แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คสั่งจ่ายเงินเพื่อมอบให้แก่ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามทางนำสืบโจทก์ปรากฏว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คที่บริษัท ว. เป็นผู้ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ที่บริษัทดังกล่าวเป็นผู้กู้จากผู้เสียหาย โดยมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท ดังนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะสั่งจ่ายเช็คพิพาทในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะที่กระทำแทนบริษัท จำเลยที่ 1 ก็คงมีความรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกัน เพราะการดำเนินกิจการของบริษัทย่อมแสดงออกโดยทางผู้แทนทั้งหลายของบริษัท เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทลงชื่อในเช็คสั่งจ่ายเงินโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คอันเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกับบริษัทออกเช็คโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวได้โดยไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกันกระทำความผิดกับบริษัท ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณากับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง จึงหาใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และนับโทษจำเลยทั้งสองต่อกับโทษของจำเลยทั้งสองในคดีอาญาดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (ที่ถูก มาตรา 4 (1) (2)) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 2 เดือน ให้ยกคำขอของโจทก์ที่นับโทษของจำเลยทั้งสองต่อกับโทษของจำเลยทั้งสองในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 8847/2550 ถึง 8855/2550 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากไม่ปรากฏว่าคดีดังกล่าวศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์อนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญหรือไม่ เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันออกเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางขุนนนท์ ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2549 สั่งจ่ายเงิน 100,000 บาท มอบให้แก่นางวิมลรัตน์ ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงตามทางนำสืบโจทก์ปรากฏว่า เช็คพิพาทเป็นเช็คที่บริษัทวัฏสาร จำกัด เป็นผู้ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ที่บริษัทดังกล่าวเป็นผู้กู้จากผู้เสียหาย ตามสำเนาหนังสือสัญญากู้เงินตามกฎหมายใหม่ โดยมีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในเช็คพิพาทในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท วัฏสาร จำกัด ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยที่ 1 จะสั่งจ่ายเช็คพิพาทในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะที่กระทำแทนบริษัท จำเลยที่ 1 ก็คงมีความรับผิดทางอาญาเช่นเดียวกัน เพราะการดำเนินกิจการของบริษัทย่อมแสดงออกโดยทางผู้แทนทั้งหลายของบริษัท เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แทนของบริษัทลงชื่อในเช็คสั่งจ่ายเงินโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คอันเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ก็ถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกับบริษัทออกเช็ครายนี้ โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวได้โดยไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกันกระทำความผิดกับบริษัท ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณากับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องจึงหาใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้ออื่นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามลำดับชั้นศาล
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในปัญหาที่ยังมิได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี