คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1506/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าหนี้ยึดทรัพย์จำนองที่จำเลยจำนองไว้เป็นประกันหนี้ออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา แต่ได้เงินไม่พอชำระหนี้ เมื่อหักยอดหนี้ที่ค้างชำระและคิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่ขายทอดตลาดแล้ว จำเลยยังคงเป็นหนี้เจ้าหนี้รวมเป็นเงิน 96,551,833.69 บาท ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเจ้าหนี้จึงนำหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวมายื่นขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เมื่อปรากฏว่าหนี้ดังกล่าว เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาในคดีแพ่งถึงที่สุดแล้วจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 แม้โจทก์จะได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยโดยมีการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดจนครบกำหนดสิบปีและได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ก็ตาม แต่กำหนดเวลาให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271มิใช่อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องอันจะอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับได้ เมื่อเจ้าหนี้มิได้บังคับคดีในหนี้ส่วนที่เหลือภายใน 10 ปี นับแต่วันที่คดีแพ่งได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิบังคับในหนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้อีกดังนั้นหนี้ของเจ้าหนี้จึงเป็นหนี้ที่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 94(1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2539 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงิน 96,551,833.69 บาท จากกองทรัพย์สินของจำเลย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้บรรดาเจ้าหนี้ตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 104 แล้วไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ศาลแพ่งพิพากษาเมื่อวันที่27 สิงหาคม 2527 ให้จำเลยร่วมกับบริษัทกรุงแสง จำกัด และบริษัทบางกอกแลนด์ แอนด์อินเวสเม้นส์จำกัด ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ แต่จำเลยกับพวกดังกล่าวไม่ชำระเจ้าหนี้จึงยึดทรัพย์จำนองซึ่งจำเลยจำนองไว้เป็นประกันหนี้ออกขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2535 ได้เงินไม่พอชำระหนี้ เมื่อหักยอดหนี้ที่ค้างชำระและคิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2539 แล้ว จำเลยยังคงเป็นหนี้เจ้าหนี้ซึ่งรวมค่าฤชาธรรมเนียมเป็นเงิน 96,551,833.69 บาท ต่อมาวันที่ 27 พฤษภาคม 2539 ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด เจ้าหนี้จึงนำหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวมายื่นขอรับชำระหนี้ วันที่ 3 กันยายน 2539 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่า เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เกิน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หนี้ดังกล่าวจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/32 เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ตาม พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 เห็นสมควรให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้เสียทั้งสิ้นตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 107(1)
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้รายนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ล
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยเป็นลูกหนี้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 9562/2527 ซึ่งพิพากษาให้จำเลยกับพวกร่วมกันชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2527 จำเลยกับพวกไม่ชำระหนี้เจ้าหนี้จึงยึดทรัพย์จำนองที่จำเลยจำนองไว้เป็นประกันหนี้ออกขายทอดตลาดวันที่ 3 กรกฎาคม 2535 ได้เงินไม่พอชำระหนี้ เมื่อหักยอดหนี้ที่ค้างชำระและคิดดอกเบี้ยจนถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2539 แล้วจำเลยยังคงเป็นหนี้เจ้าหนี้รวมเป็นเงิน 96,551,833.69 บาท ต่อมาวันที่ 27 พฤษภาคม 2539 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ในวันที่ 3 กันยายน 2539 เจ้าหนี้จึงนำหนี้ที่จำเลยค้างชำระดังกล่าวมายื่นคำขอรับชำระหนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าหนี้ว่า หนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดให้มีกำหนดอายุความ 10 ปี ปรากฏว่าศาลแพ่งมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2527 เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 3 กัยายน 2539 จึงพ้น 10 ปี นับแต่วันที่คำพิพากษาของศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 9562/2527 ถึงที่สุดแล้ว หนี้ตามคำพิพากษาของเจ้าหนี้จึงขาดอายุความตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้โจทก์จะได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยโดยมีการยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2535 ได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ก็ตาม แต่กำหนดเวลาให้บังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 มิใช่อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องอันจะอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ เมื่อเจ้าหนี้มิได้บังคับคดีในหนี้ส่วนที่เหลือภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดเจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิบังคับคดีในหนี้ที่เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้อีก ดังนั้นหนี้ของเจ้าหนี้จึงเป็นหนี้ที่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 94(1)
พิพากษายืน

Share