แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 38 และมาตรา 40มิได้บัญญัติให้การที่กรรมการแพทย์ผู้หนึ่งทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจะเป็นการไม่ชอบ เพราะไม่มีบทบัญญัติว่าความเห็นของกรรมการการแพทย์จะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการการแพทย์เสียก่อนจึงจะเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้ เพียงแต่เมื่อมีปัญหาจะต้องขอคำปรึกษาแนะนำจากคณะกรรมการการแพทย์ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงจะขอให้คณะกรรมการการแพทย์เสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 และเมื่อรายงานผลการสอบสวนอาการเจ็บป่วยของโจทก์มิใช่การดำเนินงานในการให้บริการทางการแพทย์ แต่เป็นรายงานการตรวจร่างกายโจทก์ที่นายแพทย์ส.กระทำขึ้นเพื่อเสนอคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสารพิษในร่างกายของโจทก์ หากคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเห็นว่าความเห็นดังกล่าวเพียงพอที่จะวินิจฉัยคำร้องขอของโจทก์ได้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้าปรึกษาคณะกรรมการการแพทย์ โดยนำรายงานดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้ และตามมาตรา 38 วรรคสอง บัญญัติให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่าง ๆดังนี้ เมื่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเห็นว่าเรื่องใดควรจะมอบหมายให้แพทย์ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในคณะกรรมการการแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคที่จะต้องวินิจฉัยว่ามีลักษณะอาการอย่างไรก็อาจจะนำความเห็นของแพทย์ผู้นั้นมาพิจารณาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้ ดังนั้นรายงานผลการสอบสวนอาการเจ็บป่วยที่ ส.ทำขึ้นและนำเสนอให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาจึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 40 ในประเด็นข้อที่ว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามฟ้องหรือไม่ ศาลแรงงานได้วินิจฉัยพยานโจทก์แล้วเห็นว่าการที่โจทก์มีปริมาณสารอะลูมิน่าเพิ่มขึ้นเป็นปริมาณสูงหลังจากที่ไม่ได้สัมผัสกับสารเช่นนี้ไม่สอดคล้องด้วยเหตุผล อีกทั้งได้ความจาก ย.พยานศาลและนายแพทย์ส.ว่าสารอะลูมิน่านี้มีอยู่ทั่วไปในภาวะแวดล้อมหากเก็บตัวอย่างไม่ดีอาจมีการปนเปื้อนสารอะลูมิน่า จากภายนอกได้ง่าย การที่ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการปรากฏว่าโจทก์มีปริมาณสารอะลูมิน่าอยู่ในร่างกายสูงจนผิดไปจากปกติมากเช่นนี้จึงอาจเกิดจากการปนเปื้อนของสารอะลูมิน่าที่มีอยู่ในภาวะแวดล้อมในขณะจัดเก็บก็ได้ ลำพังผลการตรวจหาสารอะลูมิน่าในร่างกายของโจทก์ที่มีปริมาณสูงจนผิดปกติเพียงอย่างเดียว ไม่อาจยืนยันเด็ดขาดได้ว่าอาการป่วยของโจทก์เกิดจากสารอะลูมิน่าจากการทำงาน ส่วนพยานบุคคลที่จำเลยนำสืบล้วนแต่เป็นผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญเมื่อรับฟังประกอบกับเอกสารทางวิชาการของต่างประเทศเกี่ยวกับสารอะลูมิน่าตามเอกสารหมาย ล.35 และ ล.36 แล้วเห็นว่ามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เจ็บป่วยโดยมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลียปวดตามข้อชาตามแขนและมือจริง