แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวซึ่งยังไม่ถึงที่สุด เมื่อปรากฏตามคำร้องของโจทก์ร่วมว่าไม่ประสงค์จะดำเนินคดีอาญากับจำเลย โดยโจทก์และจำเลยไม่คัดค้าน ตามรูปคดีแสดงว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายประสงค์ที่จะถอนคำร้องทุกข์นั่นเอง แต่โจทก์ร่วมใช้ข้อความผิดไปเป็นถอนฟ้อง เนื่องจากคดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ส่วนผู้เสียหายเป็นเพียงโจทก์ร่วมเช่นนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
(คำสั่งศาลฎีกา)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 เป็นความผิดหลายกรรมเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 2 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง โจทก์จำเลยไม่คัดค้าน
ศาลฎีกาเห็นว่า “คดีนี้เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว และยังไม่ถึงที่สุดเมื่อปรากฏตามคำร้องของโจทก์ร่วมไม่ประสงค์จะดำเนินคดีอาญากับจำเลยโดยโจทก์และจำเลยไม่คัดค้าน ตามรูปคดีแสดงว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายประสงค์ที่จะถอนคำร้องทุกข์นั่นเอง แต่โจทก์ร่วมใช้ข้อความผิดไปเป็นถอนฟ้องเนื่องจากคดีนี้ พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ส่วนผู้เสียหายเป็นเพียงโจทก์ร่วมเช่นนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องแย้งย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ”