แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยขับรถยนต์กระบะบรรทุกรถจักรยานยนต์ 2 คันของกลาง มุ่งออกจากจังหวัดปราจีนบุรีจะข้ามไปฝั่งประเทศกัมพูชา แล้วถูกเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวง อำเภอกบินทร์บุรี ตรวจค้นและควบคุมตัวไว้ เมื่อทราบว่าผู้เสียหายได้แจ้งความ ไว้แล้วที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางว่ารถจักรยานยนต์ ของกลางถูกยักยอกไป เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองลำปางจึงเดินทางไปร่วมจับกุมจำเลยกับ เจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงอำเภอกบินทร์บุรี ดังกล่าวเมื่อผู้เสียหายเดินทางมาที่ทำการตำรวจทางหลวง อำเภอ กบินทร์บุรี ตรวจดูรถจักรยานยนต์ที่ถูกยึดไว้ แล้วยืนยันว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นของผู้เสียหาย จึงชี้ให้จับกุมจำเลย เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางกับพวก ได้ร่วมจับกุมจำเลยและได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบ โดยมีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นสัญญาบัตรของตำรวจทางหลวงและ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางร่วมจับกุมด้วย จึงถือว่าจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอ เมืองลำปางจับกุมโดยชอบแล้วและการที่จำเลยกับพวกร่วมกัน บรรทุกรถจักรยานยนต์ 2 คัน ของกลางบนรถยนต์กระบะ เดินทางมาเขตอำเภอกบินทร์บุรีเพื่อจะนำไปจำหน่ายยังประเทศกัมพูชาก็เป็นการกระทำผิดฐานรับของโจรต่อเนื่องกันและกระทำต่อเนื่องกันและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19(3) ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอ เมืองลำปางซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกี่ยวข้อง กับเหตุที่เกิด ทั้งยังมีเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองลำปางเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยกับพวกในท้องที่ อำเภอกบินทร์บุรีด้วย พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางจึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ในการสอบสวนตามมาตรา 19 วรรคสาม(ข) เพราะเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบการกระทำผิดอยู่ก่อนโดยเริ่มสอบสวนตั้งแต่ ยังจับตัวจำเลยกับพวกไม่ได้ แม้ภายหลังจะปรากฏว่าจำเลยกับพวกถูกจับกุมที่ท้องที่อำเภอกบินทร์บุรีก็ตามก็หาทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางพ้นจากเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไปไม่ จึงมิใช่กรณีตามมาตรา 19 วรรคสาม(ก) ดังนี้พนักงานอัยการโจทก์จึงฟ้องจำเลยกับพวกที่ศาลจังหวัดลำปางได้ โดยถือว่ามีการสอบสวนโดยชอบแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 120
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2537 ถึงวันที่ 16 มกราคม2539 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน มีคนร้ายหลายคนซึ่งครอบครองรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อยามาฮ่า ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ในสภาพใหม่ราคา 45,720 บาท ของห้างหุ้นส่วนจำกัดไอยรา เอ็นเตอร์ไพรซ์ผู้เสียหายที่ 1 และรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียนลำปาง น – 3250 ราคา 20,000 บาท ของนายยงยุทธ ศรีปินตา ผู้เสียหายที่ 2 ได้ร่วมกันเบียดบังเอาทรัพย์ทั้งสองรายการดังกล่าวไปเป็นของตนโดยทุจริต เหตุเกิดที่ตำบลหัวเวียง และตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปางเกี่ยวพันกัน ต่อมาวันที่ 20 มกราคม 2539 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสามได้พร้อมยึดรถจักรยานยนต์ทั้งสองคัน ดังกล่าวซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองที่ถูกคนร้ายยักยอกไปเป็นของกลาง ทั้งนี้โดยระหว่างวันเวลาดังกล่าว จำเลยทั้งสามร่วมกันเป็นคนร้ายยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองไปโดยทุจริตหรือมิฉะนั้นตามวันเวลาดังกล่าวถึงวันที่ 20 มกราคม 2539จำเลยทั้งสามร่วมกันครอบครองช่วยซ่อนเร้นช่วยจำหน่ายช่วยพาเอาไปเสียและรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานยักยอกเหตุเกิดที่ตำบลหัวเวียง และตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปางจังหวัดลำปาง และที่ตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรีเกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 357, 83
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคหนึ่ง, 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า คดีนี้จำเลยทั้งสามถูกจับในเขตตำบลนนทรี อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอกบินทร์บุรี ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับจำเลยได้อยู่ในเขตอำนาจ จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 19 วรรคสาม(ก) การที่ร้อยตำรวจเอกอุรุพงศ์ ธงศิลา พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปาง ได้ทำการสอบสวนคดีนี้ หลังจากจับตัวจำเลยทั้งสามได้แล้วผู้เสียหายที่ 1 เพิ่งร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีฐานยักยอกทรัพย์ร้อยตำรวจเอกอุรุพงศ์จึงมิได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ คงเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเท่านั้นจะสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการจังหวัดลำปางพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 และ 141 แม้จะดำเนินการสอบสวนต่อไปจนเสร็จคดี ก็ถือไม่ได้ว่า ได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้นั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ความว่า ก่อนถูกจับกุมจำเลยทั้งสามได้ขับรถยนต์กระบะบรรทุกรถจักรยานยนต์ 2 คันของกลาง มุ่งออกจากจังหวัดปราจีนบุรีจะข้ามไปฝั่งประเทศกัมพูชา แล้วถูกเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวง 5 กองกำกับการ 3 อำเภอกบินทร์บุรี ตรวจค้นและควบคุมตัวไว้ ทางเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงได้ประสานงานแจ้งไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปาง จึงทราบว่าผู้เสียหายได้แจ้งความไว้ว่ารถจักรยานยนต์ของกลางถูกยักยอกไป ต่อมานายดาบตำรวจประหยัด จำป๋า เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปาง ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เดินทางไปร่วมจับกุมจำเลยทั้งสามกับเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงดังกล่าว นายดาบตำรวจประหยัดพร้อมกับนายศุภชัยหุ้นส่วนผู้จัดการผู้เสียหายที่ 1 ได้เดินทางมาที่ทำการตำรวจทางหลวง 5 กองกำกับการ 3 อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรีและนายศุภชัยได้ตรวจดูรถจักรยานยนต์ที่ถูกยึดไว้ แล้วยืนยันว่าของกลางคันหนึ่งเป็นของตน จึงชี้ให้จับกุมจำเลยทั้งสามคดีนี้นายดาบตำรวจประหยัดกับพวกได้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสามไว้และได้ทำบันทึกการจับกุมตามเอกสารหมาย จ.14 ซึ่งในบันทึกการจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมก็ได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทั้งสามทราบทั้งการจับกุมครั้งนี้มีเจ้าพนักงานตำรวจชั้นสัญญาบัตรของตำรวจทางหลวงและสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางร่วมจับกุมด้วยจึงถือว่าจำเลยทั้งสามถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางจับกุมตามกฎหมายโดยชอบ และการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันบรรทุกรถจักรยานยนต์ 2 คัน ของกลางบนรถยนต์กระบะเดินทางมาเขตอำเภอกบินทร์บุรีเพื่อจะนำไปจำหน่ายยังประเทศกัมพูชานั้นเป็นการกระทำผิดฐานรับของโจรต่อเนื่องกันและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป ตามมาตรา 19(3)แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ดังนั้น ร้อยตำรวจเอกอุรุพงศ์ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิด ทั้งยังมีเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปางเป็นผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกในท้องที่อำเภอกบินทร์บุรีด้วย ร้อยตำรวจเอกอุรุพงศ์จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนแล้วเข้ากรณีตามมาตรา 19 วรรคสาม(ข) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพราะเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่ที่พบการกระทำผิดอยู่ก่อนโดยเริ่มสอบสวนตั้งแต่ยังจับตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไม่ได้แม้ภายหลังจะปรากฎว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกถูกจับกุมที่ท้องที่อำเภอกบินทร์บุรีก็ตาม ก็หาทำให้ร้อยตำรวจเอกอุรุพงศ์พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลำปาง พ้นจากเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบไปไม่ จึงไม่เข้ากรณีตามมาตรา 19 วรรคสาม(ก) ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างพนักงานอัยการโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกได้ โดยถือว่ามีการสอบสวนโดยชอบแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1974/2539 ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อ้างนั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
พิพากษายืน