คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5437/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์มีอาชีพขายเครื่องประดับอัญมณี โจทก์นำเครื่องประดับอัญมณีไปขายฝากหรือจำนำที่ห้างทอง พ. เป็นเงิน 3 ล้านบาทเศษ ต่อมาโจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ช่วยเหลือโดยการไถ่ทรัพย์สินดังกล่าวให้ ซึ่งแน่นอนว่าโจทก์ต้องมีหลักประกันที่น่าเชื่อถือให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษถึงขนาดที่จำเลยที่ 1 จะนำเงินจำนวนมากไปไถ่ทรัพย์สินให้โจทก์โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือหลักประกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ไถ่ทรัพย์สินมาแล้วโจทก์ได้ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ทันทีเพื่อเป็นหลักประกันหนี้ ย่อมเข้าลักษณะเป็นการจำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747 จำเลยที่ 1 ผู้รับจำนำชอบที่จะยึดของจำนำไว้ได้ทั้งหมดจนกว่าจะได้รับชำระหนี้และค่าอุปกรณ์ครบถ้วนตามมาตรา 758ส่วนการที่โจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 นำทรัพย์สินไปขายให้แก่บุคคลอื่นโดยโจทก์กำหนดราคาขายให้นั้น ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผู้รับจำนำจะช่วยขายทรัพย์สินที่จำนำให้แก่โจทก์เพื่อนำเงินมาชำระหนี้คืนแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น มิใช่เรื่องตัวการตัวแทนทั้งข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ขายทรัพย์สินจำนำให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วหรือไม่ แต่กลับได้ความจากโจทก์เองว่า จำเลยที่ 2 มีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินเพื่อชำระหนี้จำนำทรัพย์สินดังกล่าวให้เสร็จภายใน 30 วัน อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มิใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินของโจทก์จากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ดังนั้น แม้หากจะฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้ขายทรัพย์สินไปแล้วและยังไม่ได้ชำระเงินค่าทรัพย์สินส่วนที่เหลือจากการหักชำระหนี้จำนำคืนให้แก่โจทก์ก็ตาม ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่งที่โจทก์ต้องฟ้องร้องขอชำระหนี้ที่จำนำหรือเรียกราคาทรัพย์สินคืนจากจำเลยทั้งสองเท่านั้น จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานยักยอก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องประดับอัญมณีรวม 5 รายการ เป็นเงินจำนวน 6,685,300 บาท เมื่อประมาณปลายปี 2538 โจทก์นำเครื่องประดับอัญมณีดังกล่าวไปขายฝากหรือจำนำไว้แก่ห้างทองเพชรฮั่วกี่ เป็นเงินจำนวน 3,550,000 บาท หลังจากนั้นโจทก์ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยได้ จำเลยที่ 1จึงไถ่ถอนเครื่องประดับอัญมณีจากห้างทองเพชรฮั่วกี่ให้ โจทก์ฝากเครื่องประดับอัญมณีไว้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยทั้งสองร่วมกันเบียดบังเครื่องประดับอัญมณีของโจทก์ไปเป็นของจำเลยทั้งสองหรือบุคคลที่สาม โดยจำเลยที่ 1 บอกให้โจทก์ขายเครื่องประดับอัญมณีดังกล่าว โจทก์ตกลงขายโดยกำหนดราคาให้จำเลยที่ 1 ไว้แล้ว จำเลยที่ 1ได้ขายเครื่องประดับอัญมณีของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ไป แต่ปิดบังมิให้โจทก์ทราบเรื่องและปฏิเสธว่ายังมิได้ขาย โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันสร้างเรื่องว่า โจทก์กู้เงินจากจำเลยที่ 2 และนำเครื่องประดับอัญมณีไปจำนำเป็นประกันหนี้เงินกู้ซึ่งไม่เป็นความจริงอีกด้วยการกระทำของจำเลยทั้งสองถือได้ว่าเป็นการร่วมกันครอบครองทรัพย์สินของโจทก์ แล้วเบียดบังเอาเป็นทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองหรือบุคคลที่สามโดยเจตนาทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และ 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่าคดีโจทก์มีมูลความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ ได้ความจากโจทก์ว่าโจทก์มีอาชีพขายเครื่องประดับอัญมณีและเคยนำเครื่องประดับอัญมณีไปขายฝากหรือจำนำเป็นประกันการกู้ยืมเงินแก่ผู้อื่นหลายครั้ง เมื่อประมาณปลายปี 2538 โจทก์ให้นางสาวพงษ์ลดา ศักดิ์เสือ ลูกจ้างโจทก์นำเครื่องประดับอัญมณีจำนวน 8 ชิ้น รวม 5 รายการตามบัญชีทรัพย์สินเอกสารหมาย จ.1 ไปขายฝากหรือจำนำที่ห้างทองเพชรฮั่วกี่เป็นเงินจำนวน 3,550,000 บาท กำหนดชำระดอกเบี้ยทุก 2 เดือน ครั้งละประมาณ100,000 บาท ต่อมาวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 ช่วยเหลือโดยการไถ่ทรัพย์สินดังกล่าวให้เนื่องจากโจทก์ต้องชำระดอกเบี้ยครั้งละเป็นเงินจำนวนมากจำเลยที่ 1 ตกลงช่วยเหลือโจทก์ จากนั้นโจทก์และจำเลยที่ 1 กับพวกเดินทางไปไถ่ทรัพย์สินที่ห้างทองเพชรฮั่วกี่ เป็นเงินต้นจำนวน 3,550,000 บาท ดอกเบี้ยจำนวน350,000 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 3,900,000 บาท เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 นำเงินไปไถ่เครื่องประดับอัญมณีที่โจทก์นำไปขายฝากหรือจำนำไว้ที่ห้างทองเพชรฮั่วกี่ เป็นเงินต้นและดอกเบี้ยรวมเป็นเงินมากถึงจำนวน 3,900,000 บาท หากโจทก์ไม่มีหลักประกันที่น่าเชื่อถือให้จำเลยที่ 1 ก็ย่อมเป็นการยากที่จำเลยที่ 1 จะนำเงินจำนวนมากเช่นนั้นไปไถ่ทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่โจทก์ประกอบกับไม่ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษถึงขนาดจำเลยที่ 1 ต้องนำเงินจำนวนมากขนาดนั้นไปไถ่ทรัพย์สินให้แก่โจทก์ โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือหลักประกันให้แก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ดังนั้นที่โจทก์เบิกความว่าหลังจากไถ่ทรัพย์สินแล้ว โจทก์ฝากทรัพย์สินไว้กับจำเลยที่ 1 เนื่องจากเห็นว่าจำเลยที่ 1 ช่วยไถ่ให้ โดยไม่ได้มอบทรัพย์สินให้แก่จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้เป็นหลักประกันการชำระหนี้จำนวน 3,900,000 บาท นั้น จึงเป็นการผิดปกติวิสัยที่จำเลยที่ 1 จะนำเงินจำนวนมากขนาดนั้นไปไถ่ทรัพย์สินให้แก่โจทก์ โดยไม่มีหลักประกันให้ยึดถือไว้คำเบิกความของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นพิรุธและไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ซึ่งในข้อนี้ได้ความจากนางสาวพงษ์ลดาพยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า โจทก์มอบทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้ จึงเชื่อได้ว่าโจทก์มอบทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์สินเอกสารหมาย จ.1 ให้แก่จำเลยที่ 1 ยึดถือไว้เป็นหลักประกันการชำระเงินที่จำเลยที่ 1 นำไปไถ่ทรัพย์สินคืนให้แก่โจทก์นั่นเอง ดังนี้ การที่โจทก์ส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ในทันทีเพื่อเป็นหลักประกันหนี้ ย่อมเข้าลักษณะเป็นการจำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747 จำเลยที่ 1 ผู้รับจำนำชอบที่จะยึดของจำนำไว้ได้ทั้งหมดจนกว่าจะได้รับชำระหนี้และค่าอุปกรณ์ครบถ้วนตามมาตรา 758 อีกทั้งการที่จำเลยที่ 1 โทรศัพท์มาบอกโจทก์ว่าจะช่วยขายทรัพย์สินให้ และโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 นำทรัพย์สินไปขายให้แก่บุคคลอื่นได้โดยโจทก์กำหนดราคาขายให้นั้นก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผู้รับจำนำจะช่วยขายทรัพย์สินที่จำนำให้แก่โจทก์เพื่อนำเงินมาชำระหนี้คืนให้แก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น มิใช่เรื่องตัวการตัวแทน ยิ่งไปกว่านั้นพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ขายทรัพย์สินจำนำให้แก่จำเลยที่ 2 ไปแล้วจริงหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลับได้ความจากโจทก์เองว่า จำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 3,900,000 บาท เพื่อชำระหนี้จำนำทรัพย์สินดังกล่าวให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 30 วัน ตามหนังสือบอกกล่าวทวงถามเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินของโจทก์จากจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดถึงแม้หากจะฟังว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้รับจำนำได้ขายทรัพย์สินไปและยังไม่ได้ชำระเงินค่าทรัพย์สินส่วนที่เหลือจากการหักชำระหนี้จำนำคืนให้แก่โจทก์ก็ตาม ก็เป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่งที่โจทก์จะต้องฟ้องร้องขอชำระหนี้ที่จำนำหรือเรียกทรัพย์สินคืนจากจำเลยทั้งสองเท่านั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังไม่มีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวนโดยไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุนหรือไม่นั้น เห็นว่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า พฤติการณ์จากพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ส่งมอบทรัพย์สินให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้เงินที่จำเลยที่ 1 นำไปไถ่ทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่โจทก์ อันเข้าลักษณะเป็นการจำนำนั้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยพฤติการณ์จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาในสำนวนทั้งสิ้น จึงหาใช่เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนหรือไม่มีพยานหลักฐานใดในสำนวนสนับสนุนไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”

พิพากษายืน

Share