คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4817/2543

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยโต้เถียงกันในประเด็นที่ว่าจะนำค่าเช่าที่ระบุในสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับผู้ให้เช่ามาถือเป็นค่ารายปีได้หรือไม่มิได้โต้เถียงกันเกี่ยวกับรายรับรายจ่ายของสถานีบริการน้ำมันของโจทก์เอกสารบัญชีรายรับรายจ่ายเกี่ยวกับสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ที่จำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นพิพาท
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เงินที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัท พ. และบริษัท ร. มิใช่ค่าเช่าที่ดินอย่างเดียว หากแต่เป็นเงินค่าสิทธิที่โจทก์จะซื้อที่ดินในภายหน้าในราคาต่ำด้วย ที่จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวมากำหนดเป็นค่ารายปีเป็นการไม่ถูกต้องขอให้แก้ไขใบแจ้งการประเมินคำฟ้องของโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัด ซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาซึ่งจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้วโจทก์ไม่จำต้องบรรยายคำฟ้องด้วยว่า ค่าเช่าจำนวนเท่าใด ค่าสิทธิ ที่จะซื้อที่ดินในราคาต่ำจำนวนเท่าใด คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ไม่เคลือบคลุม
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 วรรคสามหาได้ให้ถือว่าค่าเช่าเป็นค่ารายปีโดยเด็ดขาดไม่ เพราะค่ารายปีหมายความว่าจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 8 วรรคสอง หากค่าเช่ามิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของ ทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้น ได้รับประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ตามมาตรา 8 วรรคสาม การนำสืบว่า ค่าเช่าตามสัญญาเช่าที่ดินรวมค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินในภายหน้าในราคาต่ำจึงหาต้องห้ามไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าค่าเช่าในสัญญาเช่าที่ดินรวม ค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินในภายหน้าในราคาต่ำไว้ด้วย การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ กำหนดค่ารายปีโดยใช้ค่าเช่าตามสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวเป็นหลักในการคำนวณ โดยมิได้พิจารณาถึงค่าเช่าที่แท้จริงจึงไม่ชอบ
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 ให้นำ ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณภาษี ซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาเท่านั้นมิได้บังคับว่าจะต้องนำมาคำนวณภาษีโดยไม่อาจเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ค่าเช่าซึ่งรวมค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินไว้ด้วยเป็นหลักในการคำนวณอันเป็นการไม่ชอบจึงไม่อาจนำค่ารายปีดังกล่าวมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณภาษีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า พนักงานเก็บภาษีเขตบางกะปิได้แจ้งการประเมินค่ารายปีสำหรับโรงเรือนและที่ดินซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันของโจทก์เลขที่ 41 ถนนสุขาภิบาล 1 แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานครประจำปีภาษี 2540 และ 2541 ตามลำดับ เป็นเงินปีละ 14,008,200 บาทพร้อมกับแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีปีละ 1,751,025 บาท และพนักงานเก็บภาษีเขตดอนเมืองได้แจ้งการประเมินค่ารายปีสำหรับโรงเรือนและที่ดินซึ่งเป็นสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ เลขที่ 179/123 ถนนพหลโยธินแขวงตลาดบางเขน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ประจำปีภาษี 2540จำนวน 1,762,860 บาท พร้อมกับแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีจำนวน220,357.50 บาท โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ต่อผู้ว่าราชการของจำเลยวันที่ 24 สิงหาคม 2541 โจทก์ได้รับแจ้งคำชี้ขาดว่าผู้ว่าราชการของจำเลยชี้ขาดยืนตามการแจ้งประเมิน โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของพนักงานเก็บภาษีและคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการของจำเลยเพราะการนำค่าเช่าที่ดินที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทเพซเซตเตอร์ เอ็นเตอร์ไพรเซสจำกัด และบริษัทร่วมพัฒนาอุตสาหกิจ จำกัด ผู้ให้เช่ามาคำนวณเป็นค่ารายปีเป็นการไม่ชอบและไม่เป็นธรรม เนื่องจากโจทก์มิใช่เป็นผู้รับเงินดังกล่าวทั้งมิใช่เงินที่โจทก์จ่ายเพื่อชำระค่าเช่าที่ดินแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่เป็นเงินที่โจทก์จ่ายเพื่อชำระค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินในภายหน้าในราคาต่ำอีกด้วยจึงไม่อาจนำมาคำนวณเป็นค่ารายปีได้ ค่ารายปีของสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 41 ประจำปีภาษี 2540 ควรเป็นเงินปีละ 1,365,000 บาท ส่วนค่ารายปีประจำปีภาษี 2541 ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่าค่ารายปีประจำปีภาษี 2537 ถึง 2539 ของสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 41 ปีละ 978,000 บาทค่ารายปีที่เป็นธรรมและสมควรกำหนดสำหรับปีภาษี 2541 คือ จำนวน 978,000 บาท คิดเป็นค่าภาษีจำนวน 122,250 บาท สำหรับค่ารายปีของสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 179/123 ค่ารายปีควรเท่ากับ 600,000 บาทคิดเป็นค่าภาษีจำนวน 75,000 บาท ขอให้พิพากษาแก้ไขใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดเล่มที่ 20 เลขที่ 30 และ 29 ลงวันที่ 18โดยกำหนดค่ารายปีใหม่ตามคำฟ้องรวมจำนวน 2,943,000 บาท คิดเป็นค่าภาษีจำนวน 367,875 บาท และให้จำเลยคืนเงินภาษีจำนวน 3,354,532.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์ครบถ้วน

