คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 630/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นพนักงานของธนาคารโจทก์ร่วมไม่มีหน้าที่การเงินจำเลยนำเช็คปลอมจำนวน3ฉบับไปยื่นต่อส. และอ. ซึ่งเป็นพนักงานการเงินของโจทก์ร่วมต่างวันกันโดยแต่ละครั้งจำเลยนำใบฝากโอนเงินเข้าธนาคารต่างสาขาในบัญชีของบ. ซึ่งจำเลยแต่ผู้เดียวมีอำนาจถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวแม้ไม่มีพยานหลักฐานบ่งชี้ว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมหรือมีส่วนในการปลอมเช็ค3ฉบับดังกล่าวแต่ตามพฤติการณ์แสดงได้ว่าจำเลยรู้ว่าเช็คนั้นเป็นเอกสารปลอมดังนั้นการที่จำเลยนำเช็คปลอมไปแสดงต่อพนักงานการเงินของโจทก์ร่วมโดยปกปิดความจริงจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อยอมสั่งจ่ายเงินตามเช็คปลอมจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกง พนักงานอัยการโจทก์ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้เงินที่จำเลยฉ้อโกงไปคืนแก่ผู้เสียหายมาท้ายฟ้องและโจทก์ร่วมได้เสียค่าธรรมเนียมมาถูกต้องแล้วจำเลยจึงต้องคืนหรือใช้เงินตามฟ้องให้โจทก์ร่วม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 266,268, 341, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน2514 ข้อ 2 ริบตั๋วเงินปลอมของกลาง กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 202,700 บาท ที่จำเลยฉ้อโกงไปคืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาคดีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด ผู้เสียหายร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องแต่ให้ริบตั๋วเงินปลอมของกลางทั้ง 3ฉบับ
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268, 266, 341 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268อันเป็นบทหนักจำคุกจำเลย 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกงหรือไม่
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า ความผิดฐานใช้เอกสารปลอมผู้ใช้ต้องรู้ว่าเอกสารที่ใช้เป็นเอกสารปลอม จำเลยรับเช็คทั้งสามฉบับไว้ตามหน้าที่โดยไม่รู้ว่าเป็นเอกสารปลอมนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า นายสุเทพ ผู้จัดการธนาคารโจทก์ร่วม สาขาบางกะปิ เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุราว 1 เดือนพยานได้สั่งให้จำเลยไปช่วยงานด้านสินเชื่อ ไม่ต้องไปทำหน้าที่พนักงานการเงิน นางสุคนธ์ สมุห์บัญชีว่า จำเลยมีหน้าที่พิมพ์หนังสืออยู่หน้าห้องผู้จัดการชั้นบนนางสาวอัจฉรา ผู้ช่วยสมุห์บัญชีก็ว่าปกติจำเลยนั่งประจำอยู่ชั้นบนหน้าห้องผู้จัดการ จำเลยเองก็ให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า ได้ลงมาช่วยทำนห้าที่พนักงานการเงินเฉพาะวันที่ 15และวันสิ้นเดือนของทุกเดือน และต้องได้รับคำสั่งจากแคชเชียร์หรือผู้จัดการจึงจะลงมาช่วยงานได้ แต่เช็คทั้งสามฉบับที่จำเลยเป็นผู้นำไปเสนอนางสุคนธ์และนางสาวอัจฉรา มิได้ยื่นในวันที่ 15 หรือวันสิ้นเดือน ข้ออ้างของจำเลยที่ว่า รับเช็คไว้ตามหน้าที่จึงไม่เป็นความจริงยิ่งกว่านั้นเช็คทั้งสามฉบับมิใช่เป็นเช็คปลอมเพียงฉบับใดฉบับหนึ่ง