แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76 ที่กำหนดเงินค่าทดแทนราคาของทรัพย์สินตามราคาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น ไม่มีบทบัญญัติให้นำเอาราคาที่ซื้อขายก่อนและหลังวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับที่สุดมาประกอบกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการซื้อขายที่ดินที่ถูกเวนคืนกันในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ จึงต้องกำหนดเงินค่าทดแทนโดยใช้ตามประกาศราคาปานกลางของที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่เพื่อให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นเอกชนเสียภาษีบำรุงท้องที่มาเป็นเกณฑ์กำหนดเงินค่าทดแทน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินของโจทก์ให้โจทก์ 21,771,798.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีของยอดเงิน 15,489,052 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสามให้การว่า ในการกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนนั้นคณะกรรมการปรองดองได้พิจารณาถึงราคาซื้อขายที่ดินบริเวณใกล้เคียงราคาปานกลางของที่ดินเพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่ ราคาประเมินที่ดินตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม โดยพิจารณาประกอบกับสภาพและทำเลของที่ดินโจทก์และราคาที่ดินที่โจทก์ซื้อมากล่าวคือ ที่ดินทั้งสี่โฉนดโจทก์ซื้อมาในราคาเฉลี่ยตารางวาละ215 บาท คณะกรรมการปรองดองจึงได้กำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์โดยเฉลี่ยราคาตารางวาละ 336.25 บาท นับว่าเป็นราคาสูงกว่าที่โจทก์ซื้อมามาก ดังนั้น จึงเป็นราคาที่เป็นธรรมและเป็นราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับแล้ว ที่ดินของโจทก์มิได้อยู่ใกล้ตัวเมือง เป็นทุ่งนาว่างเปล่า และมิได้อยู่ติดถนนสายพระปิ่นเกล้า-นครชัยศรี เพราะในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับถนนดังกล่าวยังไม่ได้สร้าง ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 76 บัญญัติให้เอาราคาที่ดินที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ซึ่งวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับที่ดินบริเวณใกล้เคียงที่ดินของโจทก์ทั้งสี่โฉนดไม่มีการซื้อขายจึงต้องหาราคาที่ดินที่ซื้อขายกันก่อนและหลังวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับที่สุดมาประกอบกัน เพื่อนำมาเปรียบเทียบพิจารณาดูว่าในวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับราคาที่ดิน (ค่าทดแทน) ควรจะเป็นตารางวาละ1,500 บาท คณะกรรมการปรองดองกำหนดค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ300 บาท และ 445 บาท จึงไม่เป็นธรรม ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้โจทก์ตารางวาละ 1,500 บาท จำเลยทั้งสามจะต้องจ่ายค่าทดแทนพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้โจทก์ตามฟ้องจึงจะเป็นธรรมนั้น เห็นว่าตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76 บัญญัติว่า เงินค่าทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งออกตามข้อ 63 แล้ว ให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้ ฯลฯ (2)ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น ฯลฯ ซึ่งหมายความว่า ให้กำหนดเท่าราคาของที่ดินตามราคาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้นเท่านั้น ซึ่งที่ดินของโจทก์ที่ถูกเวนคืนได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายพระประแดง-บางแคลาดบัวหลวง-สุพรรณบุรี ตอนตลิ่งชัน-บางบัวทอง พ.