แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อายุความฟ้องเรียกทรัพย์ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสองนั้น ถืออายุความ1 ปีนับแต่เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามพินัยกรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2495 นายแปลก เพ็ชร์มุขตายไปโดยทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ตามพินัยกรรมลงวันที่ 13 ธ.ค. 2495 ตามข้อกำหนดพินัยกรรมกล่าวว่า ให้จำเลยนำเงิน 35,000 บาทให้แก่โจทก์มีส่วนได้เท่า ๆ กันให้เสร็จสิ้นไปภายใน 3 ปีในปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 10,000 บาท หากจำเลยไม่นำเงินให้ให้เอาทรัพย์สินที่จำเลยควรได้ตามพินัยกรรมยกให้เท่าราคาจำนวนที่ระบุไว้ตามราคาซื้อขายในตลาดปัจจุบัน พ้นกำหนด 1 ปีแรกนับแต่นายแปลกตาย จำเลยก็ไม่จ่ายเงินตามข้อกำหนดใน พินัยกรรมให้โจทก์จำเลยได้รับทรัพย์ได้ตามพินัยกรรมหลายรายการ แต่จำเลยบิดพริ้วไม่จ่ายให้โจทก์ จึงฟ้องเรียกเงินดังกล่าว
จำเลยให้การว่ายังไม่ได้รับทรัพย์สินครบตามพินัยกรรมอันจะทำการแบ่งปันแก่โจทก์ได้ตามเงื่อนไขในพินัยกรรม โดยโจทก์ที่ 1 เป็นฝ่ายก่อให้เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะฟ้องเรียกเงินตามพินัยกรรม และตัดฟ้องว่าเป็นฟ้องซ้ำและคดีขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นงดสืบพยาน พิพากษาว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเรียกร้องตามข้อกำหนด ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังว่าคดีไม่ขาดอายุความและไม่เป็นฟ้องซ้ำพิพากษาให้จำเลยมอบเงิน 35,000 บาทแก่โจทก์
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นเรื่องฟ้องเรียกเงินตามสิทธิที่มีอยู่ในพินัยกรรมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรค 2ฉะนั้น ภายในระยะเวลา 1 ปี หรือ 3 ปี แล้วแต่กรณี โจทก์ยังหามีสิทธิที่จะเรียกร้องไม่ จึงต้องถือว่าโจทก์เพิ่งจะรู้หรือควรได้รู้ถึงสิทธิที่จะได้รับตามพินัยกรรมเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามพินัยกรรมแล้ว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ แต่ตามฟ้องและตามคำให้การยังโต้เถียงกันซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้ดำเนินการพิจารณาและวินิจฉัยข้อเท็จจริง และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงเรื่องฟ้องซ้ำมาก็ปรากฏว่ายังมิได้ระบุพยานและเสียค่าอ้าง จึงให้ยกคำพิพากษาศาลทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณา แล้วพิพากษาใหม่