คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22113/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ค้ำประกันคือ บุคคลผู้ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น การที่จะชำระหนี้แทนลูกหนี้ดังกล่าว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ค้ำประกันไว้หลายมาตรา เช่น มาตรา 688 ผู้ค้ำประกันมีสิทธิที่จะให้เจ้าหนี้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน มาตรา 689 ผู้ค้ำประกันมีสิทธิให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน ถ้าการบังคับชำระหนี้จากลูกหนี้ไม่เป็นการยาก มาตรา 690 ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน ผู้ค้ำประกันมีสิทธิร้องขอให้เจ้าหนี้ต้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน นอกจากนี้มาตรา 691 ยังได้บัญญัติว่า ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา 688, 689 และ 690 แสดงให้เห็นว่า ถ้าผู้ค้ำประกันทำสัญญาว่ายอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือยอมรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันจะไม่มีสิทธิตามมาตรา 688, 689 และ 690 ถ้าไม่ได้ระบุว่ายอมรับผิดดังกล่าวไว้ในสัญญา ผู้ค้ำประกันจะเป็นผู้ต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้เมื่อทำสัญญายกเว้นสิทธิตามมาตรา 688, 689 และ 690 ทั้งสามมาตรา คดีนี้จำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันว่ายอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือยอมรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ คงมีแต่เพียงสัญญาข้อ 2 และข้อ 5 ที่ตกลงยกเว้นสิทธิตามมาตรา 688 และไม่อาจตีความว่าเป็นข้อตกลงยกเว้นสิทธิตามมาตรา 689 และ 690 ด้วย เพราะจะเป็นการตีความในทางที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น อันเป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา 11 หนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นสัญญาค้ำประกันที่เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องผู้ค้ำประกันได้โดยไม่ต้องเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนเท่านั้น ไม่ใช่สัญญาค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 720,431.01 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินจำนวน 694,391.34 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 694,391.34 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 พฤษภาคม 2546) ต้องไม่เกิน 26,039.67 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ดังกล่าวแทน กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2543 จำเลยที่ 1 ออกจากราชการและยื่นเรื่องขอรับเงินบำเหน็จ 708,890 บาท ซึ่งเมื่อหักภาษีแล้ว จำเลยที่ 1 ได้รับเงิน 694,391.34 บาท โดยทำสัญญากับโจทก์ว่า ถ้าปรากฏในภายหลังว่าจำเลยที่ 1 รับเงินบำเหน็จไปโดยไม่มีสิทธิ จำเลยที่ 1 ยินยอมคืนเงินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากทางราชการ ในวันเดียวกันนี้จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นเงินไม่เกิน 708,890 บาท โดยมีข้อสัญญาว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมชำระเงินตามจำนวนที่เรียกร้องทันทีโดยโจทก์ไม่ต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระก่อน และหากจำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลาย หรือตาย หรือกลายเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือสาบสูญ หรือไปเสียจากถิ่นที่อยู่โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ หรือด้วยเหตุอื่นใดอันทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จำเลยที่ 2 ยินยอมให้โจทก์เรียกร้องเงินทั้งหมดที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระจากจำเลยที่ 2 ได้ทันที ปรากฏตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน ต่อมาโจทก์มีคำสั่งลงโทษไล่จำเลยที่ 1 ออกจากราชการเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิรับบำเหน็จ และต้องคืนเงินจำนวน 694,391.34 บาท แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยไม่ชำระหนี้
โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันโดยสัญญาข้อ 2 มีข้อตกลงว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้และค่าเสียหายจากหนี้ดังกล่าว จำเลยที่ 2 ยินยอมชำระเงินตามจำนวนที่เรียกร้องทันทีโดยโจทก์ไม่ต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระก่อน และสัญญาข้อ 5 มีข้อตกลงว่าหากจำเลยที่ 1 ตกเป็นบุคคลล้มละลาย หรือตาย หรือกลายเป็นบุคคลไร้ความสามารถ หรือสาบสูญ หรือไปเสียจากถิ่นที่อยู่โดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ หรือด้วยเหตุอื่นใดอันทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จำเลยที่ 2 ยินยอมให้โจทก์เรียกร้องเงินทั้งหมดที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระจากจำเลยที่ 2 ได้ทันที หนังสือสัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่จำเลยที่ 2 ตกลงยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 691 โดยสละสิทธิตามมาตรา 688 และ 689 จึงขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดร่วมกัน พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ผู้ค้ำประกันคือบุคคลผู้ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น การที่จะชำระหนี้แทนลูกหนี้ดังกล่าว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้ค้ำประกันไว้หลายมาตรา เช่น มาตรา 688 ผู้ค้ำประกันมีสิทธิที่จะให้เจ้าหนี้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน มาตรา 689 ผู้ค้ำประกันมีสิทธิให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน ถ้าการบังคับชำระหนี้จากลูกหนี้ไม่เป็นการยาก มาตรา 690 ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดถือไว้เป็นประกัน ผู้ค้ำประกันมีสิทธิร้องขอให้เจ้าหนี้ต้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน นอกจากนี้มาตรา 691 ยังได้บัญญัติว่า ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา 688, 689 และ 690 แสดงให้เห็นว่า ถ้าผู้ค้ำประกันทำสัญญาว่ายอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือยอมรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันจะไม่มีสิทธิตามมาตรา 688, 689, และ 690 ถ้าไม่ได้ระบุว่ายอมรับผิดดังกล่าวไว้ในสัญญา ผู้ค้ำประกันจะเป็นผู้ต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้เมื่อทำสัญญายกเว้นสิทธิตามมาตรา 688, 689 และ 690 ทั้งสามมาตรา คดีนี้จำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาว่ายอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือยอมรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ คงมีแต่เพียงสัญญาข้อ 2 และข้อ 5 ที่ตกลงยกเว้นสิทธิตามมาตรา 688 และไม่อาจตีความว่าเป็นข้อตกลงยกเว้นสิทธิตามมาตรา 689 และ 690 ด้วย เพราะจะเป็นการตีความในทางที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น อันเป็นการไม่ชอบด้วยมาตรา 11 หนังสือสัญญาค้ำประกัน จึงเป็นสัญญาค้ำประกันที่เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องผู้ค้ำประกันได้โดยไม่ต้องเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนเท่านั้น ไม่ใช่สัญญาค้ำประกันที่ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share