จำเลยให้การว่า ค่าตอบแทนที่โจทก์ชำระให้แก่ผู้ให้เช่าเป็นค่าเช่าไม่ใช่ราคาหรือมูลค่าส่วนหนึ่งของราคาซื้อที่ดินที่เช่าหรือค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินในภายหน้า เพราะไม่แน่นอนว่าโจทก์จะซื้อที่ดินที่เช่าหรือไม่ และข้อตกลงเกี่ยวกับสิทธิในการซื้อที่ดินที่เช่าดังกล่าวเป็นการคบคิดหรือสมยอมกันเพื่อเอื้อประโยชน์แก่โจทก์ในการหลีกเลี่ยงค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยทุจริตเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนคำฟ้องที่ว่าเงินที่โจทก์จ่ายไปมิใช่เพื่อชำระค่าเช่าที่ดินเพียงอย่างเดียวแต่เป็นเงินที่โจทก์จ่ายเพื่อชำระค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินในภายหน้าได้ในราคาต่ำด้วยเป็นคำฟ้องที่มิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา จำเลยไม่อาจเข้าใจว่าเงินที่โจทก์จ่ายไปเป็นจำนวนค่าเช่าเท่าใด ค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินเท่าใด เป็นคำฟ้องเคลือบคลุม พนักงานเก็บภาษีของจำเลยกำหนดค่ารายปีประจำปีภาษี 2540 และ 2541 สำหรับที่ดินและโรงเรือนเลขที่ 41 และเลขที่ 179/123 ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 กับได้เทียบเคียงกับค่ารายปีและซึ่งอยู่ในทำเลใกล้เคียงกันแล้ว ได้ค่ารายปีต่อตารางเมตรใกล้เคียงกัน การกำหนดค่ารายปีและการเรียกเก็บภาษีของพนักงานเก็บภาษีของจำเลยและคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการของจำเลยจึงถูกต้อง โจทก์ได้รับแจ้งคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 21สิงหาคม 2541 แต่มาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2541 ล่วงพ้นกำหนดสามสิบวันจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 3,213,032.50บาท แก่โจทก์ภายในสามเดือนนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนดสามเดือน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 148227 และ 11081 แขวงคลองจั่นเขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร จากบริษัทเพซเซตเตอร์ เอ็นเตอร์ไพรเซสจำกัด มีกำหนดเวลา 30 ปี นับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2534 ค่าเช่าปีละ15,083,200 บาท ตามสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 13 ถึง 17กับทำสัญญาเช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 135659 และ เลขที่ 150496 ตำบลคูคตเขตบางเขน กรุงเทพมหานคร จากบริษัทร่วมพัฒนาอุตสาหกิจ จำกัด มีกำหนดเวลา 30 ปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2533 ค่าเช่าปีละ 1,717,300 บาท ตามสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 18 ถึง 22 โจทก์ปลูกสร้างสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 41 ในที่ดินที่เช่าจากบริษัทเพซเซตเตอร์เอ็นเตอร์ไพรเซส จำกัด และปลูกสร้างสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 179/123ในที่ดินที่เช่าจากบริษัทร่วมพัฒนาอุตสาหกิจ จำกัด แล้วทำสัญญาให้บริษัทพรพันธ์ทวี จำกัด ใช้สิทธิดำเนินการสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 41 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2539 ถึงเดือนกรกฎาคม 2539 ค่าใช้สิทธิเดือนละ 120,000 บาท ตามสัญญาให้ใช้สิทธิดำเนินการสถานีบริการเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 1 ถึง 11กับทำสัญญาให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดทองพันล้านเซอร์วิส ใช้สิทธิดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2539 ถึงเดือนธันวาคม 2539 ค่าใช้สิทธิเดือนละ 105,000 บาทตามสัญญาให้ใช้สิทธิดำเนินการสถานีบริการเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 17ถึง 29 และทำสัญญาให้บริษัทไทย ซี เซ็นเตอร์ จำกัด ใช้สิทธิดำเนินการสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 179/123 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2539 ถึงเดือนธันวาคม 2539 ค่าใช้สิทธิเดือนละ 50,000 บาท โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2540 และ 2541 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดค่ารายปีโดยใช้ค่าเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าที่ดินเป็นหลักในการคำนวณสำหรับสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 41 คิดค่ารายปี ปีละ14,008,200 บาท ค่าภาษีปีละ 1,751,025 บาท ตามใบแจ้งรายการประเมินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 5 และ 6 ส่วนสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 179/123คิดค่ารายปีของปีภาษี 2540 จำนวน 1,762,860 บาท ค่าภาษีจำนวน220,357.50 บาท ตามใบแจ้งรายการประเมินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 7โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่แต่ผู้ว่าราชการของจำเลยมีคำชี้ขาดยืนตามการประเมิน