แต่การเจ็บป่วยดังกล่าวไม่ได้เกิดจากสารอะลูมิน่าจากการทำงาน ดังนี้ เมื่อศาลแรงงานได้นำข้อนำสืบของทั้งสองฝ่ายมาวินิจฉัยโดยละเอียด มิใช่ฟังเฉพาะเอกสารหมายล.35 และ ล.36 ที่เป็นภาษาต่างประเทศเท่านั้น การนำเอกสารทั้งสองฉบับมากล่างอ้างเป็นส่วนหนึ่งในเหตุผลแห่งการวินิจฉัยย่อมกระทำได้ ไม่ทำให้การวินิจฉัยในส่วนอื่นเสียไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสามศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าเห็นควรให้คู่ความฝ่ายที่ส่งเอกสารนั้นทำคำแปลที่เป็นภาษาไทย ซึ่งศาลอาจไม่สั่งให้ทำคำแปลก็ได้เช่นในกรณีที่เอกสารนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งแห่งพยานหลักฐานที่ฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นที่เพียงพอต่อการวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วจึงไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องสั่งให้คู่ความทำคำแปลเสมอไป การที่ศาลแรงงานมิได้สั่งให้จำเลยทำคำแปลเอกสารซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศการอ้างเอกสารดังกล่าวของฝ่ายจำเลยจึงไม่ขัดต่อกฎหมายและศาลแรงงานย่อมรับฟังเอกสารนั้นในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งแห่งพยานหลักฐานที่คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารนำสืบได้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 ซึ่งอนุโลมใช้ในคดีแรงงานด้วย บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้นอีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่ามิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่าหรือพยานแวดล้อมกรณี เพียงแต่มีหลักว่าให้ฟังประจักษ์พยานเป็นลำดับแรกแต่ถ้าประจักษ์พยานขัดต่อเหตุผลศาลก็อาจจะไม่รับฟังก็ได้ ส่วนพยานบอกเล่าและพยานแวดล้อมกรณีนั้น แม้จะมีน้ำหนักน้อยกว่าประจักษ์พยาน แต่ถ้าศาลเห็นว่าพยานหลักฐานที่เป็นประจักษ์พยานไม่น่าเชื่อถือ ศาลอาจฟังพยานหลักฐานอื่นได้ คดีนี้ประเด็นสำคัญที่จะต้องวินิจฉัยคือโจทก์เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานหรือไม่ แพทย์ผู้ทำการตรวจร่างกายโจทก์และให้ความเห็นล้วนแต่เป็นพยานโดยตรง นายแพทย์ส.พยานจำเลยเป็นผู้หนึ่งที่ได้ตรวจร่างกายโจทก์และให้ความเห็น แม้จะได้ทำการตรวจภายหลังจากที่แพทย์หญิงช.และแพทย์หญิงอ.ได้ตรวจร่างกายโจทก์ ก็ไม่ทำให้นายแพทย์ส. มิใช่พยานโดยตรง นอกจากนี้ภ.ก็เป็นประจักษ์พยานเพราะเป็นผู้เก็บตัวอย่างฝุ่นในสถานที่ทำงานของโจทก์ไปตรวจเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานส่วนนายแพทย์ธ.ก็ได้เบิกความให้ความเห็นทางวิชาการตรงกับความเห็นของแพทย์หญิงอ. เมื่อศาลแรงงานได้นำคำเบิกความของแพทย์ผู้ตรวจร่างกายโจทก์พร้อมทั้งความเห็นของพยานดังกล่าวมาพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่นจึงเป็นการวินิจฉัยที่ชอบ และการที่ศาลแรงงานวินิจฉัยพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ก็เป็นการวินิจฉัยที่ชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนและบังคับให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนกับจำเลยที่ 