คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2950/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าที่ดินที่ถูกเวนคืนแปลงใดมีที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนหรือไม่เพียงใด ต้องพิจารณาในวันที่กฎหมายกำหนดแนวเขตที่จะเวนคืนมีผลใช้บังคับในกรณีนี้คือวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ คือวันที่ 1 มกราคม 2535 ในวันดังกล่าวที่ดินของโจทก์ที่จะต้องเวนคืนเป็นที่ดินแปลงเดียวมีที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ 113 ตารางวา และไม่มีด้านหนึ่งด้านใดน้อยกว่า 5 วา ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะขอให้ฝ่ายจำเลยเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินแปลงนี้ออกเป็นแปลงย่อยอีก 7 แปลง ภายหลังวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นผลให้ที่ดินที่แบ่งแยกดังกล่าวแต่ละแปลงมีเนื้อที่น้อยกว่า 25 ตารางวา และมีด้านหนึ่งด้านใดน้อยกว่า 5 วานั้น เกิดจากการกระทำของโจทก์เองมิใช่เกิดจากการเวนคืนโดยตรง โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้ฝ่ายจำเลยเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินที่เหลืออยู่นั้นได้
อุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้ขอให้รัฐมนตรีฯ วินิจฉัยกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงให้แก่โจทก์ ส่วนที่มีหนังสือถึงเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ขอให้เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือว่า หากเจ้าหน้าที่ไม่ยอมเวนคืนหรือจัดซื้อก็ขอให้กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลืออยู่อันราคาลดลงร้อยละ 60 เป็นการขอให้เจ้าหน้าที่ที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินตามมาตรา 20 มิใช่เป็นการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง เงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงซึ่งเป็นเงินค่าทดแทนตามมาตรา 21 วรรคสามนี้ ก่อนที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 จะมีสิทธินำคดีมาฟ้องคดีต่อศาลขอเงินค่าทดแทนส่วนนี้ได้ ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจะต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีก่อนตามขั้นตอนในมาตรา 25 วรรคหนึ่งและมาตรา 26 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้รัฐมนตรีฯ กำหนดเงินค่าทดแทนส่วนนี้ก่อน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนส่วนนี้จากจำเลย ปัญหานี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมาย อันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และข้อเท็จจริงอันนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวปรากฏจาก พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำเข้าสู่การพิจารณาของศาลโดยชอบแล้ว แม้จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้และไม่ได้ ยกเหตุนี้ขึ้นฎีกาก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้
ผู้จะมีสิทธิได้เงินค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนตาม มาตรา 21 วรรคท้าย ต้องเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขาย หรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้วในวันที่อสังหาริมทรัพย์นั้นถูกกำหนดให้เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน ในกรณีนี้คือวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ คือวันที่ 1 มกราคม 2535 แต่โจทก์ซื้อที่ดินที่ต้องเวนคืน มาภายหลังวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาฯ แล้ว ทั้งการสร้างอาคารพาณิชย์แบ่งขายให้แก่บุคคลอื่นก็ไม่ใช่การอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกเงินค่าทดแทนความเสียหายส่วนนี้
โจทก์ผู้ถูกเวนคืนจะมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์เพียงใดนั้น ต้องเป็นไปตามที่ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 บัญญัติไว้ แต่ตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้หาได้มีบทบัญญัติให้จ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับความเสียหายที่โจทก์ถูกผู้ซื้อที่ดิน (ที่ถูกเวนคืน) และอาคารพาณิชย์จากโจทก์ฟ้องให้โจทก์รับผิดไม่ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชำระค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันจ่ายเงินแก่โจทก์ทั้งสองจำนวน ๑๗๘,๖๒๔,๘๗๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๐.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑๑๙,๑๘๒,๕๖๙ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดิน ส่วนที่เหลือด้วย หากจำเลยทั้งสี่ไม่อาจเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือได้ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินส่วนที่เหลือของโจทก์ทั้งสองมีราคาลดลง รวมเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนและเงินค่าทดแทนความเสียหายเป็นเงินค่าทดแทน ๑๑๑,๕๑๒,๕๖๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๐.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนจำนวน ๔,๓๘๓,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินนับแต่วันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๓๘ เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยต้องไม่เกินร้อยละ ๑๐.๕ ต่อปี กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียม แทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๒๐,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสี่ใช้แทนโจทก์ทั้งสองเท่าที่ชนะคดี
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน ๒,๔๙๓,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า … มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ข้อต่อไปว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้ฝ่ายจำเลยเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๒๔๕ และ ๑๐๒๓ ถึง ๑๐๒๖ หรือไม่ ในอัตรา ตารางวาละเท่าใด เห็นว่า การพิจารณาว่าที่ดินที่ถูกเวนคืนแปลงใดมีที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนหรือไม่เพียงใด ต้องพิจารณาในวันที่กฎหมายกำหนดแนวเขตที่จะเวนคืนมีผลใช้บังคับในกรณีนี้คือวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ฯ คือวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ ซึ่งได้ความว่า ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๒๔๕ เมื่อหักส่วนที่เป็นทางหลวงแผ่นดินมีที่ดินเหลือจากการเวนคืนเนื้อที่ ๑๑๓ ตารางวา และไม่มีด้านหนึ่งด้านใดน้อยกว่า ๕ วา จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ จะขอให้ฝ่ายจำเลยเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ทั้งสองดำเนินการแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๙๒๔๕ ออกเป็นแปลงย่อยอีก ๗ แปลงโดยมีการออกโฉนดที่ดินใหม่อีก ๗ ฉบับ เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๒๓ ถึง ๑๐๒๙ ภายหลังวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ฯ อันเป็นผลให้ที่ดินโฉนดฉบับคงเลขที่ ๑๙๒๔๕ และที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๒๓ ถึง ๑๐๒๖ แต่ละแปลงมีเนื้อที่น้อยกว่า ๒๕ ตารางวา และมีด้านหนึ่งด้านใดน้อยกว่า ๕ วา นั้น เกิดจากการกระทำของโจทก์ทั้งสองเอง มิใช่เกิดจากการเวนคืนโดยตรง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะขอให้ฝ่ายจำเลยเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินโฉนดฉบับคงเลขที่ ๑๙๒๔๕ และ ๑๐๒๓ ถึง ๑๐๒๖ ที่เหลืออยู่นั้นได้ ที่ศาลชั้นต้นให้ จำเลยทั้งสี่จัดซื้อที่ดินโฉนดฉบับคงเลขที่ ๑๙๒๔๕ ที่เหลืออยู่เนื้อที่ ๖.