คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6615/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสามมาจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ อันทำให้ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ได้ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 แต่ปรากฏว่าภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาด โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้จึงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยการยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 โจทก์จะดำเนินการเพื่อให้ได้รับชำระหนี้โดยการขอบังคับคดีในคดีนี้ไม่ได้ สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้ และต่อมาผู้ร้องก็ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้แทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยแล้ว ดังนั้นโจทก์จะมาขอให้บังคับคดีจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในคดีนี้ไม่ได้ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับการปลดจากล้มละลายย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 81/1 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 77 ทั้งหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 77 (1) หรือ (2) โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 2 อีกต่อไป ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ในกรณีของจำเลยที่ 2 เช่นเดียวกัน

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 80,640,599.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 สิงหาคม2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 11,000 บาท ทั้งนี้ ระหว่างพิจารณาบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีอื่นตั้งนางสาวกรรณิการ์ เป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1
วันที่ 25 มิถุนายน 2557 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสามในคดีนี้ให้แก่ผู้ร้องตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 จึงขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์
ในระหว่างการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอสวมสิทธิเข้าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 1 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โดยมีนางสาวกรรณิการ์เป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องจึงขอให้ศาลส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่นางสาวกรรณิการ์ ผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ต่อมานางสาวกรรณิการ์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีนี้ จึงถือได้ว่านางสาวกรรณิการ์ประสงค์จะเข้ามาเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ผู้มรณะ แต่โดยที่ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับการเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ผู้มรณะแต่อย่างใด เมื่อคดีนี้มาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนว่านางสาวกรรณิการ์เป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งอนุญาตให้นางสาวกรรณิการ์ ผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ผู้มรณะ
จำเลยที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า คดีนี้ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นอนุญาตให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2546 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ คดีถึงที่สุดแล้ววันที่ 27 สิงหาคม 2547 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 1และที่ 3 และวันที่ 6 ธันวาคม 2548 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นบุคคลล้มละลาย ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับการปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลายนับแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2551 ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 2751/2547 ของศาลล้มละลายกลาง ตามสำเนาประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และวันที่ 28 มกราคม 2551 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลยที่ 2 และวันที่ 2 มีนาคม 2552 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลาย ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้รับการปลดจากการเป็นบุคคลล้มละลายนับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2555 ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 242/2551 ของศาลล้มละลายกลาง ตามสำเนาประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสามให้แก่ผู้ร้อง ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 ตามสำเนาสัญญาโอนสินทรัพย์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสามมาจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ อันทำให้ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ได้ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 และตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 มาตรา 16 ก็ตาม แต่ปรากฏว่าภายหลังที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาด โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้จึงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยการยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามในคดีล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 โจทก์จะดำเนินการเพื่อให้ได้รับชำระหนี้โดยการขอบังคับคดีในคดีนี้ไม่ได้สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 2751/2547 ของศาลล้มละลายกลาง บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไว้และต่อมาผู้ร้องก็ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้แทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยแล้ว ดังนั้น โจทก์จะมาขอให้บังคับคดีจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในคดีนี้ไม่ได้ กรณีจำเลยที่ 1 และที่ 3 จึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 242/2551 ของศาลล้มละลายกลาง แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 2 ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับการปลดจากล้มละลายจำเลยที่ 2 บุคคลล้มละลายย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 81/1 วรรคท้าย ประกอบด้วยมาตรา 77 ทั้งหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 77 (1) หรือ (2) โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ในส่วนของจำเลยที่ 2 อีกต่อไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ในกรณีของจำเลยที่ 2 เช่นเดียวกัน ฎีกาของผู้ร้องข้ออื่นไม่ทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงจึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของผู้ร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share