1มีคำวินิจฉัยจ่ายเงินให้โจทก์ตามกฎหมาย ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ร่วมกันหรือแทนกันจ่ายค่ารักษาพยาบาลค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนจำนวน 6,128,320 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์หย่อนสมรรถภาพในการทำงานและหยุดงานโดยไม่มีเหตุอันควรไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่ได้ป่วยเป็นโรคพิษสารอะลูมิน่าสะสมในร่างกาย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้สารเคมีรั่วไหลหรือแพร่กระจายจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตราย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าทดแทนเพราะจำเลยที่ 2 ได้ส่งเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามกฎหมายแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลและค่าทดแทนจากสำนักงานกองทุนเงินทดแทนเท่านั้น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ให้รับผิดในมูลละเมิด ทั้งจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 กระทำการแทนจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ข้อแรกว่าความเห็นของนายแพทย์สมพูล กฤตลักษณ์ ตามรายงานผลการสอบสวนอาการเจ็บป่วยเอกสารหมาย ล.33 เป็นการเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 40 หรือไม่นั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 38 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ให้มีคณะกรรมการการแพทย์คณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการอื่นมีจำนวนรวมกันไม่เกินสิบห้าคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง” และมาตรา 40 บัญญัติว่า “คณะกรรมการการแพทย์มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเกี่ยวกับการดำเนินงานในการให้บริการทางการแพทย์
(2) ให้คำปรึกษาแนะนำในทางการแพทย์แก่คณะกรรมการและสำนักงาน
(3) ให้ความเป็นต่อสำนักงานในการออกกฎกระทรวงตามมาตรา 13 และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมตามมาตรา 14 และมาตรา 18(2) และ(13
(4) ปฏิบัติการอื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการแพทย์ หรือตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการมอบหมาย”
จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวไม่ปรากฏว่าการที่กรรมการการแพทย์ผู้หนึ่งทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจะเป็นการไม่ชอบเพราะไม่มีบทบัญญัติว่าความเห็นของกรรมการการแพทย์จะต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการการแพทย์เสียก่อนจึงจะเสนอต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้เพียงแต่เมื่อมีปัญหาจะต้องขอคำปรึกษาแนะนำจากคณะกรรมการการแพทย์คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจึงจะขอให้คณะกรรมการการแพทย์เสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 ทั้งตามรายงานผลการสอบสวนอาการเจ็บป่วยเอกสารหมาย ล.33 มิใช่การดำเนินงานในการให้บริการทางการแพทย์ แต่เป็นรายงานการตรวจร่างกายโจทก์ที่นายแพทย์สมพูลกระทำขึ้นเพื่อเสนอคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสารพิษในร่างกายของโจทก์หากคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเห็นว่าความเห็นดังกล่าวเพียงพอที่จะวินิจฉัยคำร้องขอของโจทก์ได้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้าปรึกษาคณะกรรมการการแพทย์ โดยนำรายงานดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้และเมื่อพิเคราะห์บทบัญญัติในมาตรา 38 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า”คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่าง ๆ” แล้วจะเห็นว่าเมื่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเห็นว่าเรื่องใดควรจะมอบหมายให้แพทย์ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในคณะกรรมการการแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคที่จะต้องวินิจฉัยว่ามีลักษณะอาการอย่างไร ก็อาจจะนำความเห็นของแพทย์ผู้นั้นมาพิจารณาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้ดังนั้นรายงานผลการสอบสวนอาการเจ็บป่วยเอกสารหมาย ล.33ที่นายแพทย์สมพูลทำขึ้นและนำเสนอให้คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาจึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 40
ปัญหาตามอุทธรณ์โจทก์ข้อต่อไปที่ว่า การที่ศาลรับฟังเอกสารที่เป็นภาษาต่างประเทศตามเอกสารหมาย ล.35 และ ล.36โดยมิได้มีคำแปลเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลรับฟังเอกสารดังกล่าวขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสาม ซึ่งอนุโลมใช้ในคดีแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 นั้น ในประเด็นข้อที่ว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามฟ้องหรือไม่ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่า โจทก์มีตัวโจทก์ แพทย์หญิงชิดศุภางค์ ตัจฉนีกุล แพทย์หญิงอรพรรณเมธาดิลกกุล ซึ่งเป็นแพทย์ผู้ตรวจรักษาโจทก์นายเกียรติศักดิ์ อนุไชย และนางเมตตรา ต๊ะนาถาหรืออนุไชยเพื่อนร่วมงานกับนายประพันธ์ เตวิยะ สามีโจทก์มาเบิกความเป็นพยาน มีใจความโดยสรุปว่า ในระหว่างทำงานกับจำเลยที่ 2โจทก์มีอาการปวดศีรษะ ปวดข้อกระดูกและชาตามแขนขาจึงไปพบแพทย์ แพทย์ได้ทำการรักษาเรื่อยมาโดยแพทย์หญิงชิดศุภางค์และแพทย์หญิงอรพรรณเห็นว่าโจทก์ป่วยเนื่องจากสารอะลูมิน่าจากการทำงาน ซึ่งนายเกียรติศักดิ์และนางเมตตราเพื่อนร่วมงานของโจทก์ก็มีอาการทำนองเดียวกันกับโจทก์ ส่วนจำเลยมีนายแพทย์สมพูล กฤตลักษณ์ อดีตรองศาสตราจารย์ประจำภาควิชานิติเวชและผู้อำนวยการศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลศิริราชนายแพทย์สนธยา พรึงลำภู แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ของแพทยสภา รองศาสตราจารย์กาญจนะ แก้งกำเนิด อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนายโสภณพงษ์โสภณ นักวิชาการแรงงาน 7 ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานลาดกระบัง มาเบิกความเป็นพยาน โดยนายแพทย์สมพูลเบิกความยืนยันว่าได้เก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ และเส้นผมของโจทก์ไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลปรากฏว่าโจทก์มีสารอะลูมิน่าในเลือดปัสสาวะและเส้นผมอยู่ในเกณฑ์ปกติ นายแพทย์สนธยาเบิกความประกอบเอกสารทางวิชาการของต่างประเทศว่า