แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๑๖ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง อันเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งไม่ให้ศาลปกครองมีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ส่วนมาตรา ๑๗ เป็นบทบัญญัติในเรื่องการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกกระทำละเมิด ซึ่งจะได้รับการเยียวยาหรือไม่จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าการกระทำนั้นเป็นละเมิดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำละเมิดจึงจะได้รับการเยียวยา แต่ตอนที่จะพิจารณาการกระทำว่าเป็นละเมิดหรือไม่ เมื่อการพิจารณาว่าการกระทำตามมาตรา ๑๖ นั้น เป็นละเมิดหรือไม่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม การพิจารณาความรับผิดผู้ที่กระทำละเมิดตามมาตรา ๑๗ จึงต้องได้รับการพิจารณาโดยศาลเดียวกัน ดังนั้นการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ในการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายได้บัญญัติยกเว้นอำนาจของศาลปกครองในการควบคุมตรวจสอบไว้ ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๙/๒๕๕๘
วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เด็กชายเจริญฤทธิ์ ศิลาพันธ์ โดยนางน้อย ศิลาพันธ์ ผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ ๑ นางน้อย ศิลาพันธ์ ที่ ๒ โจทก์ ยื่นฟ้องกระทรวงการคลัง ที่ ๑ กระทรวงกลาโหม ที่ ๒ กองทัพบก ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๖๓๒/๒๕๕๔ ความว่า เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๓ มีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ต่อมาวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตาม มาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ พิเศษ ๑/๒๕๕๓ เรื่องการจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้นเพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ ต่อมาวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ ในการกำกับดูแลรับผิดชอบและโดยการสั่งการบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีผู้บัญชาการทหารบก รองเสนาธิการทหารบกใช้ความรุนแรง และอาวุธสงครามเข้ากระชับพื้นที่หรือสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณแยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียงเป็นเหตุให้ นายประจวบ ศิลาพันธ์ บิดาโจทก์ ที่ ๑ และเป็นสามีโจทก์ที่ ๒ ซึ่งเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ถูกยิงจนเสียชีวิต ทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ และมาตรา ๑๗ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจาก ศอฉ. เป็นหน่วยงานพิเศษที่จัดตั้งขึ้นเฉพาะกิจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นส่วนราชการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำทั้งปวงที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน จำเลยทั้งสามปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ภายใต้คำสั่งของนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ปฏิบัติหน้าที่ตามราชการปกติ จำเลยทั้งสามซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดเดิมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์และไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญาตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๑๗ นายกรัฐมนตรีและผู้ที่ได้รับมอบหมาย ศอฉ. ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องได้ออกประกาศคำสั่งและข้อกำหนดต่าง ๆ โดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำทางละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ และของหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ฟ้องโจทก์ทั้งสองจะเป็นเรื่องที่ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ที่เกิดจากการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณสี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียงตามคำสั่งของ ศอฉ. ในขณะที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่ามีสิทธิที่จะเรียกร้องความเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ภายใต้มาตรา ๑๑ และมาตรา ๑๗ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ แต่เนื่องจาก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๑๖ บัญญัติว่า “ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง” ดังนั้น กรณีไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำใด ๆ ตามพระราชกำหนดนี้ ย่อมไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมาย ว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองทั้งสิ้น สำหรับการกระทำตามฟ้องก็ถือว่าเป็น “การกระทำตามพระราชกำหนดนี้” ตามความในมาตรา ๑๖ ด้วย จึงไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ มาตรา ๑๖ บัญญัติว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง และมาตรา ๑๗ บัญญัติว่า พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้อง ค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ แม้ในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวจะบัญญัติให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองก็ตาม แต่มาตรา ๑๗ ไม่ได้มีการบัญญัติถ้อยคำกำหนดขอบเขตการใช้บังคับว่าต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๑๖ ด้วย ย่อมแสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวยังคงเคารพและให้ความสำคัญต่อหลักการปกป้องคุ้มครองสิทธิของบุคคลอยู่เสมอ กรณีไม่อาจแปลความไปถึงขนาดที่ว่าการกระทำใดๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นความรับผิดของรัฐนั้น บุคคลผู้เสียหายจะต้องถูกปฏิเสธไม่ให้ได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิโดยถูกตัดสิทธิหรือห้ามมิให้ฟ้องเป็นคดีต่อศาลปกครอง มาตรา ๑๗ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว จึงได้รับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้ได้รับความเสียหายเอาไว้ อันได้แก่กฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหมายถึงการใช้สิทธิทางศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อันเป็นหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลในเรื่องความรับผิดของรัฐที่รับรองไว้อย่างชัดแจ้ง โดยมาตรา ๖๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้องคดีนี้ เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่านายกรัฐมนตรีได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง และมีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่พิเศษ ๑/๒๕๕๓ ลงวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นหน่วยงานพิเศษ ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี ผู้ได้รับมอบหมายเป็นผู้อำนวยการ และผู้บัญชาการทหารบกเป็นรองผู้อำนวยการ ต่อมา (ศอฉ.) ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าสลายการชุมนุม จนเป็นเหตุให้ นายประจวบ ศิลาพันธ์ บิดาโจทก์ ที่ ๑ และเป็นสามีโจทก์ที่ ๒ ซึ่งเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ถูกยิงเสียชีวิต จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองฟ้องว่าได้รับความเสียหาย จากนายกรัฐมนตรีในการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ และได้รับความเสียหายจากการกระทำของรองนายกรัฐมนตรีผู้ได้รับมอบหมาย ผู้บัญชาการทหารบก และศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทหาร และเรียกร้องค่าเสียหาย จากราชการ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้องคดีนี้ ประกอบกับมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุพิพาท มาตรา ๒๑๘ บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวงเว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กร ตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ดังนั้นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ หากกฎหมายบัญญัติไม่ให้อยู่ในอำนาจของศาล ปกครองหรือศาลอื่น คดีนั้นย่อมอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๘ เมื่อคดีนี้ โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับ จำเลยทั้งสามรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดจากการเข้ากระชับพื้นที่หรือสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณสี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียงตามคำสั่งของ ศอฉ. เป็นเหตุให้ นายประจวบ ศิลาพันธ์ บิดาโจทก์ ที่ ๑ และเป็นสามีโจทก์ที่ ๒ ซึ่งเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช. ถูกยิงจนเสียชีวิต ในขณะที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งมาตรา ๑๖ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง อันเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งไม่ให้ศาลปกครองมีอำนาจในการควบคุมตรวจสอบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง และการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ส่วนมาตรา ๑๗ เป็นบทบัญญัติในเรื่องการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกกระทำละเมิด ซึ่งจะได้รับการเยียวยาหรือไม่จะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าการกระทำนั้นเป็นละเมิดหรือไม่ ถ้าเป็นการกระทำละเมิดจึงจะได้รับการเยียวยา แต่ตอนที่จะพิจารณาการกระทำว่าเป็นละเมิดหรือไม่ เมื่อการพิจารณาว่าการกระทำตามมาตรา ๑๖ นั้น เป็นละเมิดหรือไม่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม การพิจารณาความรับผิดผู้ที่กระทำละเมิดตามมาตรา ๑๗ จึงต้องได้รับการพิจารณาโดยศาลเดียวกัน ดังนั้นการที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ในการสลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายได้บัญญัติยกเว้นอำนาจของศาลปกครองในการควบคุมตรวจสอบไว้ ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๘
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง เด็กชายเจริญฤทธิ์ ศิลาพันธ์ โดยนางน้อย ศิลาพันธ์ ผู้แทนโดยชอบธรรม ที่ ๑ นางน้อย ศิลาพันธ์ ที่ ๒ โจทก์ กระทรวงการคลัง ที่ ๑ กระทรวงกลาโหม ที่ ๒ กองทัพบก ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