คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10972/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือที่จำเลยที่ 1 มีถึงโจทก์ว่าจะดำเนินการติดตามลูกหนี้ทั้งหมดมาชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคม 2535 แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถปฏิบัติได้ โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายที่เกิดจากจำเลยที่ 1 ทำละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2535 ซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยให้เริ่มนับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 24 มิถุนายน 2545 เมื่อนับถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2535 เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมยกเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 694

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินคืนทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกหนี้ตามฟ้องไม่ได้จำนวน 33,724,742.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.50 ต่อปี จากต้นเงิน 14,284,140.35 บาท นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2545 เป็นต้นไป ชำระค่าขึ้นศาลค่าฤชาธรรมเนียมศาลจำนวน 389,813 บาท และค่าทนายความที่ศาลสั่งให้ชำระแก่โจทก์จำนวน 79,600 บาท แก่โจทก์ ในกรณีที่โจทก์ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้รายใดหรือทรัพย์จำนองของลูกหนี้รายใดเป็นจำนวนเงินเท่าใดแล้ว ขอให้โจทก์นำเงินดังกล่าวมาหักหนี้ตามคำขอท้ายฟ้องข้างต้น หนี้คงเหลือเป็นจำนวนเท่าใดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้คืนแก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดในการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าไม่ได้จำนวน 26,170,282.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.50 ต่อปี จากต้นเงิน 10,590,449.14 บาท นับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าขึ้นศาลค่าฤชาธรรมเนียมจำนวน 355,890 บาท และค่าทนายความที่ศาลสั่งให้จำเลยชำระแก่โจทก์อีกจำนวน 62,000 บาท แต่ทั้งนี้หากโจทก์ได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้หรือทรัพย์จำนองรายใดเป็นจำนวนเงินเท่าใดแล้ว ให้โจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักออกจากจำนวนเงินตามคำพิพากษาข้างต้น และให้จำเลยทั้งสองรับผิดเฉพาะในส่วนที่เหลือจนครบถ้วน ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า นายสมชาย กรรมการผู้จัดการใหญ่ของโจทก์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์โดยลงนามและประทับตราของโจทก์ ตามหนังสือรับรอง จำเลยที่ 1 เข้าทำงานเป็นลูกจ้างโจทก์ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2525 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2532 ถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2534 เป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาพะเยา และวันที่ 16 พฤศจิกายน 2534 ถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2535 เป็นผู้จัดการธนาคารโจทก์สาขาพิจิตร ตามประวัติการทำงาน จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2525 ตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้จัดการมีอำนาจให้สินเชื่อ เมื่อต้นปี 2535 นายสมพล ผู้จัดการฝ่ายอำนวยการสาขาภาคเหนือสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตในระหว่างเป็นผู้จัดการสาขาพะเยาและสาขาพิจิตร จึงรายงานให้สำนักงานใหญ่ทราบและมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นโดยมีนายเกื้อศักดิ์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการสอบสวน เมื่อวันที่ 21กุมภาพันธ์ 2535 จำเลยที่ 1 ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการสอบสวนและยอมรับว่าปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบโดยอนุมัติสินเชื่อไปโดยไม่มีอำนาจและรับปากว่าจะไปติดตามหนี้ที่ให้สินเชื่อไปโดยผิดระเบียบให้เสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2535 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน หาใช่คดีละเมิดอย่างเดียวไม่ เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างลูกจ้างมีข้อผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานต่อกัน นอกจากจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์แล้วยังฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย และตามหนังสือรับรองและสัญญาค้ำประกันการทำงาน ระบุว่า “หากจำเลยที่ 1 ได้เข้าทำงานในธนาคารโจทก์แล้ว ภายหลังหลบหนีหายไป หรือฉ้อโกง ยักยอก หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือทำความเสียหายให้แก่โจทก์ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ตลอดจนบรรดาหนี้สินที่จำเลยที่ 1 ได้มีอยู่กับโจทก์ จำเลยที่ 2 ยินดีรับเป็นผู้ใช้แทนให้แก่โจทก์โดยสิ้นเชิงตามจำนวนที่โจทก์เสียหาย” ข้อผูกพันของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์จึงหมายถึงจำเลยที่ 2 ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 โดยให้เริ่มนับแต่วันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 เมื่อพิจารณาหนังสือที่จำเลยที่ 1 มีถึงโจทก์ว่าจะดำเนินการติดตามลูกหนี้ทั้งหมดมาชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคม 2535 แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถปฏิบัติได้ โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายที่เกิดจากจำเลยที่ 1 ทำละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2535 การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2545 ซึ่งเมื่อนับถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2535 เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เมื่อคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมยกข้อต่อสู้ดังกล่าวขึ้นต่อสู้ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงขาดอายุความด้วยเช่นกัน อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

Share