แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยมีเครื่องชั่งไว้ชั่งซื้อข้าวเปลือกจากผู้ขาย การที่เครื่องชั่งของจำเลยชั่งวัตถุที่มีน้ำหนักจริง 500 กิโลกรัมได้น้ำหนัก 502 กิโลกรัม ทำให้ผู้ขายได้น้ำหนักเพิ่มขึ้น 2 กิโลกรัมถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเครื่องชั่งดังกล่าวไว้เพื่อเอาเปรียบในการค้า ตามประมวลกฎหมายอาญา 270 คงมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 31,38 เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันมีเครื่องชั่งแบบตุ้มเลื่อน พิกัดกำลัง 500 กิโลกรัม จำนวน 1 เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องชั่งที่ผิดพิกัดอัตราตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัดพ.ศ. 2466 และเป็นการเพื่อเอาเปรียบในการค้า ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติ มาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 270 และริบของกลาง จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 2ที่ 3 ให้การปฏิเสธ ซึ่งศาลชั้นต้นได้จำหน่ายคดีให้โจทก์ฟ้องเป็นคดีใหม่ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 31, 38 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 270 ลงโทษตามมาตรา 270 อันเป็นบทหนักและลดโทษให้จำเลยที่ 1กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 1 เดือน 15 วัน ปรับ 1,540 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่รอการลงโทษและไม่ปรับจำเลยที่ 1นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งให้รับไว้พิจารณาเพียงข้อเดียวว่าตามฟ้องของโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 1 มีเครื่องชั่งที่ผิดอัตรา เมื่อใช้ชั่งน้ำหนักขั้น 1-500 กิโลกรัม น้ำหนักเกินจากมาตรฐานไป 2 กิโลกรัมทุกชั้น อันเป็นกรณีจำเลยที่ 1 มีเครื่องชั่งไว้ชั่งซื้อข้าวเปลือกจากผู้ขาย มิใช่ชั่งขายนั้น จำเลยที่ 1 เอาเปรียบในการค้าหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องได้ความว่า เครื่องชั่งที่จำเลยที่ 1 มีไว้นั้น วัตถุที่มีน้ำหนักจริง 500 กิโลกรัมใช้เครื่องชั่งของจำเลยที่ 1 ชั่งจะได้น้ำหนัก 502 กิโลกรัมโดยจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายชั่งข้าวเปลือกที่ซื้อจากผู้ขาย เห็นได้ว่าถ้าข้าวเปลือกที่ลูกค้านำมาขายจำเลยมีน้ำหนัก 500 กิโลกรัมใช้เครื่องชั่งของจำเลยที่ 1 จะได้น้ำหนักข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นอีก 2 กิโลกรัม จึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 มีเครื่องชั่งดังกล่าวไว้ใช้เพื่อเอาเปรียบในการค้า การกระทำของจำเลยที่ 1จึงไม่เป็นความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 270 จำเลยที่ 1คงมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา31, 38 เท่านั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ. 2466 มาตรา 31, 38 จำคุก 2 เดือน ปรับ1,000 บาท จำเลยที่ 1 รับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน ปรับ 500 บาทไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยรับโทษจำคุกมาก่อน และจำเลยที่ 1มิได้มีเครื่องชั่งตามฟ้องไว้เพื่อเอาเปรียบในการค้า จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์