คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1425/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ระหว่างโจทก์ดำเนินการก่อสร้างทำนบดินอ่างเก็บน้ำตามข้อตกลงในสัญญาจำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาและมีหนังสือบอกเลิกสัญญา โดยมิได้เสนอข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยก่อนตาม สัญญาจ้างเหมาข้อ 19 ส่วนโจทก์เมื่อเห็นว่าตนเองทำงานเสร็จตามสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ตรวจรับงาน และไม่ชำระเงินค่าจ้าง ก็นำคดีมาฟ้องโดยไม่ปฏิบัติตามสัญญา ข้อ 19 ก่อนเช่นกันและเมื่อถูกฟ้องแล้วจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นก่อนวันสืบพยานให้มีคำสั่งจำหน่ายคดี เพื่อให้คู่สัญญาดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อนตาม พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 สละผลบังคับ ตามสัญญาข้อ 19 โดยปริยายแล้ว จำเลยที่ 1 จะนำ ข้อสัญญาดังกล่าวมาบังคับให้โจทก์ปฏิบัติอีกหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาจ้างเหมาโจทก์ก่อสร้างทำนบดินอ่างเก็บน้ำหนองห้วยบ่อ ตกลงค่าจ้างจำนวน 699,000 บาทมีจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการตรวจรับงาน โจทก์ทำงานเสร็จแล้วแต่จำเลยทั้งหกไม่ยอมตรวจรับงาน ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินจำนวน 712,106 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 699,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งหกให้การและจำเลยที่ 1 แก้ไขคำให้การทำนองเดียวกันว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อวินิจฉัยก่อน โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 กระทำตามอำนาจหน้าที่จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างสืบพยานฝ่ายจำเลย ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วจึงงดสืบพยานจำเลย แล้ววินิจฉัยว่า ภายหลังมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เสนอข้อขัดแย้งต่อหัวหน้าหน่วยราชการของจำเลยที่ 1 หรือเสนอให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยตามข้อตกลงในสัญญา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่เสนอข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทต่อหัวหน้าหน่วยราชการหรือเสนอให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยตามข้อตกลงในสัญญานั้นเห็นว่า ระหว่างโจทก์ดำเนินการก่อสร้างทำนบดินอ่างเก็บน้ำห้วยหนองบ่อตามสัญญา จำเลยที่ 1 อ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาและได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญา ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2534 โดยมิได้เสนอข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้นุญาโตตุลาการวินิจฉัยก่อนตามสัญญาจ้างเหมาข้อ 19 ส่วนโจทก์เมื่อเห็นว่าตนเองทำงานแล้วเสร็จตามสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ตรวจรับงานและไม่ชำระเงินค่าจ้างก็นำคดีมาฟ้องโดยไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อ 19ก่อนเช่นกัน และเมื่อถูกฟ้องแล้วจำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นก่อนวันสืบพยานให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 มาตรา 10 พฤติการณ์ดังกล่าว ถือว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 สละผลบังคับตามสัญญาข้อ 19 โดยปริยายแล้ว จำเลยที่ 1 หาอาจยกเอาข้อสัญญาดังกล่าวมาบังคับให้โจทก์ปฏิบัติอีกได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share