แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ในฐานะผู้กู้ และจำเลยที่ 4 ชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันให้โจทก์ มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(1) ให้ถือว่า บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยคู่ความร่วมคนหนึ่งให้ถือว่าได้ทำโดยคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย แต่หลังจากที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การยกอายุความตามสัญญากู้เงินขึ้นต่อสู้ โจทก์ได้ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ผลย่อมเป็นไปตามมาตรา 176 โดยกระบวนพิจารณาที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การยกไว้ถือว่าเป็นอันลบล้างไปด้วย จึงไม่มีกำหนดอายุความที่จะนำมาพิจารณาได้อีก
จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ตามสัญญากู้เงินจึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 458,175,085.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 298,815,208.47 บาท และร้อยละ 14 ต่อปี จากต้นเงิน 4,527,898.53 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 โดยให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 9,026,180.85 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงิน 1,557,197.89 บาท และร้อยละ 14ต่อปี จากต้นเงิน 2,200,000 บาท นับถัดวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 4,289,074.01 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงิน1,557,197.89 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 2,757,621.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงิน1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 5 ชำระเงิน73,135,890.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี จากต้นเงิน 30,000,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 6 ชำระเงิน 266,312.28 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี จากต้นเงิน 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 7 ชำระเงิน 646,356.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี จากต้นเงิน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ถ้าได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยผู้จำนองชำระหนี้จนกว่าจะครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า หนี้โจทก์ตามสัญญากู้ทั้ง 4 ฉบับขาดอายุความแล้ว ส่วนสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับวันที่ 12 กันยายน 2516 และวันที่ 27 กันยายน 2522โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงหักทอนบัญชีกันแล้วไม่มีหนี้สินค้างชำระต่อกัน จำเลยที่ 1ไม่เคยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับวันที่ 17 กันยายน 2518 กับโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดโจทก์คิดดอกเบี้ยตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีทั้งสามฉบับไม่ถูกต้องและหนี้ในส่วนนี้ก็ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 30 มกราคม 2516 และฉบับลงวันที่ 19 ตุลาคม 2516 หนี้เงินกู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า สัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 30 มกราคม 2516 และฉบับลงวันที่ 19 ตุลาคม 2516 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับไปแล้ว จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดและหนี้เงินกู้ดังกล่าวก็ขาดอายุความแล้วขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า ได้ทำสัญญาค้ำประกันฉบับลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2516จริง แต่ไม่ได้ตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยกันหลายครั้งโดยจำเลยที่ 4 ไม่ได้ยินยอมด้วย การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันทำให้หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับสิ้นไปจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ให้การว่า จำเลยที่ 6 กู้เงินโจทก์ 100,000 บาท โดยเอาที่ดินไปจำนองลงชื่อไว้ในสัญญากู้เงินและหนังสือมอบอำนาจซึ่งยังไม่ได้กรอกข้อความให้พนักงานของโจทก์ไว้โดยไม่ได้รับเงินกู้ เมื่อปรากฏในภายหลังว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ จำเลยที่ 6 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลอนุญาต จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กันยายน 2522 และชำระเงินจำนวน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นในอัตราเดียวกัน นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม2522 ให้จำเลยที่ 5 ชำระเงินจำนวน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กันยายน 2516 ให้จำเลยที่ 6 ชำระเงินจำนวน 100,000บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2519 และให้จำเลยที่ 7 ชำระเงินจำนวน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นในอัตราร้อยละ 14ต่อปี นับแต่วันที่ 28 กันยายน 2522 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินที่จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยเหล่านั้นออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 3 และที่ 4
โจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 5 และจำเลยที่ 5 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 ชำระดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้น และชำระดอกเบี้ยค้างจ่ายก่อนวันฟ้องเพียง 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่จำเลยที่ 1 ผู้กู้ยื่นคำให้การยกอายุความเรื่องสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2516 ขึ้นต่อสู้ จะมีผลถึงจำเลยที่ 4 ผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับดังกล่าว ซึ่งไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ด้วยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้กู้และขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกัน มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59(1) ให้ถือว่า บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย … ก็ตาม แต่หลังจากที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การยกอายุความเรื่องสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้เงินขึ้นต่อสู้ โจทก์ได้ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความแล้ว ผลย่อมเป็นไปตามมาตรา 176 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ว่าการถอนคำฟ้องย่อมมีผลลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้องเลยดังนั้น กระบวนพิจารณาที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การยกอายุความเรื่องสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้เงินขึ้นต่อสู้โจทก์ ถือว่าเป็นอันลบล้างไปด้วยผลของการถอนฟ้องตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงเท่ากับว่าไม่มีกำหนดอายุความเรื่องสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ของจำเลยที่ 1 ที่จะนำมาพิจารณาได้อีก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่า เมื่อหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้กู้ขาดอายุความย่อมมีผลถึงจำเลยที่ 4 ผู้ค้ำประกันหนี้ดังกล่าวด้วยนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปมีว่า จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด ปัญหาดังกล่าวศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัย แต่โจทก์และจำเลยที่ 4 ได้นำสืบข้อเท็จจริงกันมาเสร็จสิ้นแล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาเสียใหม่ ปัญหาดังกล่าวโจทก์และจำเลยที่ 4 นำสืบรับกันว่า จำเลยที่ 1 ได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน 1,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ตามสัญญากู้เงินฉบับลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2516 โดยจำเลยที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินฉบับดังกล่าว ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.45 และจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดแล้ว จำเลยที่ 4 ยังไม่เคยชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันให้แก่โจทก์ ที่จำเลยที่ 4 ต่อสู้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยกันหลายครั้งโดยจำเลยที่ 4 มิได้ตกลงยินยอมด้วย จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ทำให้หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับ จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงหลุดพ้นจากความรับผิดนั้น เห็นว่า การตกลงเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ตามสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่ หนี้ตามสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ระงับสิ้นไป ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์ขอให้จำเลยที่ 4 รับผิดชำระหนี้แก่โจทก์และดอกเบี้ยตามจำนวนและอัตราที่ระบุไว้ในสัญญาค้ำประกันเท่านั้น เมื่อได้ความว่า จำเลยที่ 1 ผู้กู้ตกเป็นผู้ผิดนัดแล้วจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงต้องรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 1,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2516 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์