แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้จะระบุวันนัดกระทำความผิด และไม้พะยูงจำนวนเดียวกันแต่คำฟ้องของโจทก์ข้อ 2 (ก) และข้อ 2 (ข) มิได้มีข้อความใดระบุยืนยันหรือทำให้เข้าใจได้ว่า จำเลยกระทำผิดฐานเป็นตัวการทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ หรือรับไว้ซึ่งไม้ของกลางโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้ที่คนร้ายได้มาจากการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ทั้งสองฐานในคราวเดียวกัน และมิได้มีความขัดแย้งกัน แต่เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เพื่อให้ศาลวินิจฉัยและเลือกลงโทษจำเลยฐานใดฐานหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความ คำฟ้องของโจทก์ข้อ 2 (ก) และข้อ 2 (ข) ถือได้ว่าเป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ดังนั้น ฟ้องโจทก์ข้อ 2 (ก) และ ข้อ 2 (ข) จึงไม่ขัดแย้งกันและไม่เคลือบคลุม
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 70 เป็นบทบัญญัติพิเศษที่บัญญัติให้ผู้ใดรับไว้ด้วยประการใด ซ่อนเร้น จำหน่ายหรือช่วยพาเอาไปเสียให้พ้น ซึ่งไม้หรือของป่าที่ตนรู้แล้วว่าเป็นไม้หรือของป่าที่มีผู้ได้มาโดยการกระทำผิดต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้มีความผิดฐานเป็นตัวการในการกระทำผิดนั้น แม้ผู้นั้นจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในภายหลังจากการกระทำความผิดสำเร็จแล้ว หรือมิได้เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดโดยตรงมาตั้งแต่ต้นก็ตาม ก็ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการในการกระทำความผิดนั้นด้วย คำรับสารภาพของจำเลยในข้อหารับไว้ด้วยประการใดซึ่งไม้ของกลางที่ตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้ที่มีผู้ได้มาโดยการกระทำผิด กับข้อหามีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายชัดแจ้งและไม่เคลือบคลุมแต่อย่างใด ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามฟ้องของโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2555 เวลากลางวัน ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ มีคนร้ายทำไม้และแปรรูปไม้พะยูง อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในเขตป่าดงภูพานซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ด้วยการตัด โค่น เลื่อย และทอนเป็นท่อนได้ 8 ท่อน รวมปริมาตร 0.33 ลูกบาศก์เมตร กับแปรรูปไม้ได้ 2 แผ่น ปริมาตร 0.03 ลูกบาศก์เมตร อันเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยคนร้ายไม่ได้รับสัมปทานให้ทำไม้และไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด ต่อมาเจ้าพนักงานยึดไม้หวงห้ามดังกล่าวจากความครอบครองของจำเลยเป็นของกลาง ทั้งนี้จำเลยทำไม้หวงห้ามของกลางในเขตป่าสงวนแห่งชาติและแปรรูปไม้หวงห้ามของกลางภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือมิฉะนั้นจำเลยรับไว้ด้วยประการใด ซ่อนเร้น จำหน่าย หรือช่วยพาเอาไปเสียซึ่งไม้พะยูงท่อนของกลางที่ตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้ที่มีผู้ได้มาโดยการกระทำผิดข้างต้น จากนั้นจำเลยมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป 7 ท่อน ปริมาตร 0.33 ลูกบาศก์เมตร ของกลางโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขาย โดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้ไม้ดังกล่าวมาโดยชอบด้วยกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร คดีมีผู้แจ้งความนำจับและมีสิทธิได้รับเงินสินบนนำจับ ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 6, 7, 11, 48, 69, 70, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31, 34, 35 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบของกลาง และจ่ายเงินสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหารับไว้ด้วยประการใดซึ่งไม้ของกลางที่ตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้ที่มีผู้ได้มาโดยการกระทำผิด กับข้อหามีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 70 และ มาตรา 69 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 34 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานรับไว้ด้วยประการใดซึ่งไม้ของกลางที่ตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้ที่มีผู้ได้มาโดยการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำคุก 3 เดือน รวมจำคุก 9 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 เดือน 15 วัน ริบของกลาง ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ข้อ 2 (ก) และข้อ 2 (ข) เคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องความว่า มีคนร้ายทำไม้โดยการตัด โค่นต้นไม้พะยูงอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ซึ่งขึ้นอยู่ในเขตป่าดงภูพาน อันเป็นเขตควบคุมการแปรรูปไม้และเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติออกจากต้นแล้วทอนออกเป็นท่อนได้ไม้พะยูงจำนวน 8 ท่อน รวมปริมาตรไม้ 0.33 ลูกบาศก์เมตร และทำการแปรรูปไม้โดยเลื่อยออกเป็นแผ่น/เหลี่ยม ได้จำนวน 2 