โจทก์ไม่ได้เจ็บป่วยเนื่องจากสารอะลูมิน่าจากการทำงาน ส่วนนายโสภณเบิกความว่าได้เข้าไปเก็บตัวอย่างฝุ่นในสถานที่ทำงานของโจทก์และนำมาตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลปรากฏว่ามีปริมาณฝุ่นต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานดังนี้ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ใช้สารอะลูมิน่าเป็นส่วนประกอบในการนำแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสารอะลูมิน่านี้ได้ความจากรองศาสตราจารย์กาญจนะและนายโสภณว่า สกัดมาจากแร่บอกไซด์มีชื่อในทางเคมีว่า ALอะตอม2O อะตอม3 (หรือAL2O3)มีลักษณะเป็นผงคล้ายดิน มีสภาพเป็นกลาง ไม่ทำปฏิกิริยากับสารอื่นไม่ละลายในน้ำหรือในสารละลายเจือจาง หากอยู่ในร่างกายจะไม่มีผลต่อร่างกายรองศาสตราจารย์กาญจนะนายแพทย์สนธยา และแพทย์หญิงอรพรรณเบิกความตรงกันว่า สารอะลูมิน่าจะไม่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายด้วยการสัมผัส ดังนั้นสารอะลูมิน่าจึงอาจเข้าสู่ร่างกายด้วยการหายใจและการกินสำหรับการหายใจนั้น สภาพการทำงานของโจทก์ไม่ได้สัมผัสผงอะลูมิน่าโดยตรง ชิ้นงานที่โจทก์ทำหน้าที่ปัดฝุ่นเป็นอะลูมิน่าที่ได้แปรสภาพเป็นแผ่นคล้ายยางเรียกว่าแผ่นกรีนชีทแล้วหลังจากขึ้นรูปด้วยการตัดเจาะด้วยเครื่องจะมีเศษผงติดอยู่ ซึ่งฝุ่นผงดังกล่าวจะมีสภาพเป็นฝุ่นผงขนาดใหญ่ได้ความจากนายโสภณอีกว่า ฝุ่นผงที่จะเข้าสู่จมูกได้จะต้องมีขนาดเล็กกว่า 20 ไมคอนและจะเข้าสู่ส่วนลึกของร่างกายได้จะต้องมีขนาดเล็กกว่า 10 ไมคอนจะเข้าสู่ปอดได้จะต้องมีขนาดเล็กกว่า 5 ไมคอน และจะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้จะต้องมีขนาดเล็กกว่า 1 ไมคอน ในขั้นตอนการทำงานของโจทก์ในแผนกพื้นซึ่งไม่มีการใช้ความร้อนจนถึงขนาดที่จะทำให้เกิดไอโลหะที่มีอนุภาพขนาดเล็กและเข้าสู่ร่างกายได้แม้โจทก์จะทำหน้าที่ปัดฝุ่นแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์มีโอกาสสัมผัสกับฝุ่นก็ตาม แต่ฝุ่นดังกล่าวมีขนาดใหญ่จึงมีโอกาสเข้าสู่ปอดและซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อยมากประกอบกับผลการจัดเก็บตัวอย่างอากาศในสถานที่ทำงานของโจทก์ ซึ่งนายโสภณและเจ้าหน้าที่ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานได้เข้าไปจัดเก็บตัวอย่างเมื่อปลายปี 2536 และปี 2537 ปรากฏว่ามีปริมาณฝุ่นรวม(TOTAL DUST) และปริมาณฝุ่นที่มีขนาดเล็กว่า 5 ไมคอน(RESPIRABLE DUST) ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อีกทั้งจากรายงานการตรวจร่างกายของโจทก์ ปรากฏว่าแพทย์ได้ตรวจร่างกายโจทก์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2532 วันที่ 21 ธันวาคม 2533 วันที่16 ธันวาคม 2534 และวันที่ 21 พฤศจิกายน 2535 โจทก์มีปอดปกติ ดังนั้น โจทก์จึงไม่น่าจะได้รับสารอะลูมิน่าเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจจนเป็นเหตุให้เจ็บป่วย ส่วนการที่สารอะลูมิน่าเข้าสู่ร่างกายด้วยการปนเปื้อนไปกับอาหารที่กินเข้าไปนั้น ได้ความจากรองศาสตราจารย์กาญจนะ นายแพทย์สนธยา และเอกสารทางวิชาการชื่อ ALUMINUM AND Health A Critical Review โดยศาสตราจารย์ HILLEL 1.Gitelman และNEUROTOXICITY OFALUMINUM โดยนาย Henry M. Winiewsski