แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๑๖ บัญญัติให้ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและ วิธีพิจารณาคดีปกครอง อันเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ไม่ให้ศาลปกครองมีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ส่วนมาตรา ๑๗ เป็นบทบัญญัติในเรื่องการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกกระทำละเมิด ซึ่งจะได้รับการเยียวยาหรือไม่จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าการกระทำนั้นเป็นละเมิดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำละเมิดจึงจะได้รับการเยียวยา เมื่อการพิจารณาว่าการกระทำตามมาตรา ๑๖ นั้น เป็นละเมิดหรือไม่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม การพิจารณาความรับผิดผู้ที่กระทำละเมิดและการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย ตามมาตรา ๑๗ จึงต้องได้รับการพิจารณาโดยศาลเดียวกัน ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ. ๒๕๔๘ ในการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายได้บัญญัติยกเว้นอำนาจของศาลปกครองในการควบคุมตรวจสอบไว้ ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๔ /๒๕๕๘
วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๔ นายประสงค์ กังวาฬวัฒนา โจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัทบางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ ๑ กับพวกรวม ๑๐ คน จำเลย สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑ กระทรวงการคลัง ที่ ๒ จำเลยร่วม ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๖๒/๒๕๕๔ ความว่า ระหว่างวันที่ ๑๒ มีนาคมถึง ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓ จำเลยที่ ๘ ที่ ๙ และที่ ๑๐ เป็นแกนนำกลุ่มคน ซึ่งเรียกตนเองว่า กลุ่มแนวร่วม ประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ได้ร่วมกันชักชวนกลุ่มผู้ชุมนุมให้เข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องให้จำเลยที่ ๒ ในฐานะนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ต่อมามีการชุมนุมขยายพื้นที่จากบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศถนนราชดำเนินไปที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ จำเลยที่ ๒ จึงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ต่อมาจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ ร่วมกันมีคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศและปิดล้อมพื้นที่ชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ทำให้เกิดเหตุการปะทะกันอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากจนกระทั่งวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ มีคำสั่งให้ส่งกำลังทหารเข้ายึดพื้นที่ชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์พร้อมกับสลายการชุมนุม เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๘ ที่ ๙ และที่ ๑๐ ประกาศยุติการชุมนุม การใช้กำลังทหารดังกล่าวเป็นเหตุให้กลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนเกิดความโกรธแค้นและก่อการจราจลด้วยการบุกเข้าทำลายทรัพย์สินพร้อมวางเพลิงอาคารบ้านเรือนของประชาชนและสถานที่สำคัญหลายแห่งรวมทั้งอาคารพาณิชย์ ๔ ชั้น ๓ คูหา เลขที่ ๔๒๒-๔๒๔ และ ๔๒๒/๑ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์กับนายประเสริฐ กังวาฬวัฒนา โดยไม่ปรากฏว่ามีกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจหรือพนักงานดับเพลิงพร้อมรถดับเพลิงเข้าไปขัดขวางการวางเพลิงและควบคุมเพลิงให้เพียงพอ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงได้ร่วมกันสั่งการให้ส่งกองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม โดยมิได้เตรียมมาตรการป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากผลของการใช้กำลังสลา การชุมนุมให้เพียงพอ เป็นเหตุให้เกิดเพลิงลุกไหม้เผาอาคารหลายหลังอย่างต่อเนื่อง จำเลยที่ ๘ ถึงที่ ๑๐ ในฐานะแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมไม่สามารถควบคุมหรือห้ามปรามกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมก่อเหตุจลาจลวางเพลิงเผาอาคารพาณิชย์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์กับพวกได้รับความเสียหาย ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมมูลค่า ๖๕,๐๐๐,๐๐๐ ส่วนจำเลยที่ ๑ ผู้รับประกันวินาศภัยอาคารพาณิชย์ของโจทก์ ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
ศาลมีคำสั่งไม่รับฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑ เพราะโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ มูลประกันภัย แต่มีคำสั่งรับฟ้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๑๐ ในมูลละเมิด
ระหว่างพิจารณาศาลมีคำสั่งใหม่เป็นไม่รับฟ้อง จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๕ และที่ ๗ ต่อมาศาลหมายเรียกสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการคลังเป็นจำเลยร่วม
จำเลยที่ ๔ และที่ ๖ และจำเลยร่วมทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า มิได้กระทำละเมิด แต่อย่างใด ซึ่งจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๗ ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยใช้ความระมัดระวังและดำเนินการไปตามวิธีการวิสัยและพฤติการณ์ที่จะต้องปฏิบัติแล้ว ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยร่วม ทั้งสองขาดอายุความ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๘ ถึงที่ ๑๐ ให้การทำนองเดียวกันว่า การชุมนุมของจำเลยนั้น เป็นการชุมนุม โดยสงบและปราศจากอาวุธ และเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๖๓,๖๔ ความเสียหายที่เกิดขึ้นอยู่นอกเหนือเจตนาของจำเลยจะควบคุมดูแลได้ อาคารโจทก์ถูกเผาทำลายเกิดภายหลังจากที่จำเลยได้ประกาศยุติการชุมนุม จำเลยที่ ๘ ถึงที่ ๑๐ และกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ใช่ผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ที่ ๖ และจำเลยร่วมทั้งสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำทางละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ และของหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเอกชนซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดจากการสลายการชุมนุม กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณสี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียงตามคำสั่งของ ศอฉ. ในขณะที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ แต่เนื่องมาตรา ๑๖ บัญญัติว่า “ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งหรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง” ดังนั้น กรณีไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำใด ๆ ตามพระราชกำหนดนี้ ย่อมไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองทั้งสิ้น ดังนั้นพฤติการณ์ของจำเลยที่เป็นหน่วยงานทางปกครองตามฟ้องโจทก์ จึงไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๑๖ บัญญัติว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง และมาตรา ๑๗ บัญญัติว่า พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ แม้ในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวจะบัญญัติให้ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองก็ตาม แต่การที่พระราชกำหนดดังกล่าวได้มีบทบัญญัติมาตรา ๑๗ เป็นอีกมาตราหนึ่งต่างหากและไม่ได้มีการบัญญัติถ้อยคำกำหนดขอบเขตการใช้บังคับว่าต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๑๖ ด้วยนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าการที่บทบัญญัติมาตรา ๑๖ กำหนดให้ไม่ต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและจำกัดการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองนั้น หมายถึงเฉพาะส่วนที่เป็นข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ทั้งนี้เพื่อมิให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดดังกล่าว ซึ่งต้องการความรวดเร็วมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ต้องติดขัดกับการต้องปฏิบัติตามรูปแบบ ขั้นตอนและวิธีการตามที่กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองกำหนดไว้ หรือต้องหยุดชะงักหรือถูกห้ามมิให้กระทำเพราะมีการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง สำหรับกรณีการกระทำใดๆ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นและต้องมีการชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งเป็นเรื่องความผิดนั้น มาตรา ๑๗ ได้รับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้ได้รับความเสียหายเอาไว้โดยให้รัฐเป็นผู้ผิด และให้การเรียกร้องค่าเสียหายเป็นไปตามกฎหมายหลักที่กำหนดเรื่องนี้ไว้ อันได้แก่ กฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหมายถึงว่าผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อันเป็นหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลในเรื่องความรับผิดของรัฐที่รับรองไว้อย่างชัดแจ้งโดยมาตรา ๖๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๐ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ มีคำสั่งให้ใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม ทำให้เกิดเหตุ การปะทะกันอย่างรุนแรงเป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากโดยไม่ปรากฏว่ามีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจหรือพนักงานดับเพลิง พร้อมรถดับเพลิงเข้าไปขัดขวางการวางเพลิงและควบคุมเพลิงให้เพียงพอ เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้เผาอาคารหลายหลังอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าได้รับความเสียหายจากนายกรัฐมนตรีในการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และได้รับความเสียหายจากการกระทำของรองนายกรัฐมนตรีผู้ได้รับมอบหมาย ผู้บัญชาการทหารบก และศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทหาร และเรียกร้องค่าเสียหายจากราชการตามกฎหมาย ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิทางศาลตามมาตรา ๖๐ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกอบมาตรา ๑๗ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ คดีในส่วนจำเลยที่ ๔ ที่ ๖ และจำเลยร่วมทั้งสอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
สำหรับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๘ ถึงที่ ๑๐ นั้น แม้จำเลยที่ ๘ ถึงที่ ๑๐ ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่มูลเหตุแห่งการฟ้องของโจทก์มีความเกี่ยวพันและรวมอยู่ในมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีอันเดียวกันกับคดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๔ ที่ ๖ และจำเลยร่วมทั้งสอง ดังนั้นคดีพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๘ ถึงที่ ๑๐ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุพิพาท มาตรา ๒๑๘ บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้ หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชนหรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กร ตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ดังนั้น คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หากกฎหมายบัญญัติไม่ให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครองหรือศาลอื่น คดีนั้นย่อมอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๘ มื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดจากการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณสี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียงตามคำสั่ง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในขณะที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งมาตรา ๑๖ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง อันเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งไม่ให้ศาลปกครองมีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ส่วนมาตรา ๑๗ เป็นบทบัญญัติในเรื่องการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกกระทำละเมิด ซึ่งจะได้รับการเยียวยาหรือไม่จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าการกระทำนั้นเป็นละเมิดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำละเมิดจึงจะได้รับการเยียวยา เมื่อการพิจารณาว่าการกระทำตามมาตรา ๑๖ นั้น เป็นละเมิดหรือไม่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม การพิจารณาความรับผิดผู้ที่กระทำละเมิดและการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย ตามมาตรา ๑๗ จึงต้องได้รับการพิจารณาโดยศาลเดียวกัน ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ในการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายได้บัญญัติยกเว้นอำนาจของศาลปกครองในการควบคุม ตรวจสอบไว้ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๘
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายประสงค์ กังวาฬวัฒนา โจทก์ บริษัทบางกอก สหประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ ๑ กับพวกรวม ๑๐ คน จำเลย สำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๑ กระทรวงการคลัง ที่ ๒ จำเลยร่วม อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