฟ้องจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยฎีกาไม่ ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า การที่จำเลยมีไม้สักแปรรูป จำนวน 10 แผ่น ปริมาตร 0.10 ลูกบาศก์เมตร และไม้สักอันยังมิได้แปรรูป จำนวน 44 ท่อน ปริมาตร 2.27 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ นับเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจโดยไม่รอการลงโทษนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share