กับคณะว่าสารอะลูมิน่าเมื่อเข้าสู่ร่างกายด้วยการกินร่างกายจะสามารถขับสารดังกล่าวออกไปได้ โดยสารอะลูมิน่าสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ในปริมาณที่น้อยมาก ยกเว้นแต่ในรายผู้ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังเท่านั้นที่สารอะลูมิน่าอาจสะสมและมีผลต่อสมองของผู้ป่วยได้ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังแต่อย่างใด แม้โจทก์จะได้รับสารอะลูมิน่าเข้าสู่ร่างกายปนเปื้อนไปกับอาหารก็ไม่น่าที่จะเข้าไปสะสมในร่างกายและมีผลต่อสมองได้ อีกทั้งผลการตรวจตัวอย่างเลือดปัสสาวะ และเส้นผมของโจทก์โดยนายแพทย์สมพูลก็ระบุยืนยันว่าโจทก์มีสารอะลูมิน่าอยู่ในเลือดปัสสาวะและเส้นผมอยู่ในเกณฑ์ปกติดังนั้นการที่โจทก์เจ็บป่วยโดยมีอาการเวียนศีรษะ อ่อนเพลียปวดข้อกระดูก และชาตามแขนขา ไม่น่าจะเกิดจากสารอะลูมิน่าจากการทำงาน ส่วนที่แพทย์หญิงชิดศุภางค์ผู้ทำการตรวจรักษาโจทก์เห็นว่าโจทก์น่าจะเจ็บป่วยเนื่องจากสารอะลูมิน่าจากการทำงานนั้น แพทย์หญิงชิดศุภางค์เบิกความว่าได้ให้ความเห็นโดยใช้วิธีการตรวจรักษา ซักประวัติการทำงานของโจทก์ และศึกษาเปรียบเทียบจากเอกสารทางวิชาการของต่างประเทศเท่านั้น ไม่ได้ตรวจทางห้องปฏิบัติการแต่อย่างใด อีกทั้งตามใบรับรองแพทย์เอกสารหมาย ล.21และ ล.23 แพทย์หญิงชิดศุภางค์ระบุโรคว่าสงสัยพิษสะสมของสารอะลูมิน่า รวมทั้งอาจจะเป็นโรคจากสารโลหะหนักสะสมในร่างกาย อันเป็นความเห็นในทางสงสัยว่าอาจจะเป็นเท่านั้นหาได้ยืนยันแน่ชัดว่าโจทก์เจ็บป่วยเนื่องจากสารอะลูมิน่าจากการทำงานแต่อย่างใดไม่ ส่วนที่แพทย์หญิงอรพรรณทำการตรวจโจทก์แล้วเห็นว่า โจทก์มีคลื่นหัวใจและปิดผิดปกตินั้นเมื่อนายแพทย์สนธยาพยานจำเลยซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ได้ดูเอกสารดังกล่าวแล้วเบิกความว่าคลื่นหัวใจที่ผิดปกติไม่อาจยืนยันได้ว่าผู้ป่วยได้รับสารอะลูมิน่าเข้าไปในร่างกายหรือไม่ และผลการตรวจปอดของโจทก์ดังกล่าวอยู่ในเกณฑ์ปกติ นอกจากคำเบิกความของแพทย์หญิงอรพรรณแล้วโจทก์ไม่ได้นำพยานอื่นมาสืบให้เห็นว่าปอดของโจทก์มีอาการผิดปกติดังที่แพทย์หญิงอรพรรณอ้างแต่อย่างใด ในขณะที่ผลการตรวจร่างกายของโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.15 ตั้งแต่ปี 2532 ถึง 2535โจทก์มีปอดที่ปกติมาโดยตลอด และที่แพทย์หญิงอรพรรณเบิกความว่าได้เก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะของโจทก์ไปตรวจทางห้องปฏิบัติการแล้วพบว่าโจทก์มีสารอะลูมิน่าอยู่ในร่างกายเป็นปริมาณสูงนั้น ได้ความจากโจทก์ว่า โจทก์เข้าไปยังสถานที่ทำงานครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนตุลาคม 2536 ต่อมาวันที่ 23 พฤศจิกายน 2536นายแพทย์สมพูลเก็บตัวอย่างเลือด ปัสสาวะ และเส้นผมของโจทก์ไปตรวจ ปรากฏว่ามีปริมาณสารอะลูมิน่าอยู่ในเลือด15.9 ไมโครกรัมเปอร์เซนต์ ปัสสาวะ 24.6 ไมรโครกรัมเปอร์เซ็นต์แพทย์หญิงอรพรรณเก็บตัวอย่างเลือดและปัสสาวะของโจทก์ไปตรวจทางห้องปฏิบัติการในเดือนมีนาคม 2537 กลับปรากฏว่ามีปริมาณสารอะลูมิน่าในเลือดสูงถึง 560 ไมโครกรัมเปอร์เซนต์ในปัสสาวะสูงถึง 113 ไมโครกรัมเปอร์เซ็นต์ ทั้งที่หลังจากนายแพทย์สมพูลเก็บตัวอย่างจากร่างกายโจทก์ไปแล้วโจทก์ไม่ได้สัมผัสสารอะลูมิน่าจากการทำงานแต่อย่างใดการที่โจทก์มีปริมาณสารอะลูมิน่าเพิ่มขึ้นเป็นปริมาณสูงหลังจากที่ไม่ได้สัมผัสกับสารเช่นนี้ จึงไม่สอดคล้องด้วยเหตุผล อีกทั้งได้ความจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ยุวดี เชี่ยววัฒนา พยานศาลและนายแพทย์สนธยา ว่า สารอะลูมิน่านี้มีอยู่ทั่วไปในภาวะแวดล้อมหากเก็บตัวอย่างไม่ดีอาจมีการปนเปื้อนสารอะลูมิน่าจากภายนอกได้ง่าย การที่ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการปรากฏว่าโจทก์มีปริมาณสารอะลูมิน่าอยู่ในร่างกายสูงจนผิดไปจากปกติมากเช่นนี้จึงอาจเกิดจากการปนเปื้อนของสารอะลูมิน่าที่มีอยู่ในภาวะแวดล้อมในขณะจัดเก็บก็ได้ลำพังผลการตรวจหาสารอะลูมิน่าในร่างกายของโจทก์ที่มีปริมาณสูงจนผิดปกติเพียงอย่างเดียว ไม่อาจยืนยันเด็ดขาดได้ว่าอาการป่วยของโจทก์เกิดจากสารอะลูมิน่าจากการทำงานพยานบุคคลที่จำเลยนำสืบ อันได้แก่ นายแพทย์สนธยา นายแพทย์สมพูลรองศาสตราจารย์กาญจนะ และนายโสภณ ล้วนแต่เป็นผู้มีความรู้และเชี่ยวชาญ เมื่อรับฟังประกอบกับเอกสารทางวิชาการของต่างประเทศเกี่ยวกับสารอะลูมิน่าตามเอกสารหมาย ล.35และ ล.36 แล้ว เห็นว่ามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เจ็บป่วยโดยมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลียปวดตามข้อ ชาตามแขนและมือจริง แต่การเจ็บป่วยดังกล่าวไม่ได้เกิดจากสารอะลูมิน่าจากการทำงาน ดังนั้น การที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดลำพูนและคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้เจ็บป่วยเนื่องจากสารอะลูมิน่าจากการทำงานจึงชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยดังกล่าวและเห็นได้ว่าศาลแรงงานกลางนำข้อนำสืบของทั้งสองฝ่ายมาวินิจฉัยโดยละเอียดมิใช่ฟังเฉพาะเอกสารหมาย ล.35 และ ล.36 ที่เป็นภาษาต่างประเทศเท่านั้นการนำเอกสารทั้งสองฉบับมากล่าวอ้างเป็นส่วนหนึ่งในเหตุผลแห่งการวินิจฉัยย่อมกระทำได้ ไม่ทำให้การวินิจฉัยในส่วนอื่นเสียไป นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติว่า “ถ้าต้นฉบับเอกสารหรือแผ่นกระดาษไม่ว่าอย่างใด ๆ ที่ส่งต่อศาลได้ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศให้ศาลสั่งคู่ความฝ่ายที่ส่งให้ทำคำแปลทั้งฉบับหรือเฉพาะแต่ส่วนสำคัญ โดยมีคำรับรองมายื่นเพื่อแนบไว้กับต้นฉบับ” จากบทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่าให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่าเห็นควรให้คู่ความฝ่ายที่ส่งเอกสารนั้นทำคำแปลที่เป็นภาษาไทย ซึ่งศาลอาจไม่สั่งให้ทำคำแปลก็ได้เช่นในกรณีที่เอกสารนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งแห่งพยานหลักฐานที่ฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นที่เพียงพอต่อการวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้ว จึงไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องสั่งให้คู่ความทำคำแปลเสมอไป เมื่อศาลแรงงานกลางมิได้สั่งให้จำเลยทำคำแปลเอกสารหมาย ล.35 และ ล.36 ซึ่งเป็นภาษาต่างประเทศการอ้างเอกสารของฝ่ายจำเลยจึงไม่ขัดต่อกฎหมายดังที่โจทก์อ้างศาลแรงงานกลางย่อมรับฟังเอกสารนั้นในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งแห่งพยานหลักฐานที่คู่ความฝ่ายที่อ้างเอกสารนำสืบได้เทียบนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2797/2522 ระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดซิงเจ้าเอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น โจทก์กรมโรงงานอุตสาหกรรม กับพวก จำเลย
