คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์และจำเลยทั้งสองจะไม่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกทั้งสามแปลง แต่ที่จำเลยทั้งสองคัดค้านมิให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดก ทั้งมิได้ขอเป็นผู้จัดการมรดก ทำให้ไม่มีผู้มีหน้าที่ทำการแบ่งปันที่พิพาทดังกล่าว นอกจากนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363 ยังให้สิทธิแก่ทายาทที่เป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ ทั้งจำเลยทั้งสองปฏิเสธว่ามีที่ดินเพียงสองแปลงที่เป็นที่ดินมรดก ส่วนที่ดินอีกแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นของจำเลยที่ 2 มิใช่ทรัพย์มรดก ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ชอบที่โจทก์จะใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่ดินทั้งสามแปลงแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินรวมสามแปลงเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินทั้งสามแปลงเป็นทรัพย์มรดก การแบ่งปันมรดกต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในคราวเดียวกัน ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองแบ่งปันที่ดินแปลงเดียวแก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนเป็นการไม่ชอบ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของในที่ดินโฉนดเลขที่ 8137, 8155 และ 10986 คนละหนึ่งส่วนเท่ากัน หากแบ่งไม่ได้ให้ขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งกันและให้จำเลยทั้งสองไปลงชื่อร่วมกับโจทก์ในทะเบียนโฉนดที่ดินเลขที่ 8137, 8155 และ 10986 ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาไชยา หากจำเลยทั้งสองไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าทายาททุกคนได้ตกลงแบ่งที่ดินพิพาทและที่ดินมรดกกันแล้ว กรณีเป็นเรื่องทายาททุกคนครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งกัน โจทก์ซึ่งเป็นทายาทย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งที่ดินพิพาทได้แม้จะล่วงอายุความมรดก เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนาเป็นเจ้าของ จึงฟังได้ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 8137 ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนายเฉ่ง บิดาโจทก์และจำเลยทั้งสอง เมื่อนายเฉ่งถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทรวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 8155 และโฉนดเลขที่ 10986 ย่อมตกทอดแก่โจทก์และจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมคนละส่วนเท่า ๆ กัน เมื่อโฉนดที่ดินเลขที่ 8137, 8155 และ 10986 มีชื่อนายเฉ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่และสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้จำเลยทั้งสองต้องไปลงชื่อในทะเบียนโฉนดที่ดินมรดกทั้งสามแปลง ให้ยกคำขอส่วนนี้ พิพากษาให้จำเลยทั้งสองแบ่งปันที่ดินมรดกโฉนดเลขที่ 8137 ให้แก่โจทก์ 1 ใน 3 ส่วน หากจำเลยทั้งสองไม่อาจแบ่งปันที่ดินมรดกให้แก่โจทก์ได้ ให้นำที่ดินมรดกดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินไปแบ่งปันให้โจทก์ 1 ใน 3 ส่วน คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ประกอบกับจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาจึงรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายเฉ่ง กับนางเพียร นายเฉ่งถึงแก่ความตายแล้ว เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2541 นายเฉ่งถึงแก่ความตายโดยมีที่ดินโฉนดเลขที่ 8137, 8155 และ 10986 เป็นทรัพย์มรดกโดยนายเฉ่งมิได้ทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใด โจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายเฉ่ง แต่จำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 35/2559 ของศาลชั้นต้นที่ดินพิพาททั้งสามแปลงยังมีชื่อนายเฉ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยมิได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกแต่ประการใด
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองแบ่งปันที่ดินพิพาททั้งสามแปลงซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายเฉ่งหรือไม่ เห็นว่า ก่อนคดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกเพื่อแบ่งปันที่ดินพิพาททั้งสามแปลง แต่จำเลยที่ 2 คัดค้านโดยอ้างเหตุผลประการหนึ่งว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 8137 เป็นที่ดินของจำเลยที่ 2 โดยนายเฉ่งยกให้และจำเลยที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์มาโดยการครอบครองปรปักษ์ ทั้งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความในคดีดังกล่าวยืนยันว่าเป็นที่ดินของจำเลยที่ 2 เช่นเดียวกัน อันมีลักษณะเป็นการโต้แย้งว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 8137 มิใช่ทรัพย์มรดกของนายเฉ่ง ส่วนที่ดินพิพาทอีก 2 แปลงแม้จะยอมรับว่าเป็นทรัพย์มรดกของนายเฉ่งก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสองคัดค้านมิให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายเฉ่งเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ทั้งมิได้ดำเนินการขอให้จำเลยคนหนึ่งคนใดเป็นผู้จัดการมรดกทำให้ไม่มีผู้มีหน้าที่รับผิดชอบที่จะทำการแบ่งปันทรัพย์ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงดังกล่าวได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความในคดีก่อนและจำเลยทั้งสองให้การในคดีนี้ว่าเป็นสิทธิของจำเลยทั้งสองที่จะรับหรือไม่รับทรัพย์มรดกของนายเฉ่ง เช่นนี้ แสดงว่าจำเลยทั้งสองประสงค์ที่จะไม่ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายเฉ่งกับโจทก์ นอกจากนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1745 ประกอบมาตรา 1363 ยังให้สิทธิแก่ทายาทที่เป็นเจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ แม้โจทก์และจำเลยทั้งสองจะไม่มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกทั้งสามแปลงของนายเฉ่งก็ตาม แต่การที่จำเลยทั้งสองปฏิเสธว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 8137 มิใช่ทรัพย์มรดกเท่ากับไม่ยอมแบ่งแก่โจทก์ ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ชอบที่โจทก์จะใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองแบ่งที่ดินทั้งสามแปลงแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องส่วนที่ที่ดินทั้งสามแปลงยังมีชื่อนายเฉ่งถือกรรมสิทธิ์อยู่ก็เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยทั้งสองจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อเพื่อดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกต่อไป มิใช่เหตุขัดขวางการใช้สิทธิขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของโจทก์แต่ประการใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยกฟ้องโจทก์ โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อย่างไรก็ดี โจทก์ฟ้องขอแบ่งที่ดินรวมสามแปลงเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินทั้งสามแปลงเป็นทรัพย์มรดกของนายเฉ่ง การแบ่งปันทรัพย์มรดกต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นในคราวเดียวกัน ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองแบ่งปันเฉพาะที่ดินมรดกโฉนดเลขที่ 8137 แก่โจทก์หนึ่งในสามส่วนเท่านั้นย่อมเป็นการไม่ชอบ และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 252
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองแบ่งปันที่ดินโฉนดเลขที่ 8137, 8155 และ 10986 แก่โจทก์ หากตกลงกันไม่ได้ให้ขายเอาเงินมาแบ่งปันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสามส่วน คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share