คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10212-10215/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญารับจ้างออกแบบและควบคุมการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่ที่มีข้อตกลงกำหนดให้ในกรณีที่มีข้อเรียกร้อง ข้อพิพาทหรือเรื่องอื่นใดที่เป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาซึ่งไม่สามารถยุติโดยการเจรจานั้นให้ได้รับการชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการ เป็นสัญญาที่มีลักษณะเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งต้องเสนอข้อพิพาทที่เป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาต่ออนุญาโตตุลาการก่อนนำคดีขึ้นสู่ศาลตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 11 เมื่อการวินิจฉัยในปัญหาระหว่างคู่สัญญาว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิทำซ้ำ ดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ และจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญา โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่จึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงของสัญญาเรื่องการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ โจทก์ทั้งสี่จึงต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีต่อศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนย่อมขัดต่อ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 14 โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

คดีทั้งสี่สำนวน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยทั้งสี่สำนวนขอให้บังคับโดยห้ามจำเลยทั้งสี่นำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ไปทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนไม่ว่าทางใด ให้จำเลยทั้งสี่ระงับการก่อสร้างที่กระทำอยู่และจะทำต่อไปในอนาคต ห้ามจำเลยทั้งสี่บิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ให้เกิดความเสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของโจทก์ทั้งสี่ และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ในอัตราเดือนละ 16,500,000 บาท โจทก์ที่ 2 ในอัตราเดือนละ 5,200,000 บาท โจทก์ที่ 3 ในอัตราเดือนละ 3,400,000 บาท และโจทก์ที่ 4 ในอัตราเดือนละ 4,600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะยุติการกระทำอันเป็นละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่สำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา จำเลยทั้งสี่แถลงขอให้ศาลจำหน่ายคดีเนื่องจากข้อพิพาทตามฟ้องมีข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีโดยไม่ได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนตามสัญญา จึงฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 โจทก์ทั้งสี่แถลงคัดค้านว่ามูลเหตุของคดีเป็นเรื่องละเมิด มิใช่ผิดสัญญา โจทก์ทั้งสี่สามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเพื่อให้โจทก์ทั้งสี่ไปเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ
โจทก์ทั้งสี่สำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพิพากษาว่า ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่ตามเอกสารท้ายคำร้องของจำเลยทั้งสี่ลงวันที่ 19 มีนาคม 2551 ซึ่งเรียกว่า สัญญาบริการทางวิชาชีพและสัญญาบริการออกแบบทางวิชาชีพลงวันที่ 25 มิถุนายน 2546 ข้อ 11.1 แปลได้ความว่า “ในกรณีที่มีข้อเรียกร้อง ข้อพิพาท หรือเรื่องอื่นใดที่เป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาซึ่งไม่สามารถยุติโดยการเจรจานั้น ให้ได้รับการชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการ…” ดังนี้ ข้อสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่ดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 ที่บัญญัติว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการ หมายถึง สัญญาที่คู่สัญญาตกลงให้ระงับข้อพิพาทไม่ว่าจะเกิดจากนิติสัมพันธ์ทางสัญญาหรือไม่ โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ แม้สภาพแห่งข้อหาตามที่โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องจะอ้างเหตุมูลละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานสถาปัตยกรรมของโจทก์ทั้งสี่โดยจำเลยทั้งสี่นำงานออกแบบอาคารและสิ่งปลูกสร้างไปทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนและมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่ชำระค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ แต่ก็ปรากฏจากคำให้การของจำเลยทั้งสี่ต่อสู้คดีอ้างว่า ไม่ได้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่เนื่องจากสัญญาระบุว่าโจทก์ทั้งสี่โอนและอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ใช้ลิขสิทธิ์ในงานออกแบบอาคารและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสี่ในการก่อสร้างแล้ว ดังนั้น ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าว เมื่อข้อตกลงตามที่ระบุไว้ในข้อ 11.1 ของสัญญาจ้างกำหนดเรื่องการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการไว้ และไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนี้เป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ โจทก์ทั้งสี่ต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีต่อศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทซึ่งเป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาต่ออนุญาโตตุลาการก่อน จึงเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์ทั้งสี่นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งจำหน่ายคดีโดยไม่ได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share