๗๐ ตารางวา ตารางวาละ ๙๐,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๖๐๓,๐๐๐ บาท และศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้ในส่วนนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสอง ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ข้อต่อไปว่าโจทก์ทั้งสองมีสิทธิได้รับเงิน ค่าทดแทนสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๒๓ ถึง ๑๐๒๖ ที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงหรือไม่เพียงใด เมื่ออุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ ๔ วินิจฉัยกำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินของโจทก์ทั้งสองที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงให้แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนที่โจทก์ทั้งสองมีหนังสือถึง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ขอให้เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือด้วย ว่าขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินไปทั้งหมดรวมเป็นเงิน ๓๒,๔๙๙,๒๒๑ บาท หากเจ้าหน้าที่ไม่ยอมเวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เหลือก็ให้เจ้าหน้าที่กำหนดเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เหลืออยู่อันราคาลดลง ร้อยละ ๖๐ ของราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวรวมเป็นเงิน ๒๔,๘๒๙,๒๒๑ บาท ตามหนังสือขอให้เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินส่วนที่เหลือด้วยนั้นเป็นการขอให้เจ้าหน้าที่เวนคืนหรือจัดซื้อที่ดินตามมาตรา ๒๐ เท่านั้น มิใช่เป็นการอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ฯ ตามมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง เงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินที่เหลือจากการเวนคืนอันราคาลดลงซึ่งเป็นเงินค่าทดแทน ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๒๑ วรรคสาม นี้ ก่อนที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา ๑๘ จะมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลขอเงินค่าทดแทนส่วนนี้ได้ ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจะต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี ฯ ก่อนตามขั้นตอนในมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๖ วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา ๑๘ ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ ๔ กำหนดเงินค่าทดแทนส่วนนี้ก่อน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าทดแทนส่วนนี้จากจำเลยทั้งสี่ ปัญหานี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และข้อเท็จจริงอันนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองที่นำเข้าสู่การพิจารณาของศาลโดยชอบแล้ว แม้จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้และไม่ได้ยกเหตุนี้ขึ้นฎีกาก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ …
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อต่อไปว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกเงินค่าทดแทนความเสียหายจากการประกอบการค้าและประกอบการงานอยู่ในที่ดินที่ถูกเวนคืนหรือไม่ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ มาตรา ๒๑ วรรคท้าย บัญญัติว่า ถ้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัย หรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนนั้น และบุคคลดังกล่าวได้รับความ เสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ให้กำหนดเงินค่าทดแทนให้สำหรับความเสียหายนั้นด้วย เห็นว่า ผู้ที่จะมีสิทธิได้เงินค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนตาม มาตรา ๒๑ วรรคท้าย นี้ต้องเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้วในวันที่อสังหริมทรัพย์นั้นถูกกำหนดให้เป็น อสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน ในกรณีนี้คือวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ฯ คือวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ แต่โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินที่ต้องเวนคืนมาภายหลังวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา ฯ แล้ว ทั้งการสร้างอาคารพาณิชย์แบ่งขายให้แก่บุคคลอื่น ก็ไม่ใช่การอยู่อาศัยหรือประกอบการค้าขายหรือการงานอันชอบด้วยกฎหมายอยู่ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืน โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกเงินค่าทดแทนความเสียหายส่วนนี้ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองต่อไปว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองถูกผู้ซื้อที่ดิน (ที่ถูกเวนคืน) และอาคารพาณิชย์จากโจทก์ทั้งสองฟ้องให้โจทก์ทั้งสองรับผิดหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสอง ผู้ถูกเวนคืนจะมีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองเพียงใดนั้น ต้องเป็นไปตามที่ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๐ บัญญัติไว้ แต่ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้หาได้มีบทบัญญัติให้จ่ายค่าทดแทนสำหรับความเสียหายที่โจทก์ทั้งสองถูกผู้ซื้อที่ดิน (ที่ถูกเวนคืน) และอาคารพาณิชย์จากโจทก์ทั้งสองฟ้องให้โจทก์ทั้งสองรับผิดไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่รับผิดชำระค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ทั้งสอง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น …
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ (จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ร่วมรับผิดในฐานะผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามลำดับเท่านั้น) ร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มจากที่จำเลยที่ ๔ วินิจฉัยไว้อีก ๑,๓๘๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินแต่ต้องไม่เกินร้อยละ ๑๐.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๘ เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ทั้งสอง เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความ ๒๐,๐๐๐ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ .

Share