แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลย อ้างว่า โจทก์ทั้งยี่สิบสามเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามสัดส่วนของแต่ละคนรวมเนื้อที่ ๗๙๑ ไร่ ต่อมาจำเลยออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๒๓๑๘๙ เนื้อที่ ๑,๓๒๙ ไร่ ๓ งาน ทับที่ดินทั้งหมดของโจทก์ทั้งยี่สิบสาม การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามเสียหาย ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๒๓๑๘๙ ห้ามจำเลยหรือตัวแทนยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทกับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินคืนให้โจทก์ทั้งยี่สิบสาม หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ “แวะช่องโก” ซึ่งมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๒๓๑๘๙ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ โจทก์ทั้งยี่สิบสามไม่ได้เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ทั้งยี่สิบสามในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ทั้งยี่สิบสาม การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งยี่สิบสามได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดิน ส่วนที่พิพาทโจทก์ทั้งยี่สิบสามเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามสัดส่วนของแต่ละคนหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๒/๒๕๕๘
วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๘
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลจังหวัดสีคิ้ว
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสีคิ้วโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗ นางรดา สะเทื้อนหรือพีบขุนทด ที่ ๑ กับพวกรวม ๒๓ คน โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน จำเลย ต่อศาลจังหวัดสีคิ้ว เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๑๓/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์ทั้งยี่สิบสาม เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามสัดส่วนของแต่ละคน รวมเนื้อที่ ๗๙๑ ไร่ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาจำเลยออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๒๓๑๘๙ เนื้อที่ ๑,๓๒๙ ไร่ ๓ งาน ทับที่ดินทั้งหมดของโจทก์ทั้งยี่สิบสาม การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามเสียหาย ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๒๓๑๘๙ ห้ามจำเลยหรือตัวแทนยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทกับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินคืนให้โจทก์ทั้งยี่สิบสาม หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ “แวะช่องโค” ซึ่งมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๒๓๑๘๙ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ โจทก์ทั้งยี่สิบสามไม่ได้เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การดำเนินการและขั้นตอนในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง รวมถึงการออกคำสั่งและลงนามให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงคดีนี้ไม่ถูกต้อง อันเป็นการกระทบสิทธิหน้าที่ของโจทก์นั้น ถือเป็นคำสั่งและเป็นการกระทำทางการปกครองของหน่วยงานรัฐ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสีคิ้วพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งยี่สิบสามตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นข้อพิพาทอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อโจทก์ทั้งยี่สิบสามฟ้องว่า อธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ทับที่ดินของโจทก์ทั้งยี่สิบสามซึ่งมีสิทธิครอบครอง อันไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และแม้คดีมีประเด็นที่ศาลปกครองต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ดินที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามมีสิทธิครอบครองหรือไม่ แต่ประเด็นดังกล่าว เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลปกครองต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นประเด็นย่อยในหลายประเด็นปัญหาที่ศาลปกครองต้องพิจารณาการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้การวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวพันดังกล่าวจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าว ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินมาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทคดีนี้ได้ อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่ามูลความแห่งคดีนี้เกี่ยวเนื่องกับคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ๓๒๔-๓๓๐/๒๕๕๕ ของศาลปกครองนครราชสีมา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด กรณีจึงชอบที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ในศาลปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์ทั้งยี่สิบสามเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามสัดส่วนของแต่ละคนรวมเนื้อที่ ๗๙๑ ไร่ ต่อมาจำเลยออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๒๓๑๘๙ เนื้อที่ ๑,๓๒๙ ไร่ ๓ งาน ทับที่ดินทั้งหมดของโจทก์ทั้งยี่สิบสาม การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามเสียหาย ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๒๓๑๘๙ ห้ามจำเลยหรือตัวแทนยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทกับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินคืนให้โจทก์ทั้งยี่สิบสาม หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษา แทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ “แวะช่องโก” ซึ่งมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๒๓๑๘๙ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ โจทก์ทั้งยี่สิบสามไม่ได้เป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ทั้งยี่สิบสามในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ทั้งยี่สิบสาม การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งยี่สิบสามได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินส่วนที่พิพาทโจทก์ทั้งยี่สิบสามเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามสัดส่วนของแต่ละคนหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางรดา สะเทื้อนหรือพีบขุนทด ที่ ๑ กับพวกรวม ๒๓ คน โจทก์ กรมที่ดิน จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