คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7458/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นผู้เยาว์เป็นบุตรของนางด. กับนายป. ผู้ตาย ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และผู้ตายก็ไม่ได้จดทะเบียนรับรองว่าโจทก์เป็นบุตรนายป. เพียงแต่ให้ใช้นามสกุลและให้การอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564บิดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ส่วนบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตามมาตรา 1627 บัญญัติให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีผลให้เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 เท่านั้นเมื่อนายป. ผู้ตายไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยผู้กระทำละเมิดเป็นเหตุให้นาย ป. ถึงแก่ความตาย กรณีดังกล่าวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ในเรื่องครอบครัวได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 4มาใช้บังคับไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่าจำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกหกล้อ ซึ่งนายประสิทธิ์ แป้นทอง บิดาโจทก์ทั้งสามเป็นผู้ขับ เป็นเหตุให้นายประสิทธิ์ถึงแก่ความตาย โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้เยาว์ขาดไร้อุปการะเลี้ยงดู จึงขอคิดค่าขาดไร้อุปการะเลี้ยงดูเป็นเงิน 1,500,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม

จำเลยให้การว่า นายประสิทธิ์กับนางดวงจันทร์ บุญสุขหรือแป้นทองบิดาและมารดาโจทก์ทั้งสามไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน นายประสิทธิ์ไม่ได้จดทะเบียนรับรองว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรและไม่มีคำพิพากษาของศาลที่แสดงว่าโจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของนายประสิทธิ์ ขอให้ยกฟ้อง

ในวันนัดสืบพยานโจทก์ทั้งสาม ศาลชั้นต้นบุญสุขหรือแป้นทองมารดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ทั้งสามได้ความว่า นางดวงจันทร์กับนายประสิทธิ์ แป้นทอง ผู้ตายไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันและนายประสิทธิ์ไม่เคยจดทะเบียนรับรองว่าโจทก์ทั้งสามเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงแต่ให้การรับรองโดยพฤตินัย ให้ใช้นามสกุลและให้การอุปการะเลี้ยงดูเท่านั้น ศาลชั้นต้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความเพียงพอต่อการวินิจฉัยจึงให้งดสืบพยานโจทก์ทั้งสามและพยานจำเลย

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นผู้เยาว์เป็นบุตรของนางดวงจันทร์ บุญสุขหรือแป้นทอง กับนายประสิทธิ์ แป้นทอง ผู้ตาย ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน และผู้ตายก็ไม่ได้จดทะเบียนรับรองว่าโจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของตนเพียงแต่ให้ใช้นามสกุลและให้การอุปการะเลี้ยงดู คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564บิดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ส่วนบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627บัญญัติให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีผลให้เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 เท่านั้นเมื่อนายประสิทธิ์ผู้ตายไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะจากจำเลยทั้งกรณีดังกล่าวประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ในเรื่องครอบครัวก็ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้ว ดังนั้น จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 มาใช้บังคับไม่ได้ ส่วนที่โจทก์ทั้งสามฎีกาอ้างบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมานั้น เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลเท่านั้นส่วนการพิจารณาพิพากษาคดีต่าง ๆ ย่อมต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ”

พิพากษายืน

Share