คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3859/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในเรื่องการเพิ่มโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 97 นั้น โทษกึ่งหนึ่งที่จะนำมาคำนวณในการเพิ่มโทษที่จะลงโทษแก่จำเลยหมายถึงโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลได้กำหนดไว้สำหรับความผิดครั้งหลัง ซึ่งก็คือโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลได้กำหนดไว้สำหรับความผิดในคดีนี้ มิใช่เป็นโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลได้กำหนดไว้สำหรับความผิดครั้งก่อนหรือความผิดในคดีอาญาของศาลชั้นต้นทั้งสองคดีรวมกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 10 ปี การที่ศาลล่างทั้งสองเพิ่มโทษจำเลยอีกกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 97 เป็นจำคุก 15 ปี นั้น เป็นการเพิ่มโทษที่ถูกต้องและชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว และเมื่อมีการลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามเพราะเหตุจำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุม คงจำคุก 10 ปี ย่อมเป็นการชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 15, 66, 67, 97 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เพิ่มโทษจำเลยและคืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเคยต้องโทษและพ้นโทษมาแล้วจริงตามฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 10 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 10 ปี คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 10 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 10 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่าง และให้ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาในข้อ 4.2 สรุปใจความสำคัญได้ว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมีพิรุธสงสัยหลายประการ ทำให้ไม่น่าเชื่อถือว่าได้มีการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยและตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนที่ตัวจำเลย และโจทก์ก็ไม่ได้นำสายลับที่อ้างว่าเป็นผู้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยมาเบิกความเป็นพยานต่อศาลประกอบกับเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมจำเลย ก็เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยและครอบครัวจำเลยเป็นส่วนตัวมาก่อน จึงมีการกลั่นแกล้งจับกุมจำเลย และที่จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกายและถูกบังคับพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ สมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยนั้น ล้วนเป็นฎีกาที่โต้เถียงดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ทั้งสิ้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อนี้มาด้วยนั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยในข้อนี้ให้ จำเลยคงฎีกาได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อ 4.1 เฉพาะในส่วนที่ว่า ที่ศาลล่างทั้งสองเพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 97 เป็นจำคุก 15 ปี เป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โดยจำเลยฎีกาว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยกึ่งหนึ่งตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่2412/2540 และ 7317/2541 ของศาลชั้นต้น ปรากฏว่าคดีทั้งสองดังกล่าวศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยคดีละ 1 ปี 6 เดือน เมื่อรวม 2 คดีแล้วเป็นโทษจำคุก 3 ปี การเพิ่มโทษจำคุกจำเลยกึ่งหนึ่งของโทษจำคุก 3 ปี ก็คงเพิ่มโทษจำคุกจำเลยได้เพียง 1 ปี 6 เดือนซึ่งเมื่อรวมกับโทษจำคุก 10 ปี แล้วคงสามารถลงโทษจำคุกจำเลยได้ 11 ปี 6 เดือน และเมื่อลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามแล้ว คงลงโทษจำคุกได้ไม่เกิน 7 ปีกว่าเท่านั้น เห็นว่าในเรื่องการเพิ่มโทษนี้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อีกในระหว่างที่ยังต้องรับโทษอยู่หรือภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุกให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง”ดังนี้ เห็นได้ว่าโทษกึ่งหนึ่งจะนำมาคำนวณในการเพิ่มโทษที่จะลงโทษแก่จำเลยตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวย่อมหมายถึงโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลได้กำหนดไว้สำหรับความผิดครั้งหลังหรืออีกนัยหนึ่งก็คือโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลได้กำหนดไว้สำหรับความผิดในคดีนี้มิใช่เป็นโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลได้กำหนดไว้สำหรับความผิดครั้งก่อนหรืออีกนัยหนึ่งสำหรับความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2412/2540 และ 7317/2541 ของศาลชั้นต้นทั้งสองคดีรวมกันตามที่จำเลยเข้าใจและอ้างในฎีกาแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม2 กระทง จำคุก 10 ปี การที่ศาลล่างทั้งสองเพิ่มโทษจำเลยอีกกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ดังกล่าว เป็นจำคุก 15 ปี นั้น เป็นการเพิ่มโทษที่ถูกต้องและชอบด้วยบทกฎหมายมาตรา 97 ดังกล่าวแล้ว และเมื่อมีการลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามเพราะเหตุจำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมแล้ว คงจำคุกจำเลย 10 ปีย่อมเป็นการชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ(ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทนโดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มาตรา 15วรรคสาม(2) ที่แก้ไขใหม่บัญญัติความว่า การมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ที่มีสารแอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีนมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไปหรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แตกต่างจากกฎหมายเดิมในมาตรา 15 วรรคสอง ที่กำหนดเฉพาะปริมาณที่คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่ยี่สิบกรัมขึ้นไปเท่านั้น โดยไม่คำนึงว่าจะมีจำนวนหน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิมากน้อยเพียงใด ดังนั้น เงื่อนไขที่เป็นองค์ประกอบความผิดดังกล่าวตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในส่วนที่เป็นบทความผิดบังคับแก่จำเลย ส่วนความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่ มีข้อความทำนองเดียวกันตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย สำหรับคดีนี้จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ด น้ำหนัก 0.45 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 1 เม็ด โดยไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนทั้งสองจำนวนดังกล่าวมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด กรณีความผิดทั้งสองฐานต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ตามกฎหมายเดิมที่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท โทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 8 ปี เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 เป็นจำคุก 12 ปี เมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share