คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5949/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนและแม้ผู้เป็นหุ้นส่วนจะออกจากหุ้นส่วนไปแล้ว ก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะได้ออกจากหุ้นส่วนไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1051,1052 โจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารแก่จำเลยที่ 4 ก่อน 3 วัน แต่เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87(2).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 4ในระหว่างที่เกิดมูลคดีนี้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยที่ 2 หรือจำเลยที่ 3 และประทับตราของห้างจำเลยที่ 1 กระทำการแทนห้างจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 5 เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด แต่ได้สอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างจำเลยที่ 1 ในทางการค้าขายของห้างจำเลยที่ 1 เมื่อระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม 2527 ถึงวันที่ 20กันยายน 2527 จำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสินค้าประเภทผ้าย้อมไปจากโจทก์รวม 10 ครั้ง คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 1,014,819.98 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระราคาสินค้าให้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 24พฤศจิกายน 2527 จำเลยที่ 5 ได้เข้าดำเนินกิจการของห้างจำเลยที่ 1ได้นำผ้าย้อมในงวดสุดท้ายส่วนที่ยังไม่ได้ตัดมาคืนให้โจทก์คิดเป็นเงินจำนวน 774,677.76 บาท ซึ่งโจทก์คิดค่าเสียหายในส่วนผ้าย้อมที่ได้คืนมาร้อยละ 10 จำเลยที่ 1 จึงมีหนี้ค้างชำระแก่โจทก์จำนวนทั้งสิ้น 317,610 บาท ขอให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน 335,258 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้สั่งซื้อสินค้าประเภทผ้าย้อมตามฟ้องไปจากโจทก์ และไม่เคยได้รับสินค้าดังกล่าว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่าเคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2527 ถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2527 และได้ขอถอนตัวออกจากห้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2527แล้ว จำเลยที่ 1 จะทำการซื้อสินค้าจากโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 4ไม่ทราบ แต่ในขณะที่จำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 ไม่เคยซื้อสินค้าจากโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในส่วนผ้าที่ได้คืนมาในอัตราร้อยละ10 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 ทั้งฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 ไม่ได้สอดเข้าดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 5 เพียงแต่ได้ทำการโดยสุจริตโดยลงลายมือชื่อส่งคืนผ้าให้แก่โจทก์เพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด ทั้งการกระทำของจำเลยที่ 5 ก็ไม่ได้ก่อให้เกิดภาระผูกพันให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงินจำนวน317,610 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ส่วนจำเลยที่ 4 เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการระหว่างวันที่ 13 กันยายน 2527 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม2527 จำเลยที่ 5 เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด จำเลยที่ 1ประกอบธุรกิจผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป และเคยสั่งผ้าตัวอย่างจากโจทก์มาเพื่อผลิตเสื้อตัวอย่างจำหน่าย จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าผ้าให้โจทก์ ภายหลังจำเลยที่ 1 นำมาคืนโจทก์บางส่วน…จำเลยที่ 4 ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 4 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 4 ให้การว่า เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2527ถึง 3 ตุลาคม 2527 เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ขอกู้เงินจากจำเลยที่ 4 จึงให้จำเลยที่ 4 ร่วมเป็นผู้จัดการด้วยเพื่อขอรับเงินจากใบสั่งสินค้าโดยผ่านทางธนาคารในประเทศ หลังจากนั้นจำเลยที่ 4 ได้ขอถอนตัวออกจากห้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 4อ้างว่าการซื้อขายดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 4เข้ามาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแต่อย่างใด ความข้อนี้โจทก์มีพยานคือนางวรธิดา เกาสละ ซึ่งเคยทำงานในห้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2527 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2527 มีหน้าที่ติดต่อสั่งซื้อสินค้าและส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 เคยสั่งผ้าจากบริษัทโจทก์ โดยจำเลยที่ 2เป็นคนสั่งให้พยานเป็นคนสั่งผ้าจากบริษัทโจทก์รวมทั้งหมด 10 ครั้งเริ่มส่งของครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2527 ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2527 ยังไม่ได้ชำระราคา ปรากฏตามสำเนาบิลส่งของเอกสารหมาย จ.16 ซึ่งสอดคล้องกับพยานโจทก์อีกคนหนึ่งคือ นายบุญโฮม ปัญญา ซึ่งทำงานอยู่บริษัทโจทก์ได้เบิกความยืนยันว่า พยานเคยนำสินค้าผ้าไปส่งให้ห้างจำเลยที่ 1 ประมาณ2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2527 ฝ่ายจำเลยมีนางวรธิดา เป็นผู้รับของ พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้ว่าขณะจำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์นั้นจำเลยที่ 4ได้เข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 1 และเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในหนี้ใด ๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วน และแม้ผู้เป็นหุ้นส่วนออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะได้ออกจากหุ้นส่วนไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1051 และมาตรา 1052 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อผ้าไปจากโจทก์จริง จำเลยที่ 4 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ที่จำเลยที่ 4ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายร้อยละ 10 เป็นเงิน77,467.77 บาทนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 คืนผ้าย้อมที่สั่งซื้อให้แก่โจทก์ โจทก์นำไปขายต่อได้ราคาต่ำลง 77,467.77 บาท เพราะเป็นสินค้าเหลือ จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดในเงินจำนวนนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฎีกาจำเลยที่ 4ข้อสุดท้ายว่าโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารหมาย จ.16 แก่จำเลยที่ 4ก่อน 3 วันนั้นเห็นว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) ฎีกาจำเลยที่ 4 ทุกข้อฟังไม่ขึ้นศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน.

Share