คำวินิจฉัยที่ 51/2558

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

โจทก์อ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ต่อมาจำเลยออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ทับที่ดินของโจทก์ ภายหลังโจทก์ไปดำเนินการขอเอกสารสิทธิแปลงที่ครอบครองดังกล่าวแต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ดำเนินการให้ อ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ ขอให้พิพากษาให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ “วะช่องโค” ซึ่งมีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ โจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินส่วนที่พิพาทโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๑/๒๕๕๘

วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๘

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสีคิ้ว
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสีคิ้วโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ นายชัย พบขุนทด โจทก์ ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน จำเลย ต่อศาลจังหวัดสีคิ้ว เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๓/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิต่อเนื่องตลอดมาจากตาและบิดาของโจทก์เป็นเวลานานกว่า ๖๐ ปี รวมเนื้อที่ ๓๐ ไร่ ซึ่งที่ดินตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ต่อมาในปี ๒๕๒๘ จำเลยออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๒๓๑๘๙ เนื้อที่ ๑,๓๒๙ ไร่ ๓ งาน ๕๗ ตารางวา ซึ่งทับที่ดินของโจทก์ ภายหลังโจทก์ไปดำเนินการขอเอกสารสิทธิแปลงที่ครอบครองดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดิน แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ดำเนินการให้อ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ ขอให้พิพากษาให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ให้บังคับจำเลยดำเนินการยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๒๓๑๘๙ ในส่วนที่ออกทับที่ดินของโจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ “วะช่องโค” ซึ่งมีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ การครอบครองที่โจทก์อ้างเป็นการได้มาภายหลังจากที่สภาพของดินเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์แล้ว เป็นการได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบ โจทก์คดีนี้ได้ยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาด่านขุนทด และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ที่ ๒ ต่อศาลปกครองนครราชสีมา เกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาศาลปกครองนครราชสีมา ได้มีคำพิพากษายกฟ้อง นอกจากนี้โจทก์ในคดีนี้ถูกดำเนินคดีเป็นจำเลย ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๔๘๔/๒๕๕๖ ในความผิดฐานบุกรุกที่สาธารณประโยชน์ “วะช่องโค” ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา จำเลยได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดทุกประการ โจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การดำเนินการและขั้นตอนในการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง รวมถึงการออกคำสั่งและลงนามให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงคดีนี้ไม่ถูกต้อง อันเป็นการกระทบสิทธิหน้าที่ของโจทก์นั้น ถือเป็นการกระทำทางการปกครองของหน่วยงานรัฐ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสีคิ้วพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ตามที่กล่าวอ้างหรือ เป็นที่สาธารณประโยชน์ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นข้อพิพาทอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อโจทก์ฟ้องว่าอธิบดีกรมที่ดิน ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ทับที่ดินของโจทก์ซึ่งมีสิทธิครอบครองอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และแม้คดีมีประเด็นที่ศาลปกครองต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ หรือเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองหรือไม่ แต่ประเด็นดังกล่าวเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลปกครองต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นประเด็นย่อยในหลายประเด็นปัญหาที่ศาลปกครองต้องพิจารณาการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้การวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวพันดังกล่าว จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่การพิจารณาในปัญหาดังกล่าว ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใด ห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือประมวลกฎหมายที่ดินมาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทคดีนี้ได้ อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่ามูลความแห่งคดีนี้เกี่ยวเนื่องกับคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ๓๒๔-๓๓๐/๒๕๕๕ ของศาลปกครองนครราชสีมา ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด กรณีจึงชอบที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ในศาลปกครองคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ รวมเนื้อที่ ๓๐ ไร่ ต่อมาจำเลยออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ ๒๓๑๘๙ ทับที่ดินของโจทก์ ภายหลังโจทก์ไปดำเนินการขอเอกสารสิทธิแปลงที่ครอบครองดังกล่าวแต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่ดำเนินการให้อ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ ขอให้พิพากษาให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ “วะช่องโค” ซึ่งมีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ โจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินส่วนที่พิพาทโจทก์ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายชัย พบขุนทด โจทก์ กรมที่ดิน จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share