แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินทุนสะสมไม่ใช่เงินที่หักจากเงินเดือนของโจทก์แต่เป็นเงินที่ธนาคาร ฯ จำเลยจ่ายเข้าบัญชีเงินทุนสะสมของโจทก์ตามระเบียบของธนาคาร ฯ ธนาคาร ฯ จำเลยให้โจทก์ซื้อหุ้นของธนาคาร ฯ จำเลยโดยนำเงินทุนสะสมของโจทก์ดังกล่าวชำระเป็นค่าหุ้นโดยมีข้อตกลงในหนังสือส่งมอบใบหุ้นว่าให้ธนาคาร ฯ จำเลยยึดใบหุ้นไว้จนกว่าโจทก์จะพ้นสภาพการเป็นพนักงาน และหากโจทก์ถูกออกจากงานเพราะทุจริตต่อหน้าที่แล้วโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับใบหุ้น ยินยอมให้นำหุ้นทั้งหมดออกจำหน่ายเพื่อนำเงินคืนเงินทุนสะสม ดังนี้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นเงื่อนไขของการได้สิทธิในหุ้นประการหนึ่งที่มีผลใช้บังคับได้ หาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการสาขานครปฐม ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยกล่าวหาว่าโจทก์ปฏิบัติผิดวินัยธนาคารกรณีร้ายแรง ซึ่งไม่มีมูลความจริง จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ รับโจทก์กลังเข้าทำงาน หากจำเลยที่ ๑ ไม่อาจรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าเสียหายที่ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าทำงานวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งหกให้การว่า จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์ด้วยการไล่ออกเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่มิชอบ โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้างฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานฯ ของจำเลยที่ ๑ อันเป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรงคือ ขณะโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขานครปฐมได้ทุจริตใช้อำนาจหน้าที่การงานเอาเงินสดของจำเลยที่ ๑ ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวจำเลยสอบสวนแล้วเห็นว่าโจทก์ผิดจริง จำเลยที่ ๑ จึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ไม่ใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและเงินอื่น ๆ ตามฟ้อง เงินทวุนสะสมและหุ้นตามฟ้องโจทก์ไม่มีสิทธิจะได้รับตามระเบียบของจำเลยที่ ๑ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีพฤติการณ์เป็นการทุจริตต่อหน้าที่เป็นความผิดตามระเบียบฯ ของจำเลยที่ ๑ การที่จำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและเงินใด ๆ ทั้งสิ้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า เงินค่าหุ้นเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ธนาคารจำเลยไม่อาจนำออกจำหน่าย หากจำหน่ายแล้วต้องคืนเงินให้โจทก์ เพราะสัญญาเอกสารหมาย ล.๒ ข้อ ๓ ที่ว่า “หากโจทก์ต้องออกจากธนาคารเพราะเหตุดังระบุไว้ในระเบียบปฏิบัติของธนาคาร ภาค ๙ ว่าด้วยสวัสดิการพนักงาน ส่วนที่ ๓ เงินทุนสะสมของพนักงาน ข้อ ๓.๓.๒ (๒) หรือ (๓) โจทก์ยินยอมให้ผู้จัดการฝ่ายการพนักงานของธนาคารนำหุ้นทั้งหมดออกจำหน่ายเพื่อนำเงินคืนเงินทุนสะสม ซึ่งโจทก์ไม่มีสิทธิจะได้รับ ทั้งนี้ โดยโจทก์ไม่ขอรับค่าตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น” นั้น ไม่อาจบังคับได้ เพราะมีวัตถุประสงค์หรือเงื่อนไขที่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เนื่องจากข้อสัญญาดังกล่าวเป็นการบีบบังคับเอาทรัพย์สินของโจทก์โดยไม่เป็นธรรมพิเคราะห์แล้ว ได้ความว่าเงินทุนสะสมไม่ใช่เงินที่หักจากเงินเดือนของโจทก์แต่เป็นเงินที่ธนาคารฯ จำเลยจ่ายเข้าบัญชีเงินสะสมของโจทก์ตามระเบียบของธนาคารฯ และตามหนังสือส่งมอบใบหุ้น เอกสารหมาย ล.๒ จำเลยให้โจทก์ได้ซื้อหุ้นของธนาคารฯ จำเลยดังกล่าวโดยนำเงินทุนสะสมของโจทก์ชำระเป็นค่าหุ้นและมีข้อตกลงว่าให้ธนาคารฯ จำเลยยึดใบหุ้นไว้จนกว่าโจทก์จะพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานของธนาคารฯ กับมีข้อตกลงในข้อ ๓ มีเนื้อความดังอุทธรณ์ของโจทก์ ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับระเบียบปฏิบัติงานธุรการ ภาค ๙ ว่าด้วยสวัสดิการพนักงานส่วนที่ ๓ เงินทุนสะสมของพนักงาน ข้อ ๓.๓.๒ (๒) แล้วหมายความว่า หากโจทก์ถูกออกจากงานเพราะทุจริตต่อหน้าที่แล้ว โจทก์จะไม่มีสิทธิในหุ้นดังกล่าวอีกต่อไป ดังนี้ เห็นว่า ข้อตกลงข้อ ๓ ของสัญญาเอกสารหมาย ล.๒ จึงเป็นเงื่อนไขของการได้สิทธิในหุ้นประการหนึ่งที่มีผลใช้บังคับได้ หาเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนดังที่โจทก์อุทธรณ์ไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน