คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 998/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นภริยาของส. แม้จำเลยกับส. จะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับจำเลยก็มีฐานะเป็นลูกสะใภ้ของนางล.นางล.ยอมให้จำเลยเข้ามาอยู่ในบ้านพิพาทร่วมกับตนย่อมถือได้ว่าจำเลยมีฐานะเป็นบุคคลในครอบครัวและในครัวเรือนของนางล. ผู้มีสิทธิอาศัยในบ้านพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1405แล้วแม้ต่อมานางล. จะไปรักษาตัวอยู่ที่จังหวัดอื่นและไม่ได้อยู่ในบ้านพิพาทก็ตามนางล. ก็ยังมิได้สละสิทธิอยู่อาศัยในบ้านพิพาทยังคงมีสิทธิอยู่อาศัยในบ้านพิพาทได้ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่สิทธิอยู่อาศัยของนางล. หาได้สิ้นไปเพราะมิได้อยู่ในบ้านพิพาทไม่ดังนั้นจำเลยซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวและในครัวเรือนของนางล.จึงมีสิทธิอยู่ในบ้านพิพาทได้โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกจากบ้านพิพาทและส่งมอบบ้านคืนในสภาพเรียบร้อย พร้อมกับชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 1,200 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากบ้านพิพาท
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นภริยาของนายสุชาติ เพ็ญสุขเหลือซึ่งเป็นบุตรของนางสำลี จำเลยและบุตรได้รับความยินยอมจากนางสำลีให้อาศัยในบ้านพิพาทจึงเป็นบริวารของนางสำลีและมีสิทธิอาศัยในบ้านพิพาทได้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิจารณา แล้ว พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยเป็นบุคคลในครอบครัวและในครัวเรือนของนางสำลี สกุลเมืองผู้อาศัยหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงมาว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านพิพาทได้ให้นางสำลี สกุลเมืองมีสิทธิอาศัยในบ้านพิพาทตลอดชีวิต ขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้ นางสำลียังมีชีวิตอยู่ แต่ได้ย้ายไปพักรักษาตัวอยู่กับบุตรสาวที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนจำเลยอยู่กินเป็นสามีภรรยากับนายสุรชาติเพ็ญสุขเหลือ ซึ่งเป็นบุตรของนางสำลีโดยมิได้จดทะเบียนสมรสกันและมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กหญิงสุพรรณิการณ์กับเด็กชายพลากรนางสำลียอมให้จำเลยและบุตรอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทร่วมกับนางสำลีได้ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยเป็นภรรยาของนายสุรชาติ แม้จำเลยกับนายสุรชาติจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน จำเลยก็มีฐานะเป็นลูกสะใภ้ของนางสำลีซึ่งนางสำลียอมให้จำเลยเข้ามาอยู่ในบ้านพิพาทร่วมกับตน ย่อมถือได้ว่าจำเลยมีฐานะเป็นบุคคลในครอบครัวและในครัวเรือนของนางสำลีผู้มีสิทธิอาศัยในบ้านพิพาท ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1405 แล้ว แม้ต่อมานางสำลีจะไปรักษาตัวอยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และไม่ได้อยู่ในบ้านพิพาทก็ตาม นางสำลีก็ยังมิได้สละสิทธิอยู่อาศัยในบ้านพิพาท นางสำลียังคงมีสิทธิอยู่อาศัยในบ้านพิพาทได้ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ สิทธิอยู่อาศัยของนางสำลีหาได้สิ้นไปเพราะมิได้อยู่ในบ้านพิพาทในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ไม่ จำเลยซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวและในครัวเรือนของนางสำลีจึงมีสิทธิอยู่ในบ้านพิพาทได้แม้นางสำลีจะมิได้อยู่ด้วยก็ตาม โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยให้การแต่เพียงว่าจำเลยเป็นบริวารของนางสำลีไม่ได้ให้การว่าเป็นบุคคลในครอบครัวและในครัวเรือนของนางสำลีการที่ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นบุคคลในครอบครัวและในครัวเรือนของนางสำลี จึงเป็นการวินิจฉัยเกินเลยไปจากคำให้การของจำเลยนั้น เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ข้อนี้แม้โจทก์มิได้ยกขึ้นว่ากันในศาลอุทธรณ์แต่ปัญหาว่า คำให้การของจำเลยก่อให้เกิดประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนชอบที่ศาลฎีกาวินิจฉัยให้ได้เห็นว่า การที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าเป็นบริวารของนางสำลีและได้เข้าอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทโดยได้รับความยินยอมจากนางสำลีคำให้การของจำเลยเท่ากับเป็นการยกข้อต่อสู้ว่าจำเลยเป็นบุคคลในครอบครัวและในครัวเรือนของนางสำลีมีสิทธิอยู่ในบ้านพิพาทด้วยได้ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นจึงไม่เกินเลยไปจากคำให้การของจำเลย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน

Share