ศ. 2521ใช้บังคับ โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 95ตอนที่ 99 วันที่ 21 กันยายน 2521 ตามเอกสารหมาย จ.6 วันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับคือวันที่ 22 กันยายน 2521 ไม่มีบทบัญญัติให้นำเอาราคาที่ซื้อขายก่อนและหลังวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับวันที่พระราชกฤษฎีกาใช้บังคับที่สุดมาประกอบกันดังที่โจทก์ฎีกา เมื่อไม่ปรากฏว่าได้มีการซื้อขายกันในวันที่ 22 กันยายน 2521 จึงต้องกำหนดค่าทดแทนโดยใช้ตามประกาศราคาปานกลางของที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ประกาศลงวันที่ 5 ตุลาคม 2520ให้ใช้เป็นราคาปานกลางตั้งแต่ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2521 เป็นต้นไปเป็นเวลาสี่ปี เพื่อให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นเอกชนเสียภาษีบำรุงท้องที่ในท้องที่แขวงต่าง ๆ รวม 8 แขวง ในเขตตลิ่งชันตามเอกสารหมาย ล.7 มาเป็นเกณฑ์กำหนดค่าทดแทน ซึ่งแขวงฉิมพลีที่ดินจากคลองบัวถึงถนนพุทธมณฑลสาย 2 ราคาปานกลางไร่ละ60,000 บาท หรือเท่ากับตารางวาละ 150 บาท ได้ความตามคำเบิกความของพยานจำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการปรองดองที่เป็นคนไปตรวจสภาพที่ดินของโจทก์ว่า ที่ดินทั้งสี่โฉนดของโจทก์เป็นนาร้างหญ้าขึ้นปกคลุมหมดไม่สามารถทำนาได้ เนื่องจากบริเวณใกล้เคียงไม่มีใครทำนา หากทำนาหนูจะกินข้าวหมด ราคาประเมินต่ำมากตารางวาละไม่เกิน 100 บาทที่ดินทั้งสี่โฉนดของโจทก์อยู่ห่างถนนจรัลสนิทวงศ์ประมาณ9 กิโลเมตร รถยนต์เข้าไม่ได้ และไม่ได้เป็นที่จัดสรร คณะกรรมการปรองดองกำหนดราคาทดแทนให้ตารางวาละ 300 บาท 3 แปลง และ445 บาท 1 แปลง ศาลฎีกาเห็นว่า เป็นราคาที่เป็นธรรมแล้ว เพราะยังสูงกว่าราคาปานกลางถึงตารางวาละ 150 บาท 3 แปลง และ 295บาท 1 แปลง หรือจะคิดในราคาเฉลี่ย โจทก์ซื้อมาราคาเฉลี่ยตารางวาละ215 บาท คณะกรรมการปรองดองกำหนดราคาเฉลี่ยให้ตารางวาละ 336 บาทก็ยังสูงกว่าที่โจทก์ซื้อมาตารางวาละ 121 บาท ดังนั้น ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่ใด เงินค่าทดแทนที่ดินที่คณะกรรมการปรองดองกำหนดให้โจทก์ล้วนเป็นราคาที่เป็นธรรมแล้วทั้งสิ้นทั้งปรากฏว่านางสุวรรณโรจนานนท์ เด็กชายทองเติม กิ่งแก้วห้อย นายเจริญ สุขล้อมเจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่ถูกเวนคืนพร้อมกับที่ดิน โจทก์ก็ได้ค่าทดแทนตารางวาละ 300 บาทเศษ ต่างก็พอใจตามบันทึกการรับเงินเอกสารหมายล.19, ล.20 และ ล.21 ส่วนที่คณะกรรมการปรองดองได้กำหนดค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินบางรายที่ถูกเวนคืนด้วยกันในราคาตารางวาละ800 บาท และ 1,000 บาท นั้น ก็ปรากฏว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงย่อยแปลงละไม่ถึง 100 ตารางวา ซึ่งเป็นที่จัดสรรได้มีการปรับปรุงที่ดิน ทำถนนเข้าถึง และอยู่ใกล้ถนนสุขาภิบาลบางรายก็อยู่คนละหน่วยกับที่ดินของโจทก์ และเจ้าของที่ดินมีหลักฐานการซื้อขายในราคาดังกล่าวมาแสดงต่อคณะกรรมการปรองดองจึงไม่เป็นการลักลั่นกัน แต่เป็นการเหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว ซึ่งในกรณีพิเศษจากกรณีของโจทก์ ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว”
พิพากษายืน