ส่วนปัญหาสุดท้ายที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางมิได้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานกล่าวคือมิได้วินิจฉัยตามลำดับความสำคัญของพยานหลักฐานนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104ซึ่งอนุโลมใช้ในคดีแรงงานด้วย บัญญัติว่า “ให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น” อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่ามิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่าหรือพยานแวดล้อมกรณี เพียงแต่มีหลักว่าให้ฟังประจักษ์พยานเป็นลำดับแรก แต่ถ้าประจักษ์พยานขัดต่อเหตุผลศาลก็อาจจะไม่รับฟังก็ได้ ส่วนพยานบอกเล่าและพยานแวดล้อมกรณีนั้น แม้จะมีน้ำหนักน้อยกว่าประจักษ์พยาน แต่ถ้าศาลเห็นว่าพยานหลักฐานที่เป็นประจักษ์พยานไม่น่าเชื่อถือ ศาลอาจฟังพยานหลักฐานอื่นได้ นอกจากนี้กรณีที่โจทก์ยกมาเป็นข้ออ้างในอุทธรณ์ที่ว่าพยานฝ่ายโจทก์ที่เป็นประจักษ์พยานหรือพยานโดยตรงมีตัวโจทก์ซึ่งเจ็บป่วย แพทย์หญิงชิดศุภางค์ ตัจฉนีกุล แพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาโจทก์คนแรก แพทย์หญิงอรพรรณ เมธาดิลกกุลแพทย์ผู้ทำการรักษาโจทก์ต่อมาก่อนฟ้องคดีนี้ ล้วนเป็นประจักษ์พยานที่ต้องรับฟังคำเบิกความของพยานดังกล่าวเป็นลำดับแรกก่อนที่จะวินิจฉัยโดยเชื่อพยานอื่นซึ่งเป็นพยานบอกเล่าหรือพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีนั้น จากคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางนั้น เห็นว่าประเด็นสำคัญที่จะต้องวินิจฉัยคือโจทก์เจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานหรือไม่ แพทย์ผู้ทำการตรวจร่างกายโจทก์และให้ความเห็นล้วนแต่เป็นพยานโดยตรง นายแพทย์สมพูลพยานจำเลยเป็นผู้หนึ่งที่ได้ตรวจร่างกายโจทก์และให้ความเห็น แม้จะได้ทำการตรวจภายหลังจากที่แพทย์หญิงชิดศุภางค์และแพทย์หญิงอรพรรณได้ตรวจร่างกายโจทก์ก็ไม่ทำให้นายแพทย์สมพูลมิใช่พยานโดยตรงนอกจากนี้นายโสภณ พงษ์โสภณ ก็เป็นประจักษ์พยานเช่นกันเพราะเป็นผู้เก็บตัวอย่างฝุ่นในสถานที่ทำงานของโจทก์ไปตรวจเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนนายแพทย์สนธยา พรึงลำภู ก็ได้เบิกความให้ความเห็นทางวิชาการตรงกับความเห็นของแพทย์หญิงอรพรรณเมื่อศาลแรงงานกลางได้นำคำเบิกความของแพทย์ผู้ตรวจร่างกายโจทก์ พร้อมทั้งความเห็นของพยานดังกล่าวมาพิจารณาประกอบกับพยานหลักฐานอื่นจึงเป็นการวินิจฉัยที่ชอบแล้ว อุทธรณ์ที่โจทก์อ้างว่าพยานฝ่ายจำเลยไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานโดยตรงจึงเป็นการคลาดเคลื่อนทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเมื่อวินิจฉัยมาแล้วว่าศาลมีอำนาจในการวินิจฉัยพยานหลักฐานตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังที่กล่าวมา การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายแล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยที่ชอบแล้ว
พิพากษายืน