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 0.03 ลูกบาศก์เมตร อันเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยคนร้ายมิได้รับสัมปทานให้ทำไม้ และไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย ต่อมาวันที่ 21 ตุลาคม 2555 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานยึดได้ไม้พะยูงแปรรูปจำนวน 2 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 0.03 ลูกบาศก์เมตร และไม้พะยูงท่อนอีกจำนวน 7 ท่อน ปริมาตร 0.33 ลูกบาศก์เมตร จากความครอบครองของจำเลยเป็นของกลาง ทั้งนี้ จำเลยเป็นคนร้ายทำไม้และแปรรูปไม้พะยูงของกลางดังกล่าว อันเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยจำเลยมิได้รับสัมปทานให้ทำไม้และไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และมิได้รับการยกเว้นตามกฎหมายหรือมิฉะนั้นจำเลยรับไว้ด้วยประการใด ๆ ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสียซึ่งไม้พะยูงท่อนจำนวน 7 ท่อน ปริมาตร 0.33 ลูกบาศก์เมตร และไม้พะยูงแปรรูปจำนวน 2 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 0.03 ลูกบาศก์เมตร จากคนร้าย โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้ที่คนร้ายได้มาจากการทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ และความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และวันเดียวกันเวลากลางวันจำเลยมีไม้พะยูงท่อนจำนวน 7 ท่อน ปริมาตร 0.33 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในความครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวง รอยตรารัฐบาลขาย โดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้ไม้ดังกล่าวมาโดยชอบด้วยกฎหมาย คำฟ้องของโจทก์ข้อ 2 (ก) และข้อ 2 (ข) ดังกล่าวมิได้มีข้อความใดระบุยืนยันหรือทำให้เข้าใจได้ว่า จำเลยกระทำผิดฐานเป็นตัวการทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต และกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายหรือทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ หรือรับไว้ซึ่งไม้ของกลางโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้ที่คนร้ายได้มาจากการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ และพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ทั้งสองฐานในคราวเดียวกัน และมิได้มีความขัดแย้งกัน แต่เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เพื่อให้ศาลวินิจฉัยและเลือกลงโทษจำเลยฐานใดฐานหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความ คำฟ้องของโจทก์ข้อ 2 (ก) และข้อ 2 (ข) ถือได้ว่าเป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ดังนั้น ฟ้องโจทก์ข้อ 2 (ก) และ ข้อ 2 (ข) จึงไม่ขัดแย้งกันและไม่เคลือบคลุม ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า คำให้การรับสารภาพของจำเลยรับฟังลงโทษจำเลยได้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 70 เป็นบทบัญญัติพิเศษที่บัญญัติให้ผู้ใดรับไว้ด้วยประการใด ซ่อนเร้น จำหน่ายหรือช่วยพาเอาไปเสียให้พ้น ซึ่งไม้หรือของป่าที่ตนรู้แล้วว่าเป็นไม้หรือของป่าที่มีผู้ได้มาโดยการกระทำผิดต่อบทแห่งพระราชบัญญัตินี้มีความผิดฐานเป็นตัวการในการกระทำผิดนั้น แม้ผู้นั้นจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในภายหลังจากการกระทำความผิดสำเร็จแล้ว หรือมิได้เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดโดยตรงมาตั้งแต่ต้นก็ตาม ก็ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการในการกระทำความผิดนั้นด้วย คำรับสารภาพของจำเลยดังกล่าวชัดแจ้งและไม่เคลือบคลุมแต่อย่างใด ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามฟ้องของโจทก์ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อย่างไรก็ตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับไว้ด้วยประการใดซึ่งไม้ของกลางที่ตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้ที่มีผู้ได้มาโดยการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 และฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมิได้ปรับลงโทษฐานเป็นตัวการทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานเป็นตัวการแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตมาด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้องเช่นกัน เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ว่าไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยเกินกว่ากำหนดโทษที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 212, 215
อนึ่ง ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 106/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ข้อ 2 และข้อ 5 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 48 และวรรคสอง มาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 ให้ยกเลิกความในมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นตัวการทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานเป็นตัวการแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4