คำวินิจฉัยที่ 61/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินตามการครอบครองและทำประโยชน์ แต่จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในบันทึกข้อความ เรื่องการตรวจพิสูจน์ที่ดินของโจทก์ อันเป็นการกลั่นแกล้งให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินได้ตามกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า ไม่ได้จงใจกลั่นแกล้งโจทก์ เนื่องจากได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐาน การแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ของโจทก์ว่าสมควรออกด้วยเหตุผลใด ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติของทางราชการมาโดยตลอด และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของราชการ จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ เห็นว่า คดีนี้เมื่อคณะกรรมการตรวจพิสูจน์ที่ดินมีความเห็นแล้วว่าควรออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ตามการครอบครองและทำประโยชน์ โดยมิได้โต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของโจทก์ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี แต่เป็นคดีที่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจกลั่นแกล้งหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถดำเนินการออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ เพียงใด อันเป็นประเด็นสำคัญของคดี กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการ ใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๑/๒๕๕๘

วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๘

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ ๒๕๔๒
มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดพังงา
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดพังงาส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล วินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๗ นางอับส๊อ อุมาสะ โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ ๑ นายวัฒนพงษ์ สุกใส ที่ ๒ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ ๓ นายรุจน์ ทองขจร ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดพังงา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๖๘/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์เป็นบุตรและผู้จัดการมรดกของนายเหยบ ทอดทิ้ง ตามคำสั่งศาลจังหวัดพังงา เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ โจทก์ยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน ตั้งอยู่หมู่ที่ ๘ ตำบลคลองเคียน อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เนื้อที่ ๓๐ ไร่ ซึ่งเป็นทรัพย์มรดก ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดพังงา สาขาตะกั่วทุ่ง แต่เนื่องจากที่ดินนั้นตั้งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรและเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จึงต้องมีการตรวจพิสูจน์ที่ดิน ต่อมาคณะกรรมการตรวจพิสูจน์ที่ดิน มีความเห็นว่าโจทก์ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นควรออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ตามการครอบครองและทำประโยชน์ เนื้อที่ ๒๐ ไร่ ๑ งาน ๒๔ ตารางวา แต่จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๔ ในฐานะผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ ๓ ไม่ยินยอมลงลายมือชื่อรับรอง เรื่องการตรวจพิสูจน์ที่ดินของโจทก์ โจทก์ติดตาม ทวงถาม ต่อมาสำนักงานที่ดินจังหวัดพังงา สาขาตะกั่วทุ่งมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในบันทึกข้อความ เรื่องการตรวจพิสูจน์ที่ดินของโจทก์ อันเป็นการกลั่นแกล้งให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินได้ตามกฎหมาย โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ เพื่อให้ดำเนินการลงลายมือชื่อในเอกสารบันทึกข้อความดังกล่าว จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วแต่เพิกเฉย การกระทำของจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวเป็นการจงใจทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการออกโฉนดที่ดินได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่หรือผู้ใดลงลายมือชื่อในบันทึกข้อความของสำนักงานที่ดินจังหวัดพังงา สาขาตะกั่วทุ่ง เรื่องการตรวจพิสูจน์ที่ดินของโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน และขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
ศาลมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๑ และที่ ๓
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า ไม่ได้จงใจกลั่นแกล้งโจทก์เพื่อไม่ให้ออกโฉนดที่ดินได้ เนื่องจากได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐาน การแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ของโจทก์ว่าสมควรออกด้วยเหตุผลใด ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติของทางราชการมาโดยตลอด และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของราชการ จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เป็นหน่วยงานทางปกครอง กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งหรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดพังงาพิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ จงใจกลั่นแกล้งโจทก์ โดยการไม่ลงลายมือชื่อรับรองเรื่องการตรวจพิสูจน์ที่ดินของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินได้โดยชอบ อันจำต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ และต้องชำระค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีเพียงใด จึงเป็นคดีละเมิดตามลักษณะ ๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่โจทก์ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากผู้แจ้งการการครอบครองโดยตลอดเป็นการครอบครอง โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการตรวจพิสูจน์ที่ดินได้ร่วมกันออกไปพิสูจน์ที่ดินดังกล่าว และมีความเห็นว่า ควรออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ตามการครอบครองและทำประโยชน์ เนื้อที่ ๒๐ ไร่ ๑ งาน ๒๔ ตารางวา และกรรมการตรวจพิสูจน์ที่ดินได้ลงลายมือชื่อไว้แล้ว เว้นแต่จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๔ ในฐานะผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนจำเลยที่ ๓ ไม่ยอมลงลายมือชื่อในบันทึกดังกล่าว เป็นการจงใจกลั่นแกล้งทำให้โจทก์เสียหายไม่สามารถดำเนินการออกโฉนดที่ดินได้ กรณีจึงเป็นการฟ้องว่าการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้คดีนี้จะมีการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน แต่ประเด็นดังกล่าวก็เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบการพิจารณาในข้อหาการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และแม้การพิจารณาในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าว ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้น มาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินใดๆ คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่าอันเป็นบทบัญญัติยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้ คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่าโจทก์เป็นบุตรและผู้จัดการมรดกของนายเหยบ ทอดทิ้ง ได้ยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน เนื้อที่ ๓๐ ไร่ แต่เนื่องจากที่ดินตั้งอยู่ในเขตป่าไม้ถาวรและเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จึงต้องมีการตรวจพิสูจน์ที่ดิน ต่อมาคณะกรรมการตรวจพิสูจน์ที่ดิน มีความเห็นว่าควรออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ ตามการครอบครองและทำประโยชน์ เนื้อที่ ๒๐ ไร่ ๑ งาน ๒๔ ตารางวา แต่จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ไม่ยินยอมลงลายมือชื่อในบันทึกข้อความ เรื่องการตรวจพิสูจน์ที่ดินของโจทก์ อันเป็นการกลั่นแกล้งให้โจทก์ ไม่สามารถดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินได้ตามกฎหมาย โจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยทั้งสอง เมื่อจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วแต่เพิกเฉย ทำให้โจทก์ไม่สามารถดำเนินการออกโฉนดที่ดินได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ให้การทำนองเดียวกันว่า ไม่ได้จงใจกลั่นแกล้งโจทก์ เนื่องจากได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐาน การแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ของโจทก์ว่าสมควรออกด้วยเหตุผลใด ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติของทางราชการมา โดยตลอด และขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอนของราชการ จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ เห็นว่า คดีนี้เมื่อคณะกรรมการตรวจพิสูจน์ที่ดินมีความเห็นแล้วว่าควรออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ ตามการครอบครองและทำประโยชน์ โดยมิได้โต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของโจทก์ ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี แต่เป็นคดีที่มีประเด็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจกลั่นแกล้งหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถดำเนินการออกโฉนดที่ดินได้หรือไม่ เพียงใด อันเป็นประเด็นสำคัญของคดี กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการ ใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่ง ทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางอับส๊อ อุมาสะ โจทก์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ ๑ นายวัฒนพงษ์ สุกใส ที่ ๒ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ ๓ นายรุจน์ ทองขจร ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share