แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้หนังสือสัญญาว่าจ้างระบุชื่อผู้ว่าจ้างคือ จำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว แต่ในหนังสือสัญญาดังกล่าวข้อ 1 มีข้อตกลงระบุให้โจทก์ว่าความในคดีดังกล่าวที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 1 อีกทั้งใบแต่งทนายความก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้แทนโดยชอบธรรมแต่งตั้งโจทก์เป็นทนายความในคดีดังกล่าว นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นตัวความในคดีดังกล่าว การจ้างโจทก์ว่าความจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อย่างแท้จริง ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาจ้างว่าความแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของจำเลยที่ 2 กับนายชลิต ซึ่งเป็นสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส หลังจากนายชลิตถึงแก่ความตาย ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งตั้งนางสาวบังอร นายเอนก นางสาวเบญจมาศ และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้แทนโดยชอบธรรม ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายชลิตตามสำเนาคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ ส.1371/2547 ของศาลจังหวัดนนทบุรี ต่อมาจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนนางสาวบังอร นายเอนก และนางสาวเบญจมาศ ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายชลิต ระหว่างการพิจารณาคดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้แทนโดยชอบธรรมแต่งตั้งโจทก์เป็นทนายความดำเนินคดีแทนทนายความคนเดิม ตามสำเนาใบแต่งทนายความ และเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2549 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์เป็นทนายความในคดีดังกล่าว ตกลงค่าจ้างเป็นเงิน 300,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 จะชำระค่าจ้างว่าความทันทีที่จำเลยที่ 1 ได้รับทรัพย์สินหรือเงินอันเป็นมรดกของนายชลิตผู้ตาย ตามหนังสือสัญญาจ้างว่าความ หลังจากนั้นโจทก์ทำหน้าที่ในคดี คือ เข้าร่วมเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้จัดการมรดกทุกคนรวม 4 ครั้ง จนสามารถตกลงกันได้ โดยมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องที่ขอเพิกถอนผู้จัดการมรดกร่วมทั้งสามคน ตามสำเนารายงานกระบวนพิจารณาและโจทก์เข้าร่วมประชุมกับผู้จัดการมรดกทุกคนเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายชลิตผู้ตาย จนได้ข้อยุติว่าจำเลยที่ 1 ได้รับทรัพย์มรดกเป็นที่ดินรวม 4 แปลง มูลค่าราคาประเมิน 600,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าเล่าเรียนของจำเลยที่ 1 ระหว่างศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เดือนละ 2,000 บาท ระหว่างศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ถึงระดับปริญญาตรีเดือนละ 3,000 บาท ทั้งนี้จำเลยที่ 1 ต้องอายุไม่เกิน 22 ปี รวมเป็นเงิน 336,000 บาท ตามสำเนาบันทึกรายงานการประชุม รายงานข้อมูลราคาประเมินที่ดินและรายละเอียดเงินช่วยเหลือค่าเล่าเรียน ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้แทนโดยชอบธรรมแต่งตั้งโจทก์เป็นทนายความยื่นคำร้องขอถอนการเป็นผู้จัดการมรดกร่วมของนายชลิตผู้ตายต่อศาลจังหวัดนนทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ตามสำเนาใบแต่งทนายความและสำเนาคำร้อง ซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตตามคำสั่งในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 17/2552 ของศาลจังหวัดนนทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว และทุกคดีถึงที่สุดแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้หนังสือสัญญาจ้างว่าความระบุชื่อผู้ว่าจ้างคือ จำเลยที่ 2 เพียงผู้เดียว แต่ในหนังสือสัญญาดังกล่าวข้อ 1 มีข้อตกลงระบุให้โจทก์ว่าความในคดีดังกล่าวที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของจำเลยที่ 1 อีกทั้งใบแต่งทนายความ ก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ผู้แทนโดยชอบธรรมแต่งตั้งโจทก์เป็นทนายความในคดีดังกล่าว นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นตัวความในคดีดังกล่าว การจ้างโจทก์ว่าความจึงเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์อย่างแท้จริง ข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาจ้างว่าความแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ต้องชำระค่าจ้างว่าความให้แก่โจทก์เพียงใด โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าจ้างว่าความ 300,000 บาท คำนวณจากราคาทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 จะได้รับประมาณ 3,000,000 บาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 4 แปลง ราคาประมาณ 600,000 บาท ส่วนเงินค่าเล่าเรียนที่จำเลยที่ 1 ได้รับเป็นรายเดือนก็ใช้จ่ายหมดไปในแต่ละเดือนค่าจ้างว่าความ 300,000 บาท จึงสูงมากเกินไปนั้น เห็นว่า หนังสือสัญญาจ้างว่าความเป็นสัญญาจ้างทำของ อันมีสาระสำคัญว่าโจทก์ตกลงรับจ้างว่าความในคดีหมายเลขแดงที่ ส. 1371/2547 ของศาลจังหวัดนนทบุรี จนเป็นผลสำเร็จทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับทรัพย์สินหรือเงินอันเป็นมรดกของนายชลิตผู้ตายเท่านั้น ไม่มีข้อสัญญาระบุว่า จำเลยที่ 1 ต้องได้รับทรัพย์มรดกเพียงใด หรือมีการคิดคำนวณค่าจ้างว่าความจากทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 จะได้รับแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 4 แปลง และได้รับเงินจากกองมรดกเป็นค่าเล่าเรียนรายเดือนนับตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จนจบสายอาชีพหรือปริญญาตรี จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทำการงานเสร็จให้แก่จำเลยทั้งสองแล้วแม้จะมีการตกลงค่าจ้างว่าความไว้ในอัตราสูงก็หาได้ทำให้หนังสือสัญญาจ้างว่าความดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีไม่ จำเลยที่ 2 จึงต้องจ่ายสินจ้างเต็มตามสัญญาตามที่ตกลงไว้เพื่อผลสำเร็จแห่งการที่โจทก์ทำนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าจ้างว่าความจำนวนดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น ดังนั้นจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันชำระค่าจ้างว่าความให้แก่โจทก์ 300,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