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกมีว่า สมควรเรียกเอกสารบัญชีรายรับรายจ่ายของโจทก์เกี่ยวกับสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 41และเลขที่ 179/123 ให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า โจทก์จำเลยโต้เถียงกันในประเด็นที่ว่าจะนำค่าเช่าที่ระบุในสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับผู้ให้เช่ามาถือเป็นค่ารายปีได้หรือไม่ มิได้โต้เถียงกันเกี่ยวกับรายรับรายจ่ายของสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ เอกสารที่จำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นพิพาทที่ศาลภาษีอากรกลางไม่ออกคำสั่งเรียกให้ชอบแล้ว

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปมีว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทเพซเซตเตอร์ เอ็นเตอร์ไพรเซส จำกัด และบริษัทร่วมพัฒนาอุตสาหกิจ จำกัด มิใช่ค่าเช่าที่ดินอย่างเดียว หากแต่เป็นเงินค่าสิทธิที่โจทก์จะซื้อที่ดินในภายหน้าในราคาต่ำอีกด้วย ที่จำเลยนำเงินจำนวนดังกล่าวมากำหนดเป็นค่ารายปีเป็นการไม่ถูกต้อง ขอให้แก้ไขใบแจ้งการประเมินคำฟ้องของโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาซึ่งจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้วโจทก์ไม่จำต้องบรรยายคำฟ้องด้วยว่า ค่าเช่าจำนวนเท่าใด ค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินในราคาต่ำจำนวนเท่าใด คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ไม่เคลือบคลุม

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปมีว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยและคำวินิจฉัยชี้ขาดของผู้ว่าราชการของจำเลยชอบหรือไม่ โจทก์มีนายศักดา ศรุตวราพงศ์ เบิกความว่า ค่าเช่าตามสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 13 ถึง 22 รวมค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินในภายหน้าในราคาต่ำไว้ด้วย ซึ่งตามสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าวมีข้อสัญญาว่าผู้ให้เช่ายินยอมให้โจทก์หรือผู้ที่โจทก์ระบุนามมีสิทธิซื้อที่ดินที่เช่าในภายหน้าได้และค่าเช่าที่ระบุไว้ในสัญญาสูงกว่าค่าเช่าของสถานีบริการน้ำมันอื่นที่อยู่บริเวณใกล้เคียง จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 วรรคสาม บัญญัติว่า”ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่า ให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี” ต้องตีความโดยเคร่งครัดไม่อาจนำสืบเป็นอย่างอื่นได้นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวหาได้ให้ถือว่าค่าเช่าเป็นค่ารายปีโดยเด็ดขาดดังจำเลยอุทธรณ์ไม่ เพราะค่ารายปีหมายความว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆตามที่ระบุไว้ในมาตรา 8 วรรคสอง หากค่าเช่ามิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีอำนาจประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ ตามมาตรา 8 วรรคสาม การนำสืบว่าค่าเช่าตามสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 13 ถึง 22 รวมค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินในภายหน้าในราคาต่ำ จึงหาต้องห้ามดังจำเลยอุทธรณ์ไม่

ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่สัญญาเช่าที่ดินมีข้อสัญญาให้สิทธิโจทก์ซื้อที่ดินได้ในภายหน้าในราคาต่ำ เนื่องจากโจทก์กับผู้ให้เช่าคบคิดกันฉ้อฉลเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนั้น เห็นว่า หากโจทก์กับผู้ให้เช่าจะคบคิดกันกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีก็น่าจะใช้วิธีระบุค่าเช่าไว้เป็นจำนวนน้อยกว่าความจริงมากกว่าระบุค่าเช่าไว้จำนวนมากแล้วกำหนดข้อสัญญาให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินเช่นนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าค่าเช่าในสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 13 ถึง 22 รวมค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินในภายหน้าในราคาต่ำไว้ด้วย การที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีโดยใช้ค่าเช่าตามสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 13 ถึง 22เป็นหลักในการคำนวณ ซึ่งค่าเช่าดังกล่าวมีค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินในภายหน้าในราคาต่ำรวมอยู่ด้วย มิได้พิจารณาถึงค่าเช่าที่แท้จริงจึงไม่ชอบ การที่ผู้ว่าราชการของจำเลยมีคำชี้ขาดยืนตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมไม่ชอบด้วย

ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่า สำหรับสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 179/123พนักงานเจ้าหน้าที่ถือค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีประจำปี 2540 ชอบด้วยพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดินพ.ศ. 2475 มาตรา 18 นั้น เห็นว่า ตามบทมาตราดังกล่าวให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมาเท่านั้นมิได้บังคับว่าจะต้องนำมาคำนวณภาษีโดยไม่อาจเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ค่าเช่าซึ่งรวมค่าสิทธิที่จะซื้อที่ดินไว้ด้วยเป็นหลักในการคำนวณอันเป็นการไม่ชอบจึงไม่อาจนำค่ารายปีดังกล่าวมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณภาษีได้

ส่วนปัญหาที่ว่า ค่ารายปีของสถานีบริการน้ำมันของโจทก์ควรเป็นจำนวนเท่าใดนั้น สำหรับสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 41 ศาลภาษีอากรกลางกำหนดค่ารายปีประจำปีภาษี 2540 เท่ากับค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับจากบริษัทพรพันธ์ทวี จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดทองพันล้าน เซอร์วิส ตั้งแต่เดือนมกราคม 2539 ถึงเดือนธันวาคม 2539 รวมจำนวน 1,365,000 บาทซึ่งมีอัตราสูงกว่าค่าเช่าของสถานีบริการน้ำมันอื่นบริเวณใกล้เคียง และกำหนดค่ารายปีประจำปีภาษี 2541 เท่ากับค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับจากห้างหุ้นส่วนจำกัดทองพันล้านเซอร์วิส ตั้งแต่เดือนมกราคม 2540 ถึงเดือนธันวาคม 2540 จำนวน1,260,000 บาท กับกำหนดค่ารายปีของสถานีบริการน้ำมันเลขที่ 179/123โดยเทียบเคียงกับค่าเช่าของสถานีบริการน้ำมันอื่นบริเวณใกล้เคียงแล้วกำหนดค่ารายปีประจำปีภาษี 2540 จำนวน 1,450,000 บาท เป็นจำนวนเงินที่สถานีบริการน้ำมันดังกล่าวสมควรให้เช่าในปีนั้นแล้ว ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ได้รับประโยชน์อย่างอื่นรวมแล้วมากกว่าค่าเช่านั้น เห็นว่า โจทก์จะได้รับประโยชน์อื่นตามที่ระบุไว้ในสัญญาให้ใช้สิทธิดำเนินการสถานีบริการเมื่อผู้ใช้สิทธิไม่สามารถจำหน่ายน้ำมันได้ตามเกณฑ์กำหนดเท่านั้น จึงหาใช่ประโยชน์ที่โจทก์จะได้รับแน่นอนตลอดอายุสัญญาไม่ จึงไม่อาจนำผลประโยชน์ดังกล่าวมากำหนดเป็นค่ารายปีได้”

พิพากษายืน

Share