แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนยื่นฟ้องเอกชนด้วยกันเป็นจำเลยที่ ๑ และหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นคดีผู้บริโภค ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินที่โจทก์นำไปฝากไว้กับจำเลยที่ ๑ และชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิด สำหรับคำฟ้องในข้อหาแรกเกี่ยวกับการผิดสัญญาฝากเงิน ทั้งสองศาลมีความเห็นตรงกันว่า เป็นข้อพิพาททางแพ่งซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมจึงยุติไป คงมีปัญหาเฉพาะในส่วนคำฟ้องข้อหาที่สองเกี่ยวกับค่าเสียหายจากการกระทำละเมิด เห็นว่า โจทก์ยื่นฟ้องอ้างว่ามีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะผู้บริโภคในการที่จะได้รับข้อมูลตามคำพรรณนาที่ถูกต้องและเพียงพอในการเข้าทำสัญญากับจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยทั้งสามร่วมกันปกปิดข้อเท็จจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์เกี่ยวกับการดำเนินงานสหกรณ์จำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกและทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์ถูกละเมิดสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔ และมาตรา ๒๒ อันเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสามที่จงใจปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานที่ผิดพลาดของจำเลยที่ ๑ จึงมิใช่การบรรยายฟ้องโดยอ้างว่า ความเสียหายของโจทก์เกิดจากการที่จำเลยทั้งสามใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือออกกฎ ออกคำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ล่าช้าเกินสมควรซึ่งเป็นการละเมิดต่อโจทก์ อันจะมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ดังนี้ แม้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๓ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เมื่อข้อพิพาทตามคำฟ้องไม่มีลักษณะเป็นคดีปกครอง และโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ อย่างลูกหนี้ร่วมในมูลละเมิดเดียวกันและเกี่ยวพันกับข้อหาแรก โดยมีคำขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินคืนหรือค่าเสียหายในจำนวนเดียวกันซึ่งไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงสมควรให้คำฟ้องในข้อหาที่สองที่ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่นั้น ได้รับการพิจารณาพิพากษา โดยศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำฟ้องในข้อหาแรกด้วย คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๐/๒๕๕๘
วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๗ นายสมศักดิ์ บุษยวิไลมาศ ที่ ๑ นางสาวสาริณี กุลธนพานิช ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้อง สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ที่ ๑ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่ ๒ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. ๑๕๘๐/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้บริโภคมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการเพื่อความเป็นธรรมในการทำสัญญา และมีสิทธิที่จะได้รับชดเชยความเสียหาย เมื่อปี ๒๕๕๕ โจทก์หลงเชื่อตามโฆษณาเชิญชวนของจำเลยที่ ๑ สมัครเป็นสมาชิกและเปิดบัญชีเงินฝากกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งตามข้อบังคับของจำเลยที่ ๑ โจทก์ทั้งสองต้องฝากเงินสะสม (หุ้น) ต่อเนื่องกันทุกเดือน และต้องเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อีกคนละหนึ่งบัญชี โดยมีเงินฝากรวมเป็นจำนวน ๔๐๔,๐๐๐ บาท มียอดเงินฝากตามหมายเลขสมาชิก ๐๐๑-๐๑-๐๒๔๓๔๖-๓ และหมายเลขสมาชิก ๐๐๑-๐๑-๐๒๔๓๐๙-๙ ต่อมาในปี ๒๕๕๗ โจทก์ทั้งสองขอลาออกจากการเป็นสมาชิกของจำเลยที่ ๑ ขอคืนเงินฝากสะสม (หุ้น) และขอปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ แต่จำเลยที่ ๑ กลับปฏิบัติผิดสัญญาไม่คืนเงินฝากให้แก่โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายสหกรณ์ในการกำกับดูแลจำเลยที่ ๑ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย กลับบกพร่องต่อหน้าที่ โดยจำเลยที่ ๒ ไม่เปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วนและเพียงพอต่องบการเงินที่ตนรับรอง เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้บริโภค หลงเชื่อในฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ บกพร่องปล่อยปละละเลยและให้รางวัลโล่ห์ประกาศเกียรติคุณแก่จำเลยที่ ๑ สนับสนุนและปกปิดการกระทำผิดของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รู้ว่าจำเลยที่ ๑ ดำเนินงานไม่เป็นไปตามกฎหมายและยินยอมให้จำเลยที่ ๑ ทำการระดมเงินฝากของสมาชิกจำเลยที่ ๑ และบุคคลภายนอกอย่างต่อเนื่อง ทำให้โจทก์ทั้งสองและผู้บริโภคอีกจำนวนมากหลงเชื่อข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพและข้อความที่โฆษณามาสมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ ๑ ด้วยความหลงผิดและเกิดความเสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินตามบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์และเงินฝากสะสม (หุ้น) รวม ๔๐๕,๓๖๔.๕๖ บาท พร้อมดอกเบี้ย กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายสูงสุดแก่โจทก์ทั้งสองและจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดพร้อมให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินค่าหุ้น เพราะหุ้นคือเงินทุนที่โจทก์ทั้งสองร่วมลงทุนกับจำเลยเพื่อหวังกำไรจากการประกอบธุรกิจของจำเลยที่ ๑ โดยปัจจุบันกิจการของจำเลยอยู่ในสภาพขาดทุน ทั้งจำเลยที่ ๑ ยังไม่อนุญาตให้โจทก์ลาออกจากการเป็นสมาชิก โจทก์ทั้งสองใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเพียงส่วนราชการที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลสหกรณ์ในเชิงนโยบายและวางแผนพัฒนาระบบสหกรณ์เท่านั้น และไม่มีอำนาจหน้าที่ เกี่ยวกับการบริหาร การดำเนินกิจการของจำเลยที่ ๑ ทั้งไม่มีกฎหมายกำหนดให้การโฆษณาเชิญชวนให้ประชาชนเข้าเป็นสมาชิกและทำสัญญาฝากเงินกับจำเลยที่ ๑ ต้องขอความเห็นชอบจากจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ นอกจากนี้ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาของจำเลยที่ ๑ ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว การดำเนินการของจำเลยที่ ๑ เกิดจากการกระทำของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และการบริหารกิจการภายในของจำเลยที่ ๑ การที่โจทก์ไม่ได้รับเงินจากจำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ความเสียหายโดยตรงจากการที่โจทก์กล่าวอ้างว่าได้รับอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสาม โจทก์ยังคงมีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยที่ ๑ เต็มจำนวนตามสัญญา โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหาย ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๑ รับฝากเงินจากโจทก์ทั้งสองแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสองต้องการลาออกจากการเป็นสมาชิกของจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่คืนเงินฝากให้แก่โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้คืนเงินและชดใช้ค่าเสียหาย ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาฝากเงินจากจำเลยที่ ๑ ที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองว่ามีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ในการส่งเสริม สนับสนุน แนะนำ กำกับและดูแลคุ้มครองจำเลยที่ ๑ เท่านั้น เหตุตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นเหตุจากการผิดสัญญาฝากทรัพย์โดยตรงของจำเลยที่ ๑ จึงไม่ได้เป็นผลจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น และไม่ได้เกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองประกอบด้วย ๒ ข้อหา ได้แก่ ข้อหาเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ไม่คืนเงินฝากให้แก่โจทก์อันเป็นการผิดสัญญาฝากเงิน และข้อหาเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กรณีบกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งคำฟ้องในส่วนของข้อหาเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ ๑ นั้น เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาฝากเงินจากจำเลยที่ ๑ คู่สัญญาซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ส่วนคำฟ้องในข้อหาเกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ซึ่งตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ ข้อ ๒ กำหนดให้จำเลยที่ ๒ มีภารกิจเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ กำหนดระบบบัญชีและมาตรฐานการสอบบัญชี ให้คำปรึกษาและแนะนำให้ความรู้ด้านการบริหารการเงินและการบัญชีที่ดี และข้อ ๘ (๑) และ (๔) กำหนดให้สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ ๑-๑๐ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดจำเลยที่ ๒ มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรให้เป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับ ระเบียบ และมาตรฐานการสอบบัญชีที่รับรองทั่วไป และการสอบทานรายงานการสอบบัญชี งบการเงินและกระดาษทำการของผู้สอบบัญชี รวมทั้งวิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรตามมาตรฐานที่วางไว้ ส่วนกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ ข้อ ๒ (๑) และ (๒) กำหนดให้จำเลยที่ ๓ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริม เผยแพร่ และให้ความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ให้แก่บุคลากร สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชนทั่วไป การส่งเสริม สนับสนุน คุ้มครอง และพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินการตามที่นายทะเบียนสหกรณ์มอบหมายในการรับจดทะเบียน ส่งเสริม แนะนำ กำกับ และดูแลสหกรณ์ และโดยที่พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นนายทะเบียนสหกรณ์ และมาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) รับจดทะเบียน ส่งเสริม ช่วยเหลือ แนะนำ และกำกับดูแลสหกรณ์ให้เป็นไปตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น…(๓) แต่งตั้งผู้สอบบัญชี ผู้ตรวจการสหกรณ์ และผู้ชำระบัญชี (๔) ออกคำสั่งให้มีการตรวจสอบหรือไต่สวนเกี่ยวกับการจัดตั้งการดำเนินงาน หรือฐานะการเงินของสหกรณ์ (๕) สั่งให้ระงับการดำเนินงานทั้งหมดหรือบางส่วนของสหกรณ์ หรือให้เลิกสหกรณ์ ถ้าเห็นว่าสหกรณ์กระทำการหรืองดเว้นกระทำการอันอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์หรือสมาชิก…มาตรา ๑๙ บัญญัติให้ผู้ตรวจการสหกรณ์มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบกิจการและฐานะการเงินของสหกรณ์ตามที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด เมื่อตรวจสอบแล้วให้เสนอรายงานการตรวจสอบต่อนายทะเบียนสหกรณ์ มาตรา ๖๗ บัญญัติให้สหกรณ์จัดทำรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ในคราวที่เสนองบดุล และให้ส่งสำเนารายงานประจำปีกับงบดุลไปยังนายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุม มาตรา ๖๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้นายทะเบียนสหกรณ์แต่งตั้งผู้สอบบัญชี เพื่อตรวจสอบบัญชีของสหกรณ์ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลสหกรณ์ตั้งแต่การจัดตั้งสหกรณ์การดำเนินงานของสหกรณ์ รวมถึงการตรวจสอบกิจการ การตรวจสอบบัญชี และฐานะการเงินของสหกรณ์ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์ และป้องกันมิให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ด้วย โดยกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีจึงเป็นการฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองกระทำละเมิดต่อโจทก์จากการละเลยต่อหน้าที่ในการกำกับดูแลการดำเนินกิจการของสหกรณ์ให้เป็นไปตามที่มาตรา ๑๖ (๑) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบกับข้อ ๒ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ และข้อ ๒ (๑) และ (๒) ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ กำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นข้อหาอีกข้อหาหนึ่งแยกออกต่างหากจากข้อหาเกี่ยวกับการผิดสัญญาของจำเลยที่ ๑ และถึงแม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ก็ตาม แต่โดยที่สภาพแห่งข้อหาหรือการกระทำของจำเลยที่เป็นการละเมิดต่อโจทก์เป็นการกระทำของจำเลยที่ ๑ กับการกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แยกต่างหากจากกันเป็นคนละส่วน คำขอที่ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดจึงไม่ได้มีผลทำให้ข้อหาทั้งสองกลายเป็นเรื่องเดียวกันแต่อย่างใด และมิใช่กรณีที่สมควรให้ได้รับการพิจารณาในศาลเดียวกัน คำฟ้องในส่วนที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๓ เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแพ่งเป็นคดีผู้บริโภคโดยอ้างเหตุแห่งการโต้แย้งสิทธิรวมสองข้อหา คือ ข้อหาแรก จำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาเงินฝากต่อโจทก์ทั้งสอง ข้อหาที่สอง จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำละเมิดโดยปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานของจำเลยที่ ๑ ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ แล้วยินยอมให้จำเลยที่ ๑ โฆษณาเชิญชวนให้โจทก์ทั้งสองและประชาชนทั่วไปเข้าสมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ ๑ และทำสัญญาฝากเงินกับจำเลยที่ ๑ ต่อมาจำเลยที่ ๑ บริหารงานผิดพลาดไม่อาจคืนเงินฝากให้แก่โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองในฐานะที่เป็นผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาและมีสิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ การที่จำเลยทั้งสามจงใจปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายจากการสมัครเข้าเป็นสมาชิกและทำสัญญาฝากเงินกับจำเลยที่ ๑ รวมเป็นเงิน ๔๐๕,๓๖๔.๕๖ บาท การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมและเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้บริโภคและประชาชน ขอให้ร่วมกันชดใช้เงินคืนและชดใช้ค่าเสียหาย เป็นเงิน ๔๐๕,๓๖๔.๕๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว สำหรับคำฟ้องในข้อหาแรกเกี่ยวกับการผิดสัญญาฝากเงิน ศาลแพ่งและศาลปกครองกลางมีความเห็นตรงกันว่า คำฟ้องในส่วนนี้เป็นข้อพิพาททางแพ่ง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงยุติไปตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.๒๕๔๒ คงมีปัญหาเฉพาะในส่วนคำฟ้องข้อหาที่สองว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร” อันเป็นการจำกัดประเภทคดีปกครองที่เกิดจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ โดยมุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐ หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติเท่านั้น เมื่อพิจารณาคดีนี้โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลแพ่ง แผนกคดีผู้บริโภค โดยเมื่อพิจารณาเนื้อหาในคำฟ้องแล้ว โจทก์ทั้งสองอ้างว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะผู้บริโภคในการที่จะได้รับข้อมูลตามคำพรรณนาที่ถูกต้องและเพียงพอในการเข้าทำสัญญากับจำเลยที่ ๑ แต่จำเลยทั้งสามร่วมกันปกปิดข้อเท็จจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ทั้งสองและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการดำเนินงานสหกรณ์จำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองหลงเชื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิกและทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งสองถูกละเมิดสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔ ที่บัญญัติว่า “ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองดังต่อไปนี้ (๑) สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ และมาตรา ๒๒ บัญญัติว่า “การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค…” อันเกิดจากการกระทำของจำเลยทั้งสามที่จงใจปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานที่ผิดพลาดของจำเลยที่ ๑ จึงมิใช่การบรรยายฟ้องโดยอ้างว่าความเสียหายของโจทก์ทั้งสองเกิดจากการที่จำเลยทั้งสามใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือออกกฎ ออกคำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรซึ่งเป็นการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง อันจะมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ ทั้งปรากฏตามคำร้องคัดค้านคำร้องขอโต้แย้งเขตอำนาจศาลของโจทก์ทั้งสองก็ยืนยันเจตนาของโจทก์ทั้งสองว่าประสงค์จะฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๓ ให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้บริโภค อันเนื่องมาจากการที่จำเลยทั้งสามจงใจปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ทั้งสองและประชาชนในการที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารรวมทั้งการพรรณนาคุณภาพในการดำเนินกิจการสหกรณ์ที่ถูกต้องและเพียงพอจากข้อความโฆษณาของจำเลยที่ ๑ ก่อนเข้าทำสัญญา ดังนี้ แม้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๓ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เมื่อข้อพิพาทตามคำฟ้องไม่มีลักษณะเป็นคดีปกครอง และโจทก์ทั้งสองฟ้องให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ อย่างลูกหนี้ร่วมในมูลละเมิดเดียวกันโดยมีคำขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินฝากสะสม (หุ้น) และเงินฝากออมทรัพย์ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกันอันไม่อาจแบ่งแยกได้และเกี่ยวพันกับข้อหาแรก จึงสมควรให้คำฟ้องในข้อหาที่สองที่ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่นั้น ได้รับการพิจารณาพิพากษาโดยศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำฟ้องในข้อหาแรกด้วย คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสมศักดิ์ บุษยวิไลมาศ ที่ ๑ นางสาวสาริณี กุลธนพานิช ที่ ๒ โจทก์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ที่ ๑ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ที่ ๒ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