คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2462/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่16 เมษายน 2515 ข้อ 2 ให้คำนิยามของคำว่า “เจ็บป่วย” ไว้เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างที่เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน เมื่อโจทก์ซึ่ง เป็นลูกจ้างไม่ได้ฟ้องเรียกเงินทดแทนจากจำเลยซึ่ง เป็นนายจ้าง แต่ ฟ้องเรียกเงินค่ารักษาพยาบาลตาม ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จึงไม่จำต้องนำหลักฐานกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัย แม้ศาลแรงงานกลางจะพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์โดย คำนวณถูกต้องตาม สิทธิที่โจทก์พึงได้ รับก็ตาม แต่ เมื่อเกินคำขอบังคับของโจทก์แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ในประเด็นข้อนี้ขึ้นมาโดยตรง ศาลฎีกาก็เห็นควรแก้ไขให้ถูกต้องได้ .

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์มิได้กระทำความผิด จำเลยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและไม่จ่ายค่าชดเชย จำเลยยังไม่จ่ายค่าจ้างในบางเดือนให้แก่โจทก์ โจทก์ทำงานมาเกิน 1 ปี ไม่เคยหยุดพักผ่อนประจำปีโจทก์เจ็บป่วยต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีเหตุอันสมควร เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าชดเชย ค่ารักษาพยาบาลพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยยังไม่ครบกำหนดหนึ่งปี จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายฐานเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การที่โจทก์เจ็บป่วยต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลไม่ใช่เนื่องจากการทำงานให้จำเลยหรือโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงานจำเลยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินแก่โจทก์เป็นค่าเสียหาย25,000 บาท ค่าชดเชย 23,100 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า7,700 บาท ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 1,796.66 บาทค่ารักษาพยาบาล 13,413 บาท รวมเป็นเงิน 71,009.66 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 3 กรกฎาคม 2532) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์เรื่องค่ารักษาพยาบาลว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 2 คำว่า “เจ็บป่วย” หมายความว่า ลูกจ้างเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างด้วยโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของงาน หรือโรคซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด การเจ็บป่วยของโจทก์ไม่เกี่ยวกับการทำงานนั้นเห็นว่า ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานดังกล่าว ให้คำนิยามของคำว่า “เจ็บป่วย” ไว้เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างที่เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานคดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกเงินทดแทนจากจำเลย แต่เรียกเงินค่ารักษาพยาบาลจากจำเลยตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ซึ่งศาลแรงงานแลางวินิจฉัยว่าจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติว่า กรณีที่ลูกจ้างเจ็บป่วยไม่ว่าเนื่องจากการทำงานหรือไม่ จำเลยก็จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ ศาลฎีกาจึงไม่ต้องวินิจฉัยตามหลักกฎหมายที่จำเลยกล่าวอ้าง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาเกี่ยวกับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีว่าโจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีปีละ 6 วัน และเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นเงิน 1,796 บาท พออนุโลมได้ว่า โจทก์เรียกร้องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนมา7 วัน เป็นเงิน 1,796 บาท แม้คำนวณโดยถูกต้องแล้วจะเป็นเงิน1,796.66 บาท แต่ตามคำขอของโจทก์เรียกร้องเพียง 1,796 บาทศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเป็นเงิน 1,796.66 บาท จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้โดยตรงแต่ก็ได้อุทธรณ์ในเรื่องค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีมาด้วยศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้โจทก์เป็นเงิน 1,796 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share