แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
สัญญากู้ที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นสัญญาที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์ทั้งสี่เนื่องจากการที่โจทก์ทั้งสี่จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันการที่ ม. กับ บ. ร่วมกันกู้ยืมเงินจากธนาคาร หากโจทก์ทั้งสี่ต้องชำระหนี้แก่ธนาคารแล้ว จำเลยต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามสัญญากู้ ดังนั้น ในขณะที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้ โจทก์ทั้งสี่ยังไม่ได้ชำระหนี้ตามภาระการค้ำประกันแก่ธนาคารอันเนื่องมาจากมูลหนี้ของ ม. กับ บ. ผู้กู้ จำเลยจึงยังไม่มีความรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ดังกล่าว โจทก์ทั้งสี่ไม่มีอำนาจฟ้อง
การที่จำเลยตกลงว่าจำเลยจะไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวแล้วคืนโฉนดนั้นแก่โจทก์ทั้งสี่ภายใน 6 เดือน ไม่เช่นนั้นจำเลยก็จะต้องนำเงินจำนวน 500,000 บาท มอบแก่โจทก์ทั้งสี่เพื่อนำเงินไปไถ่ถอนจำนอง ข้อตกลงดังกล่าวเป็นคำมั่นว่าจะให้ เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 526 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าว และเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 541,666 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ก่อนสืบพยาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์ทั้งสี่และจำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กันยายน 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสี่ ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 41,666 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่สืบพยานโจทก์ทั้งสี่จนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษายืน
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 4 ถึงแก่กรรม นายเงียด เขียวเซ็น ทายาทของโจทก์ที่ 4 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยไว้แล้ว คู่ความมิได้โต้แย้งรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2533 นายมานพ กณะวงศ์ และนางบุญเสริม กณะวงศ์ ได้ร่วมกันทำสัญญากู้ยืมเงินจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 500,000 บาท โดยโจทก์ทั้งสี่ได้ทำสัญญาค้ำประกันและจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดที่ 722 ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ของโจทก์ทั้งสี่เป็นประกันหนี้ ต่อมาจำเลยมอบโฉนดที่ดินของจำเลยเลขที่ 10019 และ 10020 ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ให้โจทก์ที่ยึดถือเป็นประกันในการที่นายมานพได้จำนองที่ดินของโจทก์ทั้งสี่และจำเลยได้ทำสัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.1 ในเอกสารหมายเลขแดงที่ 550/2538 ของศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่ว่า โจทก์ทั้งสี่มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ทั้งสี่ยืนยันว่า เมื่อโจทก์ทั้งสี่จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ของนายมานพให้ไว้แก่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) แล้ว จำเลยมอบโฉนดที่ดินของจำเลยเลขที่ 10019 และ 10020 ให้โจทก์ทั้งสี่ยึดถือไว้และทำสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 550/2538 ของศาลชั้นต้นให้แก่โจทก์ทั้งสี่ โดยจำเลยขอเวลา 6 เดือน จะไถ่ถอนจำนองแล้วคืนโฉนดที่ดินให้โจทก์ทั้งสี่ แต่เมื่อครบกำหนดแล้วจำเลยไม่คืนโฉนดแก่โจทก์ทั้งสี่ เห็นว่า สัญญากู้ที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นสัญญาที่จำเลยทำให้ไว้แก่โจทก์ทั้งสี่เนื่องจากการที่โจทก์ทั้งสี่จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันการที่นายมานพกับนางบุญเสริมร่วมกันกู้ยืมเงินจากธนาคาร หากโจทก์ทั้งสี่ต้องชำระหนี้แก่ธนาคารแล้วจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามสัญญากู้ โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2535 โดยที่โจทก์ทั้งสี่ยังไม่ได้ชำระหนี้ตามภาระการค้ำประกันกันแก่ธนาคารอันเนื่องจากมูลหนี้ของนายมานพกับนางบุญเสริมผู้กู้ จำเลยจึงยังไม่มีความรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 550/2538 ของศาลชั้นต้น ดังนั้น ในขณะที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยคดีนี้ โจทก์ทั้งสี่ยังไม่มีอำนาจฟ้อง ที่โจทก์ทั้งสี่ฎีกาว่า คดีของโจทก์ทั้งสี่มิใช่เรื่องที่โจทก์ทั้งสี่ไล่เบี้ย แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสี่ต้องนำเงินจำนวน 500,000 บาท จากจำเลยไปไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 722 จากธนาคาร เนื่องจากจำเลยตกลงว่าจำเลยจะไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวแล้วคืนโฉนดนั้นแก่โจทก์ทั้งสี่ภายใน 6 เดือน ไม่เช่นนั้นจำเลยก็จะต้องนำเงินจำนวน 500,000 บาท มอบแก่โจทก์ทั้งสี่เพื่อโจทก์ทั้งสี่นำเงินไปไถ่ถอนจำนอง จึงเป็นเรื่องฟ้องขอให้จำเลยทำตามสัญญา เห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นคำมั่นว่าจะให้ เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 526 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าว และเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และคำพิพากษาฎีกาที่ 1671/2505, 1098/2507, 922/2508 และ 1439/2529 ที่โจทก์ทั้งสี่อ้างมีข้อเท็จจริงของแต่ละคดีไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ที่ศาลอุทธรร์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน