แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มีวัตถุประสงค์แก้ไขฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดทุกคนเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องดำเนินการตามมาตรา 22, 23 ก่อน แล้วคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงจะมีสิทธิพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ดังนั้น การที่คณะอนุกรรมการฯ มีคำสั่งที่ 736/2554 ว่า จำเลยจงใจหลีกเลี่ยงและหลบหนีไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่… ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นที่น่าพอใจและให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการดำเนินคดีต่อไป จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะมาตรา 32 บัญญัติให้ คณะอนุกรรมการฯ รายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้วแต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ กรณีที่ได้ตัวจำเลยมาแล้ว หลังจากที่จำเลยจงใจหลีกเลี่ยงและหลบหนีไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฯ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน การที่โจทก์นำตัวจำเลยมาฟ้องคดีนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า บทบัญญัติมาตรา 23 และมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มิได้บัญญัติขึ้นเพื่อเป็นเงื่อนไขให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องดำเนินการตามมาตราดังกล่าวก่อนแล้วคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงจะมีสิทธิพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ไปติดตามจำเลยผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของจำเลย แต่จำเลยกลับจงใจหลีกเลี่ยงหลบหนีและพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดตามตัวได้ จึงไม่สามารถควบคุมตัวจำเลยได้ แม้ระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของจำเลยยังคงเหลืออยู่ แต่พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวแสดงแจ้งชัดว่าจำเลยไม่ประสงค์จะบำบัดให้หายขาดจากยาเสพติดให้โทษ จึงเป็นเหตุผลที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดร่วมกันวินิจฉัยว่าผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของจำเลยไม่เป็นที่พอใจ ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นอำนาจตามมาตรา 13 (8), 33 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และเมื่อคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้แจ้งผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของจำเลยต่อพนักงานอัยการ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น เห็นว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้ติดยาเสพติดไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อน และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จากนั้นต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามมาตรา 22 โดยคำนึงถึงความหนักเบาของการเสพหรือติดยาเสพติดของผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 23 ซึ่งผู้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดต้องถูกบังคับให้อยู่รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน ซึ่งอาจขยายหรือลดระยะเวลาการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามความเหมาะสม ตามมาตรา 25 หากผู้ใดหลบหนีการตรวจพิสูจน์หรือหลบหนีออกนอกศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้ถือว่าผู้นั้นหนีการคุมขังตามมาตรา 190 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจติดตามจับกุมผู้นั้นได้ด้วยตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 จึงมีวัตถุประสงค์แก้ไขฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดทุกคนเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงต้องดำเนินการตามมาตราดังกล่าวก่อนแล้วคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงจะมีสิทธิพิจารณาผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ดังนั้น การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดสมุทรปราการมีคำสั่งที่ 736/2554 ว่า…. จำเลยจงใจหลีกเลี่ยงและหลบหนีไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการ ซึ่งไม่สามารถติดตามตัวได้ การให้โอกาสแก่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อให้กลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคมโดยใช้การบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เหมาะสมและใช้ไม่ได้ผล จึงอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 13 (8) ประกอบมาตรา 33 วรรคสอง ว่า ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นที่น่าพอใจและให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีต่อไป จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะมาตรา 32 บัญญัติให้ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดเวลาแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ กรณีที่ได้ตัวจำเลยมาแล้วหลังจากที่จำเลยจงใจหลีกเลี่ยงและหลบหนีไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน การที่โจทก์นำตัวจำเลยมาฟ้องคดีจึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน