คำวินิจฉัยที่ 110/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อันเนื่องมาจากการที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ เมื่อการใช้อำนาจของจำเลยทั้งห้าในการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นการใช้อำนาจตามพรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ อันเป็นการใช้อำนาจในทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๑๐/๒๕๕๙

วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแขวงนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ นายสมศักดิ์ ขำประถม โจทก์ ยื่นฟ้อง นายสมชาย ไชยจักรที่ ๑ นายศิริ อินทรอร่ามวงษ์ ที่ ๒ นายชาติเจริญ ชอบพิมาย ที่ ๓ นายพรชัย อิ่มหาญ ที่ ๔ ว่าที่พันตำรวจโทหรือนายโดม กิขุนทด ที่ ๕ จำเลย ต่อศาลแขวงนครราชสีมา เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๘๓๒/๒๕๕๘ ความว่า โจทก์เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา หมายเลข ๑ เขตเลือกตั้งที่ ๕ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๔ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล กรณีครบวาระในวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ โดยมีจำเลยที่ ๑ เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา ซึ่งจำเลยทั้งห้าได้จัดการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวโดยกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและไม่สุจริต เที่ยงธรรม โดยการออกหมายเลขประจำตัวผู้สมัครไม่ถูกต้อง บัตรเลือกตั้งไม่มีช่องลงคะแนนของผู้สมัครหมายเลข ๗ จากนั้นจำเลยที่ ๑ ได้ประกาศหยุดการเลือกตั้ง แล้วให้มีการเลือกตั้งต่อไป โดยการยกเลิกบัตรเลือกตั้งเดิมและให้ใช้บัตรเลือกตั้งที่มีช่องลงคะแนนหมายเลข ๗ แทนหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร ไม่นับจำนวนบัตรเลือกตั้งและปิดประกาศจำนวนบัตรเลือกตั้งใหม่ ทำให้จำนวนบัตรลงคะแนนไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ โจทก์จึงได้มีหนังสือคัดค้านการเลือกตั้งดังกล่าวโดยอ้างเหตุข้างต้น ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ เพื่อพิจารณาวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ได้มีคำสั่ง เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ลต. ๑๓๔/๒๕๕๖ โดยวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ และมิได้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม จึงมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เขตเลือกตั้งที่ ๕ ใหม่ การที่จำเลยทั้งห้ากระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งจำนวน ๔๖,๕๕๐ บาท ค่าติดตามผลการคัดค้านการเลือกตั้งจำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท ค่าขาดรายได้วันละ ๓๐๐ บาท เป็นเวลา ๔๘๕ วัน คิดเป็นเงิน ๑๔๕,๕๐๐ บาท รวมเป็นค่าเสียหาย ๒๐๗,๐๕๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
อนึ่งก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้า ในมูลคดีเดียวกันต่อศาลปกครองนครราชสีมา ประธานศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ศาลปกครองสูงสุดรับคดีนี้ไว้พิจารณา ตามข้อ ๓๙ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา ตามคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. ๒๙/๒๕๔๘ โดยวินิจฉัยว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น อยู่ในอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ตามมาตรา ๑๑ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ต่อมา โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าในมูลคดีเดียวกันต่อศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค ๓ มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ลต. ๒๘๐๒/๒๕๔๘ โดยวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งในมูลละเมิดที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้ากระทำละเมิดต่อโจทก์ เป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมตามปกติ ไม่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นผู้บริหารท้องถิ่น
จำเลยทั้งห้าให้การว่า จำเลยทั้งห้าไม่ได้จงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เพียงแต่กระทำการหลงผิดเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติราชการการเลือกตั้งโดยสุจริต และมิได้กระทำการหรือละเว้นกระทำการโดยทุจริต หรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือผู้สมัครรายใด จำเลยทั้งห้าจึงไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์เคยมีสาเหตุโกรธเคืองเรื่องที่ดินกับจำเลยที่ ๑ โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลแขวงนครราชสีมาพิจารณาแล้ว เห็นว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งตัวแทน หรือผู้บริหารของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการปกครองตนเองด้วยเสียงข้างมากในระบอบเสรีประชาธิปไตย โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ทางปกครองควบคุมและกำกับดูแลการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม และคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดให้ควบคุมการเลือกตั้งในเขตจังหวัด และคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การดำเนินการจัดการเลือกตั้งดังกล่าวของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองของรัฐเช่นกัน และหากมีข้อพิพาทอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไปหรือเป็นการกระทำทางกายภาพของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ก็เป็นการทำละเมิดโดยทั่วไปต้องตรวจสอบด้วยกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและคดีย่อมอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม แต่หากเป็นกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการจัดการเลือกตั้งโดยละเมิดจากการใช้อำนาจทางปกครองก็ต้องตรวจสอบด้วยกระบวนการยุติธรรมทางปกครองและคดีย่อมอยู่ในอำนาจศาลปกครอง ซึ่งทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครองมีนิติวิธีในการพิจารณาข้อพิพาทตามกฎหมายที่แตกต่างกัน โดยหากข้อพิพาทในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งที่เป็นผลมาจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และมิใช่การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ คดีย่อมอยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๒๒ เมื่อคดีนี้โจทก์ไม่ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยตรง คดีโจทก์จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุด ดังที่ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. ๒๙/๒๕๕๘ และกรณีมิใช่การฟ้องขอให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่หรือขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง คดีนี้จึงไม่ใช่คดีเลือกตั้งอันจะอยู่ในอำนาจศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ด้วยเช่นกัน ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ได้วินิจฉัยไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ลต. ๒๘๐๒/๒๕๕๘ แต่เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมามีอำนาจดำเนินการจัดการเลือกตั้งในท้องที่ตามกฎหมาย และต่อมาจำเลยทั้งห้าได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมาให้เป็นผู้อำนวยการเลือกตั้งและคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา ตามนัยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๙ (๕) (๖) และมาตรา ๒๐ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๙ ดังนี้ แม้จำเลยทั้งห้าจะได้รับค่าตอบแทนในการจัดการเลือกตั้งจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๑ แต่เนื่องจากจำเลยทั้งห้าไม่ได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และอยู่ในสายการบังคับบัญชาขององค์กรปกครองท้องถิ่นดังกล่าวโดยตรง จำเลยทั้งห้าจึงไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา แต่เมื่อจำเลยทั้งห้ามีอำนาจหน้าที่จัดการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๙ จำเลยทั้งห้าจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐประเภทเจ้าหน้าที่รายบุคคล คือ เป็นบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่โดยตรงโดยมิได้ผูกพันกับองค์กร ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ และเป็นเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๔ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓ เมื่อจำเลยทั้งห้าถูกโจทก์กล่าวหาว่าได้ร่วมกันดำเนินการจัดการเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นข้อพิพาทกรณีที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้าดำเนินการจัดการเลือกตั้งโดยมิชอบหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายที่กำหนดไว้ และเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนครราชสีมา ส่วนโจทก์ยื่นคำแถลงความเห็นว่า โจทก์ไม่อาจยื่นฟ้องจำเลยทั้งห้าต่อศาลปกครองได้อีก เพราะถือว่าเป็นกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีนี้ซึ่งถึงที่สุดแล้ว ตามข้อ ๙๗ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ นั้น เห็นว่า ในคดีหมายเลขแดงที่ ฟ. ๒๙/๒๕๕๘ ศาลปกครองสูงสุดเพียงวินิจฉัยว่า คดีโจทก์เป็นคดีเลือกตั้งที่อยู่ในอำนาจศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค แต่ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๑ (๓) โดยศาลปกครองสูงสุดหาได้วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๑ (๓) และมาตรา ๙ ไม่ ดังนั้น หากศาลปกครองนครราชสีมามีความเห็นหรือคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลมีคำวินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลปกครองนครราชสีมาซึ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้นย่อมมีอำนาจรับคดีโจทก์ไว้พิจารณาได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ ประกอบมาตรา ๙ หาถือเป็นการยื่นฟ้องกันอีกในประเด็นที่รับวินิจฉัยแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน อันจะเป็นการยื่นคำฟ้องซ้ำ ตามข้อ ๙๗ แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ในตุลาการศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ไม่ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ โจทก์เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา เขตเลือกตั้งที่ ๕ ฟ้องขอให้จำเลยทั้งห้าซึ่งมีหน้าที่จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ อันเนื่องมาจากการที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เขตเลือกตั้งที่ ๕ ใหม่ ด้วยเหตุ “ที่มีการกำหนดหมายเลข ๒ ให้เป็นหมายเลขประจำตัวของผู้สมัครรายหนึ่ง แล้วมีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นหมายเลข ๕ ตามประกาศผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๑ และการที่บัตรเลือกตั้งไม่มีช่องทำเครื่องหมายลงคะแนนของผู้สมัครหมายเลข ๗ ย่อมเป็นเหตุสุดวิสัยไม่สามารถกระทำการลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ ๑ เขตเลือกตั้งที่ ๕ ต่อไปได้ ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยนั้น… ตามมาตรา ๘๓ การประกาศหยุดการลงคะแนนเลือกตั้ง แล้วให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งต่อไป โดยมีการยกเลิกบัตรเลือกตั้งสีม่วง และให้ใช้บัตรเลือกตั้งสีชมพูซึ่งมีช่องทำเครื่องหมายลงคะแนนหมายเลข ๗ แทน รวมทั้งการกระทำใดๆ หลังจากนั้นย่อมเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลือกตั้งในครั้งนี้มิได้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม” ดังนั้นการที่จำเลยทั้งห้าได้จัดการเลือกตั้งโดยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ จนเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ เมื่อคดีนี้จำเลยที่ ๑ ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมาให้เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดนครราชสีมาให้เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา ตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ตามมาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ ตามลำดับ จำเลยทั้งห้าจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และโดยที่การใช้อำนาจของจำเลยทั้งห้าเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจในทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง ดังนั้น การที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้าจัดการเลือกตั้งโดยไม่เป็นไปตามกฎหมายดังกล่าว จนเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ มีคำวินิจฉัยว่า การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวมิได้เป็นไปโดยเที่ยงธรรม และมีคำสั่งให้จัดการเลือกตั้งใหม่ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง และมิใช่กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่า ควรให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นคดีเลือกตั้งที่จะอยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ ทั้งมิใช่กรณีการฟ้องคดีเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือการวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องฟ้องคดีโดยตรงต่อศาลปกครองสูงสุด ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายสมศักดิ์ ขำประถม โจทก์ นายสมชาย ไชยจักร ที่ ๑ นายศิริ อินทรอร่ามวงษ์ ที่ ๒ นายชาติเจริญ ชอบพิมาย ที่ ๓ นายพรชัย อิ่มหาญ ที่ ๔ ว่าที่พันตำรวจโทหรือนายโดม กิขุนทด ที่ ๕ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share