แต่เป็นเช็คปลอมทั้งสามฉบับ ทั้งจำเลยนำไปยื่นต่อนางสุคนธ์ นางสาวอัจฉรา ต่างวันก็มิใช่ในวันเดียว จึงไม่เชื่อว่าจะเป็นเหตุบังเอิญดังจำเลยกล่าวในฎีกา นอกจากนี้แต่ละครั้งที่จำเลยนำเช็คไปยื่น จำเลยก็นำไปฝากโอนเงินเข้าธนาคารต่างสาขาไปยื่นด้วยในวันเดียวกัน จำนวนเงินในใบฝากเงินตรงกับจำนวนเงินตามเช็ค และโอนเงินไปเข้าบัญชีของนายบัณฑิตที่ธนาคารโจทก์ร่วมสาขาบางเขน ข้อที่จำเลยว่าถ้าจำเลยมีเจตนาทุจริต จำเลยรับเงินสดไปทันทีจะปลอดภัยกว่า ศาลฎีกาเห็นว่าหากจำเลยรับเงินสดไปจะส่อพิรุธเพราะจำเลยอ้างว่า มีผู้อื่นนำเช็คมายื่นมิใช่จำเลย ถ้าจะรับเงินสดก้ต้องมีผู้มารับเงินไป หากจำเลยเอาเงินสดไปเองก็จะเป็นที่ผิดสังเกตของผู้ร่วมงาน การโอนเงินเข้าบัญชีชื่อผู้อื่นหากมีการสอบถามชื่อเจ้าของบัญชีก็จะได้รับแจ้งว่านายบัณฑิตเป็นเจ้าของบัญชีทั้ง ๆ ที่ความจริงจำเลยแต่ผู้เดียวเป็นผู้มีอำนาจถอนเงินจากบัญชีของนายบัณฑิต จำเลยอ้างว่านายจิตติพันธ์ อมรพันธ์ เป็นผู้นำเช็คมาเบิกเงินและฝากเงินเข้าบัญชีที่จำเลยสั่งจ่ายได้คือธนาคารโจทก์ร่วมสาขาบางเขน แต่จำเลยมิได้นำตัวบุคคลดังกล่าวมาเบิกความเป็นพยาน ซึ่งจะมีตัวอยู่จริงหรือไม่ก็ไม่ปรากฏแน่ชัด จำเลยอ้างว่านายจิตติพันธ์ อมรพันธ์ ชอบพอจำเลย จึงฝากเงินเข้าบัญชีไว้แล้วมาขอรับภายหลังไม่มีเหตุผลควรเชื่อ เงินตามเช็คที่จำเลยว่านายจิตติพันธ์ อมรพันธ์ ฝากเข้าบัญชีของจำเลยเป็นจำนวนเกือบสองแสนบาท โดยที่ผู้ฝากไม่สามารถเบิกได้หากจำเลยถึงแก่ความตายผู้ฝากก็ย่อมสูญเงินเปล่า ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นผู้เล่าเรื่องการรับเช็คไว้ให้โจทก์ร่วมทราบเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจนั้น ไม่มีพยานโจทก์คนใดเบิกความรับรองเรื่องนี้ นายสุเทพผู้จัดการเบิกความว่า เมื่อพบว่าเช็คเอกสารหมาย จ.5 ปลอมจึงรายงานไปทางสำนักงานใหญ่ของธนาคารโจทก์ร่วม ทางสำนักงานใหญ่ส่งคนมาตรวจสอบจึงพบเช็คเอกสารหมาย จ.8 จ.9 แม้จะไม่มีพยานหลักฐานอันใดบ่งชี้ว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมเช็คทั้งสามฉบับหรือมีส่วนร่วมในการปลอมเช็คดังกล่าว แต่พฤติการณ์ของจำเลยก็บ่งชี้ว่า จำเลยรู้ว่าเช็คตามฟ้องทั้งสามฉบับเป็นเอกสารปลอม การที่จำเลยนำเช็คตามฟ้องทั้งสามฉบับไปแสดงต่อพนักงานธนาคารโจทก์ร่วม สาขาบางกะปิ โดยปกปิดความจริงจนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมหลงเชื่อสั่งจ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับเข้าบัญชีเงินฝากซึ่งจำเลยเป็นผู้มีอำนาจถอนเงินได้แต่ผู้เดียว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอมและฉ้อโกง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่โจทก์ร่วมนั้น เห็นว่าโจทก์ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน จำนวน202,700 บาท ที่จำเลยฉ้อโกงไปคืนแก่ผู้เสียหายมาท้ายฟ้องและโจทก์ร่วมได้เสียค่าธรรมเนียมมาถูกต้องแล้ว เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิด จำเลยจึงต้องคืนหรือใช้เงินตามฟ้องให้โจทก์ร่วม ฎีกาของโจทก์ร่วมฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 202,700 บาทแก่โจทก์ร่วมด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์.

Share